ASTVผู้จัดการออนไลน์ – เรือพิฆาตของสหรัฐที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน มีขนาดใกล้เคียงกัน สมรรถนะเดียวกันและติดเขี้ยวเล็บเหมือนกันทุกประการจำนวน 2 ลำ กำลังจะแล่นเข้าน่านน้ำเวียดนามในวันศุกร์ 15 ก.ค.นี้ ในกำหนดเวลาที่เหมาะเจาะและเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ในขณะที่การพันตูระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในทะเลจีนใต้กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งสองลำเป็นเรือพิฆาตชั้นอาร์ลีห์เบิร์ค (Arleigh Burke-Class) ในจำนวนกว่า 40 ลำ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งได้ชื่อเป็นเรือรบทันสมัยที่สุด มีพิษสงมากที่สุดและมีความเหมือนกันเกือบจะทุกอย่าง หากไม่เห็นหมายเลขของเรือ ไม่ประดับธงของตัวเอง ก็อาจจะแยกแยะออกจากกันได้ลำบาก
ในปี 2552 เรือรบหนึ่งในสองลำที่กำลังจะเข้าเวียดนามวันศุกร์นี้ ยังเคยขับเคี่ยวกับฝ่ายจีนในทะเลจีนใต้มาก่อน การเดินทางเยือนครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยสัญลักษณ์อันสำคัญ
การแล่นเข้าน่านน้ำเวียดนามยังมีขึ้นขณะเจ้าหน้าที่จีนเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในสัปดาห์นี้ว่า จีนอาจจะปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่เพิ่งจะต่อและก่อสร้างแล้วเสร็จ ลงน้ำเพื่อทดลองแล่นในปลายเดือน ก.ค.นี้ หรือในเดือนถัดไป หรือไม่ก็อาจจะเป็นช่วงปลายปี
รหัสร้อน DDG-93
การแวะเยือนเวียดนามกับการฝึกซ้อม กำลังจะมีขึ้นในเกือบจะทันทีหลัง พล.ร.อ.ไมค์ มัลเลน (Mike Mullen) ประธานคณะเสนาธิการร่วม กองทัพสหรัฐสิ้นสุดการเยือนสันถวไมตรีจีน ซึ่งฝ่ายเจ้าภาพได้จัดให้ชมศักยภาพทางการทหารในยุคใหม่ของจีนด้วย นับเป็นเหตุการณ์ที่มีไม่บ่อยครั้งเช่นกัน
เรือพิฆาตชุงฮูน (USS Chung-Hoon DDG-93) กับเรือพิฆาตเพรเบิล (USS Preble DDG-88) กำลังจะเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือเตี่ยนซา (Tien Sa) นครด่าหนัง ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่มีเรือพิฆาตของสหรัฐฯ เยือนเวียดนามพร้อมกันถึง 2 ลำ และกำหนดการนี้ได้เปลี่ยนไปจากที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามแถลงครั้งแรกต้นสัปดาห์ที่แล้ว
เยือนกระชับมิตร US NAVY Photo
.
นางเหวียนเฟืองงา (Nguyen Phuong Nga) กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงฮานอยอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 7 ก.ค. และมีการพูดถึงเรือพิฆาตเพรเบิลอีกลำหนึ่ง กับเรือเซฟการ์ด (USNS Safeguard) เรือพลเรือนที่สามารถใช้ได้ในภารกิจที่หลากหลายอีกลำหนึ่ง
เรือเซฟการ์ดเป็นเรืออเนกประสงค์ใช้ได้ในหลายภารกิจ รวมทั้งสามารถลากจูงเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่โตได้ เคยมีการพูดติดตลกว่า เรือลำนี้เป็นพลเรือน 100% ไม่ติดอาวุธใดๆ กระทั่งมีดสเตกในครัวก็ยังเป็นพลาสติก
ทั้งหมดนี้ต้องถือเป็นการพัฒนาอีกขั้นหนึ่งในความสัมพันธ์ด้านการทหารระหว่างเวียดนามกับสหรัฐฯ หลังจากเรือพิฆาตจอห์น เอส แม็คเคน (USS John S McCain DDG-56) ไปแวะเยือนเวียดนามเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว พร้อมกับเรือบรรทุกเครื่องบินจอร์จ วอชิงตัน
แม้จะเป็นการเยือนแลกเปลี่ยนประจำปีตามความตกลงระหว่างสองฝ่าย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ร่วมมือระหว่างกันและกำลังจะมีการฝึกซ้อมเช่นปีที่แล้ว แต่ปีนี้การฝึกซ้อมร่วมที่กระทำในหลากหลายภารกิจยิ่งขึ้น รวมทั้งด้านมนุษยธรรม การค้นหาและกู้ภัย และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ด้วย
บนเรือ USS John S McCain by VNExpress ส.ค. 2553
นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาของฝ่ายเวียดนาม รวมทั้งสื่อของทางการได้รับเชิญได้ขึ้นไปบนเรือรบทั้งสองลำของสหรัฐฯ และ ได้รับอนุญาตให้ซักซักถามตลอดจนถ่ายทำทั้งภาพนิ่งและภาพวิดีโอได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน
สำหรับครั้งนี้ แม้จะไม่ใช่การ “ซ้อมรบ” ตามที่หลายฝ่ายเข้าคาดเคลื่อนมาก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่ก็มีความหมายมากพอในความร่วมมือทางการทหารระหว่างอดีตศัตรูคู่สงคราม เวียดนาม-สหรัฐฯ
เขี้ยวเล็บน่าเกรงขาม
ตามข้อมูลเปิดเผย เรือพิฆาตชั้นอาร์ลีห์เบิร์คขนาด 7,000 ตัน (ผันแปรระหว่าง 7,000-9,000 ตัน) หุ้มเกราะรอบตัวด้วยวัสดุเคฟลาร์ (Kevlar) ติดขีปนาวุธโทมาฮอว์ค (Tomahawk) ลำละ 56 ลูก ติดระบบป้องกันอีจิส (Aegis) ระบบเรดาร์ที่ทันสมัยพร้อมระบบต่อต้านเรดาร์ของฝ่ายตรงข้าม และ ใช้เทคโนโลยี “สเตลท์”
เรือยังติดตั้งระบบปืนฟาร์ลังซ์ (Phalanx) ระบบตอร์ปิโดล้ำหน้าที่สุด ติดตั้งจรวดนำวิถีฮาร์พูน (Harpoon) ติดตั้งระบบต่อต้านเรือดำน้ำ ระบบป้องกันทางอากาศ และพิเศษสุดเห็นจะเป็นระบบขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธ SM-3 1A ที่ล็อคฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิต โอ้อวดว่าต่อกรกับขีปนาวุธโจมตีพิสัยกลางได้สบายๆ
หมายความว่าขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ของข้าศึก จะถูกทำลายลงในพริบตาเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ก่อนจะไปถึงเป้าหมายในสหรัฐฯ และ ขีปนาวุธทำลายของข้าศึกที่ยิงหมายทำลาย ไม่ว่าจะยิงจากเรือหรือจากบนบกจะถูกยิงสกัดให้มลายไปในพริบตา ก่อนถึงลูกเรือเกือบ 300 คน บนเรือพิฆาต
ภาพรวมของเรือพิฆาตชั้นอาร์ลีห์เบิร์คก็คือ การเป็นป้อมปืนกับฐานยิงขีปนาวุธลอยน้ำอันน่าเกรงขาม รวมอยู่ในข่ายการป้องกันประเทศอันแน่นหนาของสหรัฐฯ ทั้งในแปซิฟิกในและมหาสมุทรแอตแลนติก
ขีปนาวุธโทมาฮอว์คซึ่งนำวิถีผ่านดาวเทียม เคยแสดงอานุภาพให้ชาวโลกได้ประจักษ์ในช่วงสงครามอิรัก ซึ่งสหรัฐฯ ใช้เพื่อโจมตีทำลายข่ายป้องกันของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน
.
.
