นำเสนอครั้งแรกเวลา 14:27 น. วันที่ 7 ส.ค.2554 แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาและรูปประกอบเวลา 18:20 น. วันที่ 27 ส.ค.2554
ASTVผู้จัดการออนไลน์ — เวียดนามเพิ่งได้รับเรือรบติดขีปนาวุธทันสมัยอีกลำหนึ่งลำหนึ่งในสัปดาห์ปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นเรือฟรีเกตลำที่ 2 ที่สั่งซื้อจากรัสเซีย และเป็นความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการพัฒนากองทัพ ซึ่งในปีนี้กำลังจะได้รับเรือตรวจการณ์ทันสมัยอีก 4 ลำ และ ปีหน้าจะได้รับมอบเรือลำน้ำลำแรกจากทั้งหมด 6 ลำ กับเครื่องบินรบทันสมัยอีกอย่างน้อย 20 ลำ
ทั้งหมดนี้อยู่ในแผนการพัฒนากองทัพประชาชนให้ทันสมัยทั้งทัพบก ทัพเรือและทัพอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ ตามที่ พล.อ.ฝุ่งกวาแทง (Phung Quang Thanh) รัฐมนตรีกลาโหมให้สัมภาษณ์สัปดาห์ที่แล้ว
ตามรายงานในเว็บไซต์ zdship.ru ในรัสเซีย เรือโงเกวียนไปถึงเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.2554 โดยแสดงรูปภาพประกอบลำเรือที่ยังไม่ได้ทาสีหรือตกแต่งใดๆ จอดที่ท่าเทียบเรือแห่งหนึ่ง โดยระบุว่าอยู่ในเขตฐานทัพเรือกามแรง หรือ "คัมรานห์" ในเวียดนาม (Cam Ranh) ซึ่งยังไม่เคยมีรายงานเรื่องนี้ในสื่อของทางการ
"หลังจากทดสอบมาตรฐานทั้งการทดสอบยิงระบบอาวุธและการปฏิบัติการต่างๆ จนประสบความสำเร็จ เรือโงเกวียนก็ถูกนำขึ้นบรรทุกในยานลำเลียงขนส่งอีไอดีอีทรานสปอร์เตอร์ในวันที่ 25 พ.ค.2554 และ ในวันที่ 26 พ.ค. ก็ส่งไปยังเวียดนาม" เว็บไซต์แห่งเดียวกันระบุ
ยานโดยเรือลำเลียง EIDE Transporter ออกจากอู่ต่อเรือซีเลโนโดลสก์ นครเซ็นปีเตอร์สเบิร์ก และ นำเรือฟรีเกตลำที่สองส่งถึงเวียดนามก่อนกำหนดที่คาดเอาไว้ภายใน 65 วัน
เรือชั้นเกพาร์ดลำที่ 2 นี้ มีการปรับปรุงในหลายเนื้อหาและขอบเขต สะดวกสบายและง่ายกว่าลำแรกทั้งด้านการใช้งานและการซ่อมบำรุง อู้ต่อเรือแห่งนี้ได้ทำให้เป็นเรือตัวอย่างของชั้นนี้ประจำปี 2554 เว็บไซต์แห่งเดียวกันกล่าว
วันที่ 23 มิ.ค.2554 เวียดนามได้รับเรือ “ดีงเตียนหว่าง” (Dinh Tien Hoang) เป็นลำแรก ทั้งสองลำเป็นเรือฟรีเกตชั้นเกพาร์ด 3.9 ต่อในปี 2549 ห่างกัน 4 เดือนเศษ สร้างขึ้นภายใต้โปรเจ็คท์ดียวกันกับลอตที่จำหน่ายให้สาธารณรัฐเช็ค เพื่อใช้งานในหลายภารกิจ รวมทั้งเป็นเรือคุ้มกันและเพื่อภารลาดตระเวนน่านน้ำ
เรือรบชั้นนี้มีระวาง 1,930 ตันเท่ากันเมื่อบรรทุกเต็มพิกัด ความยาว 102 เมตร และ ความเร็วสูงสุด 23 นอต ติดขีปนาวุธต่อสู้เรือผิวน้ำและเรือดำน้ำแบบอูราน-อี (Uran-E) ที่มีชื่อเสียง ติดปืนกล AK-176 ขนาด 76.2 มม. 1 กระบอก กับปืน AK-630M ขนาด 30 มม. อีก 2 กระบอก ตอร์ปิโด 533 มม. กับระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศแบบปาลมา (Palma)
ส่วนท้ายของเรือยังมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ สำหรับ ฮ.แบบ Ka-28 (ที่มีใช้ในกองทัพเวียดนาม) หรือ Ka-31 ที่พัฒนาขึ้นมาเป็น ฮ.ปราบเรือดำน้ำ
กองทัพเวียดนามกำลังจะได้รับเรือตรวจการณ์ชั้นสเวตลายัค (Svetlayak-class) อีก 4 ลำ
ตามรายงานในเว็บไซต์ อาร์มส์เทรด (Armstrade) ปัจจุบันเวียดนามมีเรือตรวจการณ์ชั้นนี้ประจำการอยู่ 2 ลำ ต่อจากอู่อัลมาซ (Almaz) นครเซ็นปีเตอร์สเบิร์ก บรรทุกลูกเรือจำนวน 28 คน เป็นรุ่นติดปืนกล AK-306 ขนาด 30 มม. กับขีปนาวุธ 1M Igla ป้องกันทางอากาศ ราคาลำละ 10-15 ล้านดอลลาร์ทั้งสองลำส่งมอบวันที่ 1 พ.ค.2546
.
