รอยเตอร์ - กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวหาเมื่อวันพุธ (23 มิ.ย.) ว่า ลาวยังคงเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนที่เป็นประเด็นขัดแย้งมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ต่อไป แม้จะมีข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน ระงับการก่อสร้างก็ตาม
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน อินเตอร์เนชันแนลริเวอร์ระบุว่า รัฐบาลลาวได้มอบให้บริษัทช.การช่าง ของไทย ก่อสร้างเขื่อนไซยะบูลีต่อ และได้แจ้งบริษัทว่ากระบวนการขั้นตอนการตัดสินใจของคณะกรรมการแม่น้ำโขง หรือ MRC ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว
"รัฐบาลลาวได้กระทำผิดอย่างมหันต์ต่อความไว้วางใจและกลายเป็นประเทศคดโกง" เอมี่ ทรันเด็ม (Ame Trandem) นักรณรงค์ขององค์กรอินเตอร์เนชันแนลริเวรอ์ กล่าวในคำแถลง
ด้วยความทะเยอทะยานที่จะส่งออกไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อให้ได้รับการขนานนามเป็น "แบตเตอรี่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าโครงการเขื่อนไซยะบูลี ที่เป็นหนึ่งในเขื่อนใหม่ 11 แห่งตามที่ลาววางแผนไว้นั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมนับไม่ถ้วน และยังจุดชนวนวิกฤตความมั่นคงด้านอาหารในประเทศที่อยู่ตามกระแสน้ำ ทั้งไทย เวียดนามและกัมพูชา
ประเทศลุ่มน้ำโขงมีความผูกพันตามสนธิสัญญาที่จะจัดการหารือระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศก่อนการสร้างเขื่อน
หลังถูกกดดันจากนักสิ่งแวดล้อมและประเทศเพื่อนบ้านอยู่หลายเดือน ในวันที่ 19 เม.ย. ลาวได้เห็นชอบที่จะเลื่อนโครงการไปจนกว่าจะมีการประชุมรัฐมนตรีของทั้ง 4 ประเทศที่เกี่ยวข้อง ที่คาดว่าจะมีขึ้นในปลายปี
อย่างไรก็ตาม องค์กรอินเตอร์เนชันแนลริเวอร์ ได้แจกจ่ายจดหมายที่รั่วไหลไปยังสื่อวานนี้ โดยจดหมายดังกล่าวระบุลงวันที่ 8 มิ.ย. ส่งโดยกระทรวงพลังงานลาวให้กับบริษัทไซยะบูลีเพาเวอร์ ข้อความว่ากระบวนการขั้นตอนปรึกษาได้เสร็จสิ้นลงแล้ว
มูลค่าหุ้นของ ช.การช่าง ซึ่่งถือหุ้นใหญ่ 57% ในโครงการเขื่อนไซยะบูลี เพิ่มขึ้น 4% ในวันจันทร์หลังจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งถือหุ้นด้วย 12.5% กล่าวว่าลาวอาจจะไม่ล่าช้าในโครงการก่อสร้างเขื่อน
.
.
อย่างไรก็ตาม บริษัท ช.การช่างปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น เช่นเดียวกับทางการลาวที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเช่นกัน
นักนิเวศวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านแม่น้ำได้วิพากษ์วิจารณ์การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการเมื่อปี 2553 โดยรัฐบาลลาว และเตือนว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 60 ล้านคนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมีความเสี่ยง หากเขื่อนเดินหน้าก่อสร้างโดยไม่ประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปลาหลายชนิดต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ จำนวนปลาจะลดลงหากเส้นทางอพยพย้ายถิ่นถูกปิดกั้น และพื้นที่ปลูกข้าวจะถูกตัดขาดจากตะกอนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่ไหลไปตามกระแสน้ำ
ลาวมุ่งมั่นที่จะจัดหาพลังงานไฟฟ้า 7,000 เมกะวัตต์ให้แก่ไทย อีก 5,000 เมกะวัตต์ สำหรับเวียดนาม และ 1,500 เมกะวัตต์เพื่อกัมพูชาภายในปี 2558
กระทรวงพลังงานระบุว่า ลาวมีศักยภาพที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแม่น้ำโขงได้ถึง 28,000 เมกะวัตต์
นายวัด บุตรกุศล (Watt Botkosal) รองเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชา แสดงความผิดหวังและกล่าวว่า ลาวได้สัญญาที่จะดำเนินการศึกษาข้ามพรมแดนในระหว่างการประชุมระดับภูมิภาคที่กรุงจาการ์ตาเมื่อเดือ นพ.ค. ที่ผ่านมา
"การศึกษาผลกระทบยังไม่สมบูรณ์ เหตุใดจึงมีการตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นและเรายังไม่ได้รับรายงานการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น" เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าว.
.