ยิงจากเรือรบที่ลอยลำอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย “ร่อน” ไปในระดับต่ำเหนือผิวน้ำ และ ร่อนขึ้นไปตามแนวสูงชันของเนินเขาบนบก ก่อนลดระดับลงในเขตทุ่งราบและทะเลทราย พุ่งไปข้างหน้าไปข้างหน้าไม่หยุดยั้งด้วยความเร็วที่สั่งการได้ และ ทำลายเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปนับร้อยกิโลเมตรอย่างแม่นยำ
ชาวโลกได้เห็นการนำวิถีให้ “จรวดร่อน” โทมาฮอว์ค แล่นเข้าสู่อาคารเป้าหมายทางหน้าต่าง หรือ ปักหัวลงเหนืออาคารเข้าไปตามช่องทางจากชั้นดาดฟ้า ทั้งนี้เพื่อทำลายเป้าหมายจากภายใน อันเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งในช่วงปีโน้น
นอกจากนั้นยังมีการสาธิตเกี่ยวกับความสามารถของจรวดโทมาฮอว์คผ่านโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับระบบอาวุธในยุคใหม่ที่ใช้งานได้จริงในยามรบ ถึงแม้อิรักจะเป็นเป้าหมายที่เกือบจะปราศจากการต่อต้านหรือมีการต่อต้านน้อยที่สุดก็ตาม
ในภาพรวมแล้ว เรือพิฆาตชั้นอาร์ลีห์เบิร์ค ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อทำยุทธนาวีเท่านั้น หากเป็นฐานยิงอาวุธที่สามารถโมตีเป้าหมายบนบกในระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ได้ต้องใช้อากาศยานอีกด้วย
ด้วยระบบอาวุธที่มีอยู่ เรือ DDG-93 และ DDG-88 สามารถทำให้นครใหญ่สักแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไป 200-300 กม.แหลกเป็นจุลได้ภายในไม่กี่นาทีเท่านั้น
ภารกิจขุนศึก-นักการทูต
อย่างไรก็ตามการเดินทางเข้าเวียดนามไม่ใช่เพื่อภารกิจโจมตีใครหรือฝ่ายใด แต่หากเป็นการเยือนที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ดังที่กล่าวมาแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งลำแรก
แม้จะสังกัดกองเรือในแปซิฟิก แต่รหัส DDG-93 ต่างไปจากเรือรบลำอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ถูกรวมเข้ากับกองเรือพิฆาตและกองเรือบรรทุกเครื่องบิน กองใดกองหนึ่งของกองทัพเรือที่ 7 เรือ USS ชุงฮูน จอดประจำที่ฐานทัพเรืออ่าวเพิร์ล มลรัฐฮาวาย เพื่อปฏิบัติภารกิจเฉพาะ ไม่ได้ประจำที่ฐานทัพเรือโยโกสุกะ ญี่ปุ่นหรือที่อื่นใด
ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2554 เป็นต้นมา เรือชุงฮูนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “พิทักษ์เส้นทางเดินเรือเสรี” ในแปซิฟิกตะวันตกซึ่งหมายถึงทะเลจีนใต้ โดยมีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์กองทัพเรือสหรัฐฯ และหนังสือพิมพ์ในฟิลิปปินส์รายงานการให้สัมภาษณ์ของผู้บังคับการเรือลำนี้
นักการทหารในฮ่องกงมองว่า สหรัฐฯ ใช้เรือชุงฮูนในภารกิจทางการทูตด้านกลาโหม (Military Diplomacy) เป็นนักการทูตพร้อมกับเป็นนักรบในขณะเดียวกัน การปรากฏตัวของเรือชุงฮูนไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม ย่อมหมายถึงการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐ กับผลประโยชน์ของสหรัฐ
.
.
เรือชุงฮูนเข้าทอดสมอที่ฐานทัพเรือชางงีในสิงคโปร์เมื่อเดือนที่แล้ว ไม่กี่วันก่อนเรือตรวจการณ์ลำใหญ่ที่สุดของจีนจะแวะเข้าจอดในบริเวณใกล้เคียงกัน ในขณะที่เรือรบลำอื่นๆ ของสหรัฐฯ เริ่มฝึกซ้อมกับเรือรบชาติพันธมิตรภายใต้รหัส SEACAT โดยใช้สิงคโปร์เป็นศูนย์อำนวยการ
ภารกิจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ หากเกิดจากการข่าวที่ถูกต้อง และการคาดหมายล่วงหน้าอันแม่นยำ แหล่งข่าวทางการทหารในฟิลิปปินส์บอกกับสื่อในประเทศนั้นว่า เรือชุงฮูนถูกส่งไปประกบเรือจีน เพื่อต่อต้านการดักฟังและการจารกรรมของฝ่ายนั้น
เรือพิฆาตชุงฮูนเคยพันตูกับเรือจีนมาก่อนหน้านี้แล้ว 2 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ครั้งแรกในเดือน ก.ย.2549 โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ต้อนรับขับสู้เรือพิฆาตชิงเตา (Qingtao) ของกองทัพเรือจีน ที่ไปเยือน “บ้าน” ฐานทัพเพิร์ลฮาร์เบอร์ และลูกเรือของเรือรบทั้งสองลำได้ขึ้นเยี่ยมชมเรือของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างใกล้ชิด
กิจกรรมอันน่าพิศวงนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและยังคงเป็นเพียงครั้งเดียวระหว่างจีนและสหรัฐฯ ตั้งแต่นั้นมา และ ถือเป็นภารกิจทางการทูตแรกสุดที่เจ้าของรหัส DDG-93 ได้รับมอบหมาย
"อุบัติการในทะเลจีนใต้"
ในเดือน มี.ค.2552 เรือชุงฮูนตกเป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ชั้นนำในสหรัฐฯ เมื่อได้รับคำสั่งให้แล่นไปยังทะเลจีนใต้เพื่อพิทักษ์ปกป้องเรืออิมเพ็คคาเบิล (USNS Impeccable) ซึ่งเป็นเรือตรวจการและสอดแนมที่ไม่ติดอาวุธ
วันที่ 5 มี.ค.2552 เรืออิมเพคคาเบิลกำลังปฏิบัติการติดตามความเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นภารกิจปรกติ ได้เผชิญหน้ากับเรือฟริเกต เครื่องบินตรวจการณ์ รวมทั้งเรือลากจูงของกองทัพเรือจีน กลายเป็นเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ เรียกว่า "อุบัติการณ์ในทะเลจีนใต้"
จสใข้อมูลของฝ่ายสหรัฐฯ เรือรบจีนแล่นตัดหน้าเรืออิมเพคคาเบิลหลายครั้งในระยะห่างเพียงประมาณ 100-300 เมตร เพื่อบังคับให้ เรือสหรัฐฯ หยุดทันที และเครื่องบินตรวจการณ์แบบ Y-12 บินฉวัดเฉวียนสูงจากน้ำเพียง 170 เมตร และห่างจากเรือสหรัฐฯ เพียง 80-90 เมตร
วันที่ 7 มี.ค. เรือสอดแนมกองทัพเรือจีนลำหนึ่งได้ติดต่อเรืออิมเพคคาเบิลทางวิทยุ แจ้งให้ทราบว่าฝ่ายสหรัฐฯ กำลังปฏิบัติการอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำของจีน จะต้องออกจากบริเวณดังกล่าวไม่เช่นนั้นก็จะต้อง "เผชิญกับผลลัพธ์ที่จะติดตามมา"
ขณะเดียวกันลูกเรือลากจูงที่ติดธงกองทัพเรือของจีนได้ใช้ตะขอเกี่ยวส่วนโซนาร์บนเรืออิมเพ็คคาเบิล และพยายามใช้เชือกลากไปตามทิศทางเข้าสู่ชายฝั่งทั้งนี้เป็นข้อมูลของฝ่ายสหรัฐฯ
.
.