2
อู่ต่อเรือแห่งเดียวกันนี้เริ่มต่อเรือชั้นสเวตลายัคให้เวียดนามอีก 2 ลำ ตั้งแต่ปี 2552 กับอีก 2 ลำต่อในอู่วอสโตชนายา (Vostochnaya) ในเมืองวลาดิวอสตอก ทางภาคตะวันออกไกลริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก กำหนดส่งมอบพร้อมกันในปีนี้
เวียดนามมีความสนใจจะซื้อเรือชั้นนี้จากรัสเซียระหว่าง 10-12 ลำ เว็บไซต์แห่งเดียวกันกล่าว
ตามรายงานโดยสื่อในรัสเซีย กองทัพอากาศเวียดนามยังจะได้รับเครื่องบินรบ Su-30MK2V อย่างน้อย 20 ลำในปีหน้านี้ แต่รัฐมนตรีกลาโหมเวียดนามไม่ได้พูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยังไม่มีผู้ใดยืนยันเกี่ยวกับจำนวนแท้จริงได้
เท่าที่มีการเปิดเผยจากผู้เกี่ยวข้อง เวียดนามเซ็นซื้อ Su-30MK2V มา 3 ครั้ง ครั้งแรก 4 ลำ ในปี 2546 ซึ่งใช้การอยู่ในปัจจุบัน ครั้งที่ 2 จำนวน 8 ลำ เซ็นซื้อต้นปี 2553 อีก 12 ลำ ซื้อในกลางปีเดียวกัน แต่เวียดนามยังไม่เคยยืนยันเกี่ยวกับจำนวนเครื่องบินรบเช่นกรณีเรือดำน้ำ
อย่างไรก็ตามสำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์ในกรุงมอสโกรายงานในเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว อ้างการเปิดเผยของผู้อำนวยการใหญ่บริษัทสร้างเครื่องบินทั้งมิโกยันและซูคอย ซึ่งระบุว่าเวียดนามสั่งซื้อ Su-30MK2V ทั้งหมด 32 ลำ ในลอตเดียวกับกองทัพอากาศประเทศมอรอกโกซึ่งสั่งซื้อ 16 ลำ
ขณะ เดียวกันกองทัพเรือเวียดนามกำลังจะได้รับเรือดำน้ำชั้นคิโล (Kilo-Class) แบบ 636 (Type 636) ลำแรกในปีหน้า
รัฐมนตรีกลาโหมฝุ่งกวางแทงกล่าวในวันพุธ 4 ส.ค.ว่า อีก 5-6 ปี เวียดนามจะมี กองกำลังเรือดำน้ำที่ทันสมัย รัสเซียจะเริ่มส่งมอบเรือดำน้ำให้ตามกำหนด และจะทยอยส่งปีละ 1 ลำ จากทั้งหมด 6 ลำ พร้อมสร้างอู่จอดซ่อมบำรุงและระบบต่างๆ เพื่อรองรับ
นั้นคือไม่กี่ปีข้างหน้าเวียดนามจะมีกองเรือดำน้ำที่ใหญ่โต และทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขี้ยวเล็บใหม่ในทะเลจีนใต้
3
4
5
6
7
ในเดือน ก.ย.2552 อินโดนีเซียได้ประกาศแผนการจัดซื้อซื้อเรือลำน้ำจำนวน 12 ลำ และ สื่อของรัสเซียรายงานว่ารัสเซียได้เจรจาขายแบบ 636 ให้จำนวน 2 ลำ มูลค่า 700 ล้านดอลลาร์
ตามรายงานในเว็บไซต์กลาโหม เรือดำน้ำแบบ 636 ออกแบบสำหรับสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ (Anti-submarine warfare) และ สงครามต่อต้านเรือรบผิวน้ำ (Anti-surface-ship warfare) และเพื่อภารกิจลาดตระเวนทั่วไป
เป็นเรือที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล-ไฟฟ้า รัศมีปฏิบัติการ 7,500 ไมล์ (กว่า 12,000 กม.) ความเร็วใต้น้ำสูงสุด 20 นอต ดำได้ลึกสุด 300 เมตร ติดขีปนาวุธต้านเรือใต้น้ำและผิวน้ำ กับระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ
เวียดนามมีเรือดำน้ำขนาดเล็กที่ซื้อจากยูโกสลาเวียในอดีต จำนวน 2 ลำ ใช้มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ปัจจุบันใช้เป็นเรือฝึก
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเรือดำน้ำใช้งาน เป็นเรือใช้แล้วซื้อจากเยอรมนี ปีที่แล้วประกาศแผนจัดซื้อทั้งหมด 12 ลำ รวมทั้งชั้น 636 สองลำที่กำลังเจรจากับรัสเซีย
ปีที่แล้วเช่นกัน มาเลเซียได้นำเข้าประจำการเรือลำน้ำชั้นสกอร์ปีน (Scorpene) ลำแรก โดยซื้อจากฝรั่งเศสทั้งหมด 2 ลำ
สิงคโปร์กำลังเจรจาซื้อเรือดำน้ำใช้แล้วจากสวีเดนจำนวน 2 ลำ เป็นชั้นวาสเตอร์ก็อตลานด์ (Vastergotland) แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสิงคโปร์บอกกับ "ASTVผู้จัดการออนไลน์" เดือน ก.ย.ปีที่แล้วว่า รัฐบาลกำลังเจรจาซื้อเรือใช้แล้วจากบริษัทคอกคูมแห่งสวีเดนอีก 2 ลำ รวมเป็น 4 ลำในแผนการ
ส่วนราชนาวีไทยเคยมีรายงานว่า ได้หมายตาเรือดำน้ำใช้แล้วของจีนจำนวน 2 ลำ.
