ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- นักวิทยาศาสตร์เริ่มสำรวจวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพียงไม่นานมานี้ หลังจากได้พบกิ้งก่าชนิดใหม่ 16 ชนิดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเขาสูง เขาหินปูน หรือตามเกาะต่างๆ และกิ้งก่าชนิดล่าสุดที่พบ คือ กิ้งก่า Cnemaspis psychedelica จากเกาะแห่งหนึ่งใน 92 เกาะในบริเวณอ่าวแหร็กหยา (Rach Gia) ในเขตทะเลอ่าวไทยของ จ.เกียนซยาง (Kien Giang) ในภาคใต้ของเวียดนาม
กิ้งก่าชนิดใหม่ในสายพันธุ์ psychedelica หมายถึงพวกที่มีสีอย่างเป็นลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร สำหรับสร้างความเข้าใจผิดๆ (Aposemetism) ทั้งสีเหลืองเขียว ฟ้าเทา ลายเส้นสีดำ และแถบสีส้มเหลือง นายเควนติน วีเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการสำรวจนานาพันธุ์แห่งมหาวิทยลัยอริโซนา เขียนเรื่องนี้เอาไว้ในหนังสือพิมพ์ “เดอะการ์เดียน” ในประเทศอังกฤษ ฉบับวันอาทิตย์ 14 ส.ค.2554
ก่อนหน้านี้ จนถึงปี 2550 มีการค้นพบกิ้งก่าชนิดใหม่เพียงชนิดเดียวในเวียดนาม แต่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกิ้งก่าชนิดใหม่ถึง 7 ชนิด รวมทั้ง 1 ชนิดที่พบในเกาะบอร์เนียว อีก 1 ชนิดในกัมพูชา กับอีก 11 ชนิดจากคาบสมุทรมาเลเซีย รวมแล้วมีกิ้งก่าอย่างน้อย 14 ชนิด ที่พบใหม่ในย่านเอเชีย กำลังจะได้รับการตั้งชื่อ
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่ากิ้งก่าชนิดใหม่ที่พบอยู่ตามภูมิประเทศที่เป็นหินและป่าล้วนมีสีไม่ซ้ำกันซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นการใช้สีสำหรับป้องกันตัวเอง และตราบเท่าที่ยังไม่มีการลงพื้นที่สำรวจรายละเอียดทุกอย่างที่ทำได้ก็เป็นเพียงคาดเดา แต่ก็ตัดประเด็นการระบุเพศออกไปได้ เพราะไม่ว่าจะเพศผู้หรือเพศเมียต่างมีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายกัน
คาดว่า กิ้งก่าเหล่านี้ใช้สีสันฉูดฉาดเพื่อสร้างความรู้สึกว่าให้บรรดานักล่ามีอันตรายและไม่น่ากิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันตัวจากบรรดานักล่ามากกว่าใช้เพื่อพรางตัวเพราะกิ้งก่าเหล่านี้พบเห็นได้ง่าย นายวีลเลอร์ กล่าว
ตามรายงานของสื่่อทางการ หลายปีมานี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าหลายชนิด ซึ่งล้วนมีสีสันหรือลวดลายต่างกันไป บางชนิดหน้าตาราวสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว
เรียกว่า “กิ้งก่า” แต่แท้จริงแล้วนักวิทยาศาสตร์จัดให้พวกมันอยู่ในสายพันธุ์เดียวกับตุ๊กแก Cnemaspis ซึ่งแตกออกเป็นอีกหลายชนิด