ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ฮุน มะนา (Hun Mana) ธิดาคนโตของ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน ได้นำคณะไปเยี่ยมเยือนครอบครัวทหารบนเขาพระวิหาร ในสัปดาห์นี้ และในภาพที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวของทางการ อาจจะเป็นครั้งแรกที่เปิดเผยให้เห็นชาวเขมรจำนวนมากที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบๆ ปราสาท อันเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างกัมพูชากับไทย
สมาชิกครอบครัวทหารเหล่านี้ ยังจะอยู่ที่นั่นต่อไป หลังจากศาลระหว่างประเทศในกรุงเฮก มีคำสั่งให้ทั้งกัมพูชาและไทย ถอนทหารออกจากทั่วอาณาบริเวณ ที่ได้กลายเป็นเขตปลอดทหารชั่วคราว อันเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อคุ้มครองปกป้องปราสาทมรดกโลก ตามที่รัฐบาลกัมพูชาร้องขอ
“คุณหญิงฮุนมะนา” ซึ่่งเป็นบุตรีคนแรก และเป็นลูกคนที่สองของครอบครัวผู้นำไปที่นั่น เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2554 เพื่อเยี่ยมเยือนครอบครัวทหารที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหาร ในฐานะประธานมูลนิธิโทรทัศน์บายน และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ชื่อเดียวกัน สำนักข่าวกัมพูชา กล่าว
ผู้อำนวยการโทรทัศน์บายน มีบทบาทสำคัญช่วยเหลืองานของบิดาตลอด โทรทัศน์แห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลตลอดมาเช่นเดียวกับสื่อในเครืออื่นๆ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาเขมรกัมพูเจียทะไม (Kampuchea Thmay) หรือ “กัมพูชาใหม่” อีกด้วย
ภาพที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวของรัฐบาล ยังเปิดเผยให้เห็นบุตรีคนสุดท้องของครอบครัวผู้นำ คือ ฮุนมมาลี (Hun Maly) โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระแวดระวังอยู่เบื้องหลัง ร่วมไปในคณะครั้งนี้ยังรวมทั้ง พล.อ.กุนกิม (Kun Kim) รองผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชาอีกคนหนึ่งด้วย
ฮุนมะนา เคยขึ้นเขาพระวิหารครั้งหนึ่งในเดือน ส.ค.2552 เมื่อท่านผู้หญิงดอกเตอร์ ซึ่งเป็น “กิติพฤติบัณฑิต” คนล่าสุดของประเทศ นำคณะขึ้นเขาทำพิธีทางศาสนากับพิธีบวงสรวงเจ้าที่เจ้าที่ทางให้คุ้มครองปราสาทอายุ 900 ปี ในขณะที่ความตึงเครียดกับไทยกับการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสองฝ่ายกำลังพุ่งขึ้นสูงเข้าใกล้จุดเดือด
ก่อนหน้านั้น ในปี 2551 มูลนิธิโทรทัศน์บายนได้ออกทุนช่วยก่อสร้างถนนสายหนึ่งจาก อ.อันลองแวง (Anlong Veng) จ.อุดรมีชัย ตัดตรงไปยัง อ.ตะเปียงปราสาท จ.พระวิหาร และ ตัดขึ้นไปยังเขาพระวิหาร ตามในโยบายของบิดา อันเป็นเส้นทางลำเลียงที่ที่ขึ้นสู่ปราสาทที่ใช้มาจนถึงขณะนี้ รวมเป็นระยะทางกว่า 80 กม.
มูลนิธิโทรทัศน์บายน ยังเป็นหน่วยงานนำหน้าในการระดมความช่วยเหลือส่งไปให้ทหารในแนวหน้า ที่ชายแดนด้านปราสาทรพระวิหาร และ การประกาศให้พื้นที่โดยรอบเป็นเขตปลอดทหาร ทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ ทางฝั่งกัมพูชาเป็นไปได้โดยสะดวกกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา