ASTVผู้จัดการออนไลน์ — กัมพูชากำลังพยายามผลักดันให้ทีมสังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้าชายแดนให้ได้ในสัปดาห์หน้านี้ หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ไทยและ กัมพูชา เห็นพ้องให้จัดประชุมทวิภาคีคณะกรรมการชายแดนทั้ง 2 ชุด ก่อนให้ทีมสังเกตการณ์ หรือ IOT (Indonesia Observers Team) เข้าชายแดน โดยฝ่ายไทยไม่เรียกร้องให้เขมรต้องถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทอีกต่อไป
แต่ในขณะเดียวกัน นายรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน ยังคงยืนยันจุดยืนว่า การเจรจาชายแดนพระวิหารต้อง “สามฝ่าย” เท่านั้น
“ระหว่างการประชุมสามฝ่าย (ในจาการ์ตา) ฝ่ายไทยไม่ได้หยิบยกเงื่อนไขล่วงหน้าที่ให้กัมพูชาต้องถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรอีก ก่อนจะรับทีมสังเกตการณ์เข้าไป” สำนักข่าวทางการรายงานในวันอังคาร 10 พ.ค.นี้ อ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศ นายฮอร์ นัมฮง
กัมพูชากำลังกดดันอย่างหนักทางการทูต เพื่อให้รัฐบาลไทยผ่านร่างข้อกำหนด (Terms of Reference) ในการประชุมวันอังคาร 10 พ.ค.นี้ เพื่อเร่งตารางเวลา ให้ทีมจากอินโดนีเซียเข้าพื้นที่สัปดาห์หน้า
“รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะผลักดันให้รัฐบาลของตนรับรองแผนแก้ไขปัญหารวม (Package Solution) โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นายฮอร์ นัมฮง กล่าว และ ยังเปิดเผยด้วยว่าได้เรียกร้องให้ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศของไทย ผลักดันให้ คณะรัฐมนตรีการรับรอง TOR ในการประชุมวันอังคารที่ 10 พ.ค.นี้ด้วย
เนื้อหาทั้งหมดรวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “แผนแก้ไขปัญหารวม” หรือ Package Solution ที่รัฐมนตรีต่างประเทศสามฝ่ายตกลงกันได้ในการประชุมวันจันทร์ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาในกรุงจาการ์ตา สำนักข่าวของทางการกล่าว
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างของนายฮอง ยังคงขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ ที่ยืนยันท่าทีเดิมว่า กัมพูชาจะต้องถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทก่อนที่ทีมสังเกตการณ์จะเข้าไปทำหน้าที่ได้
“ทันทีที่รัฐบาลไทยรับรอง TOR เพื่อส่งทีมสังเกตการณ์อินโดนีเซีย หรือ IOT เข้าพื้นที่ ก็จะต้องประกาศกำหนดการประชุมคณะกรรมการชายแดนร่วมและคณะกรรมการชายแดนทั่วไปของสองฝ่ายในทันที” และ ภายใน 5 วันหลังจากไทยส่ง TOR ที่รับรองแล้วให้รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย อินโดนีเซียจะส่ง IOT เข้าพื้นที่พิพาท ขณะที่การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั้งสองขณะจะดำเนินคู่กันไป นายฮอง บอกกับสำนักข่าวแห่งชาติ
นับต่อไปอีก 5 วัน หรือ 10 วันหลังจากไทยส่ง TOR ให้อินโดนีเซีย ฝ่ายนั้นก็จะส่งทีมสังเกตการณ์ชุดเต็มเข้าประจำตามจุดพิพาทต่างๆ ครบทั้งหมด ขณะเดียวกัน ก็จะมีการประกาศผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปและคณะกรรมการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชา
อย่างไรก็ตาม ขณะที่กัมพูชายอมรับกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาสองฝ่ายกับไทยในกรณีพิพาทชายแดนจุดอื่นๆ รวมทั้งด้านปราสาทตาเมือนกับปราสาทตาควาย สำหรับชายแดนปราสาทพระวิหาร นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน ยังยืนยันที่จะต้องมีอินโดนีเซียเข้าร่วมด้วย
กัมพูชาได้เปลี่ยนท่าทีไปพอสมควรในการกลับคืนสู่การเจรจาสองฝ่ายกับไทยอีกครั้งหนึ่งในปัญหาชายแดน หลังจากที่เคยประกาศย้ำมาหลายครั้ง ว่า การประชุมเจรจากับไทยในทุกๆ เรื่องยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการค้า จะต้องมีฝ่ายที่สามเข้าร่วมด้วยเสมอ
ยังไม่มีการยืนยันจากฝ้ายไทยในขณะนี้เกี่ยวกับการลดข้อเรียกร้องให้กัมพูชาถอนทหารออกจากเขต 4.6 ตร.กม.ก่อนทีมสังเกตการณ์จากอินโดนีเซียจะเข้าพื้นที่ชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร ซึ่งไทยได้สงวนสิทธิ์และกล่าวอ้างความเป็นเจ้าของมานานเกือบครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ศาลโลกตัดสินให้ยกปราสาทเก่าแก่ตกเป็นของกัมพูชา
ทหารไทยได้เข้าไปตั้งมั่นที่บริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ใกล้กับปราสาทพระวิหารมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.2551 นายอภิสิทธิ์เพิ่งยอมให้ถอนทหารออกขากพื้นที่ดังกล่าวในปลายปี 2553
การประชุมสามฝ่ายของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ไทย และกัมพูชา ที่นำมาสู่การตกลงรับ Package Solution นี้ มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีอินโดนีเซีย สุสิโล บัมบัง ยุทโธโยโน จัดประชุมสามผู้นำขึ้นในวันที่ 8 พ.ค.นอกรอบการการประชุมผู้นำอาเซียน ในกรุงจาการ์ตาอินโดนีเซียทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มอาเซียนในปีนี้ และกำลังจะครบวาระลงในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า