วันที่ 8 มี.ค. หลังพันตูกันมา 4 วัน เรืออิมเพ็คคาเบิลอยู่ห่างจากเกาะไหหลำเพียง 75 ไมล์ทะเล (138 กม.) และได้แจ้งความตั้งใจที่จะแล่นออกไปจากอาณาบริเวณดังกล่าว และขอให้เปิดทาง แต่เรือลากจูงของจีนยังพยายามที่จะลากเรือสหรัฐฯ เข้าฝั่ง และใช้เรือเล็กแล่นตัดหน้าทุกครั้งที่เรืออิมเพ็คคาเบิลจะแล่นออกไป ทำให้ต้องหยุดลงทุกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการชนปะทะ
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการ โดยอ้างสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะแล่นเรือ "ในน่านน้ำที่อยู่นอกเขตน่านน้ำของอีกประเทศหนึ่งโดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตล่วงหน้า" โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่าปฏิบัติการของเรือจีนละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ละเมิดต่อสิทธิของฝ่ายอื่นที่จะใช้มหาสมุทรโดยปลอดภัย โฆษกคนเดียวกันยังกล่าหวาว่า เรือรบจีนแสดงพฤติกรรมข่มขู่เรือของสหรัฐฯ หลายครั้ง ซึ่งฝ่ายจีนปฏิเสธ
การโต้แย้งดำเนินติดต่อมาจนถึงวันที่ 12 มี.ค. หรือ 1 สัปดาห์เต็ม ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้สั่งให้เรือพิฆาตติดจรวดร่อนชุงฮูนไปยังทะเลจีนใต้เพื่อพิทักษ์เรืออิมเพคคาเบิล ขณะปฏิบัติงานที่นั่น และเวลาต่อมาได้นำเรือดังกล่าวออกจากทะเลจีนใต้ไปโดยปลอดภัย
ผู้นำสหรัฐฯ ได้สั่งการให้มีการปรับปรุงระบบการติดต่อสื่อสารกับจีนใหม่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้อีก
.
.
จีนกล่าวอ้างเป็นเจ้าของน่านน้ำราว 80% ของทะเลจีนใต้ที่มีเนื้อที่ทั้งหมดราว 1.7 ล้านตารางกิโลเมตร แต่สหรัฐฯ ถือว่าทะเลหลวงอันกว้างใหญ่เป็นเส้นทางเดินเรือเสรีของนานาชาติ แต่จีนกล่าวว่าไม่มีปัญหาถ้าหากเรือทั่วไปจะแล่นผ่านน่านน้ำแห่งนี้ "อย่างความบริสุทธิ์" แต่ปฏิบัติการของเรือสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม
ทั้งหมดได้กลายเป็นรอยด่างในความสัมพันธ์ และสองฝ่ายได้ใช้เวลานานข้ามปีปีในการเยียวยาให้กลับคืนเป็นปรกติ
ช่วง 2 ปีมานี้ เรือชุงฮูนยังคงมีบทบาทอย่างสูงในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับทะเลจีนใต้ ในเดือน ก.ค.2550 เข้าร่วมกองทัพเรือฟิลิปปินส์ณรงค์กวาดล้าง กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในย่านทะเลซูลู
ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.ปีนี้ ก็ได้รับหมายหน้าที่ เป็นเรือสนับสนุนการฝึกซ้อม KARAT กับฟิลิปปินส์ที่จัดขึ้นประจำทุกปีในทะเลซูลู เกาะปาลาวัน ใกล้กับหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ เกาะพิพาทที่จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซียและจีนไต้หวัน ต่างกล่าวอ้างสิทธิ์
รหัส DDG-88 แอ็กชั่น! US NAVY Photo พฤศจิกายน 2553
.
สำหรับเรือพิฆาตเพรเบิล ค่อนข้างจะหน้าใหม่ในทะเลจีนใต้ ประจำที่ฐานทัพเรือซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย และ เป็นเรือนำของกองเรือพิฆาตที่ 7 ในเดิอน ก.พ.ปีนี้ได้รับมอบภารกิจเข้าสังกัดกองเรือบรรทุกเครื่องบินโรนัลด์ เรแกน ปฏิบัติการในน่านน้ำซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของกองทัพเรือที่ 5 และกองทัพเรือที่ 7 งานใหญ่แรกสุดเลยก็คือ การเข้ากู้ภัยช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นสึนามิในญี่ปุ่นเดือน มี.ค.
สัปดาห์ที่แล้วเรือรหัสเลขแฝด DDG-88 ได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมกับเรือรบของบรูไนในน่านน้ำทางตอนใต้ของเกาะสแปร็ตลีย์ที่จีนกล่าวอ้างเป็นเจ้าของ ซึ่งมีเรือพิฆาตของญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรก
การฝึกซ้อมทางทหารดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่ พล.อ.เฉินปิ่งเต๋อ (Chen Bingte) ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนจีน ได้กล่าวตำหนิต่อหน้า พล.ร.อ.มัลเลน ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกันในกรุงปักกิ่งในวันจันทร์ 11 ก.ค.ศกนี้
ทุกอย่างจึงเต็มไปด้วยสัญลักษณ์.