เพิ่มศักยภาพป้องกันประเทศ
8
รมว.กลาโหมเวียดนามซึ่งได้รับคะแนนโหวตจากผู้แทนราษฎรจากทั่วประเทศถึง 97.6% เมื่อรัฐสภาลงมติรับรองคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันที่ 3 ส.ค. ให้สัมภาษณ์ว่าการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้อยู่ในแผนระยะยาวของการพัฒนากองทัพประชาชนให้ทันสมัย ตามนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ออกมาระหว่างประชุมใหญ่ครั้งที่ 11 ในเดือน ม.ค.ปีนี้
เวียดนามกำลังพัฒนากองทัพเพื่อป้องกันประเทศอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นการข่มขู่คุกคามประเทศอื่นใดในภูมิภาค นอกจากนั้นหลายประเทศในภูมิภาคก็กำลังดำเนินการเช่นกัน และเป็นไปตามกำลังและขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งไม่ใช่การแข่งขันกันด้านอาวุธ
ทั้งหมดนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์กวนโดยเญินซเวิน (Quan Doi Nhan Dan) หรือ "กองทัพประชาชน" ของกระทรวงกลาโหม
เวียดนามซึ่งมีชายฝั่งทะเลเหนือจรดใต้ยาวกว่า 3,000 กม. ยังต้องการเรือรบอีกจำนวนมาก และพร้อมๆ กับเซ็นซื้อเรือตรวจการณ์ชั้นสเวตลายัค หรือ Type 1042.2 เวียดนามยังเจรจาซื้อสิทธิบัตรจากรัสเซีย เพื่อต่อเรือชั้นนี้ไว้ใช้เองด้วย เช่นเดียวกับเรือฟรีเกตชั้นเกพาร์ด
เรือสเวตลายัคสามารถติดปืน AK-176 ได้เช่นเดียวกับเรือฟรีเกตเกพาร์ด และ ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันสมัย รวมทั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมด้วย ทั้งนี้เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวการทหาร
สำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์รายงานก่อนหน้านี้ว่า เวียดนามยังเจรจาขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อผลิตขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานและต่อสู้เรือผิวน้ำอีกอย่างน้อย 2 รุ่น ซึ่งปัจจุบันอินเดียผลิตอาวุธเหล่านี้ใช้เองเช่นกัน
ในสัปดาห์กลางเดือน มิ.ย. ขณะที่การเผชิญหน้ากับจีนยังคุกรุ่น กองทัพประชาชนเวียดนามได้นำผู้สื่อข่าวเข้าชมระบบขีปนาวุธ S-300PMU1 ที่ได้รับการยอมรับว่าทันสมัยที่สุดในโลกอีกระบบหนึ่งของรัสเซีย ในการต่อต้านการโจมตีทั้งจากทางอากาศ ทางเรือและบนบก ทั้งจากระยะไกลหลายร้อย กม.และ ระยะใกล้
อย่างไรก็ตาม พล.อ.แทงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กรณีพิพาทใน “ทะเลตะวันออก” ถือเป็นภารกิจ "ด้านการเมือง" ของกองทัพ ซึ่งเวียดนามกับจีนและกลุ่มอาเซียนได้ตกลงกันจะแก้ปัญหาอย่างสันติ
เวียดนามกับจีนจะมีการเจรจาแก้ปัญหาระหว่างสองฝ่าย แต่เนื่องจากแผนที่ที่ฝ่ายจีนกำหนดขึ้นมาเองนั้นส่งผลกระทบหลายฝ่าย เวียดนามจึงสนับสนุนให้มีการเจรจาหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้
สำหรับบทบาทของสหรัฐฯ ต่อกรณีพิพาททะเลจีนใต้ สหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นจะวางตัวเป็นกลาง แต่ทุกฝ่ายยอมรับว่าสหรัฐฯ มีสิทธิ์ที่จะปกป้องเส้นทางเดินเรือเสรีในทะเลแห่งนี้ รมว.กลาโหมเวียดนามกล่าว.