xs
xsm
sm
md
lg

ทิ้งฝิ่นปลูกยางพารา ปัญหาเรื่องดินเรื่องน้ำติดตามมาในลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> ภาพแฟ้มเดือนก.พ. 2549 ดอกฝิ่นบานเต็มแปลงปลูกบนพื้นที่ป่าของแขวงผ่งสาลี ทางเหนือของลาว ทางการลาวและสหประชาชาติรณรงค์ปราบปรามพื้นที่ปลูกฝิ่นในปี 2545 ส่งผลให้พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงเหลือเพียง 9,000 ไร่ และชาวบ้านเปลี่ยนจากการปลูกฝิ่นหันไปปลูกต้นยางส่งจีนสร้างรายได้ทดแทน. --AFP PHOTO/HO/United Nations on Drugs and Crime. </font></b>

เอเอฟพี - ดอกฝิ่นที่ครั้งหนึ่งเคยบานทั่วพื้นที่รอบหมู่บ้านหาดยาว แถบภูเขาสูงทางเหนือของลาว และยังเป็นพืชเกษตรสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น แต่ในวันนี้ถูกแทนที่ด้วยต้นยางที่ให้ผลผลิตเป็นน้ำยางสีขาวราวกับน้ำนม

แต่ในบางหมู่บ้านของประเทศที่ยากจนแห่งนี้ กลับพบว่า เป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเอง จึงหันกลับไปปลูกฝิ่นตามเดิม ทำให้ความพยายามของทางการที่จะปราบปรามและยุติการปลูกฝิ่นต้องถดถอยลงไปอีก

“ฝิ่นเป็นวัฒนธรรมของพื้นที่แถบนี้ไปเสียแล้ว และยังเป็นตลาดสำคัญ ลาวควรปกป้องสิทธิของตัวเองในการปลูกฝิ่น อย่างน้อยก็เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยา” นายโดมินิค ฟาน เดอ บอร์ ตัวแทนประจำพื้นที่ขององค์กรการกุศลอ็อกแฟมเบลเยียม กล่าว และว่า การกำจัดพื้นที่ปลูกฝิ่นส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น

“ครอบครัวที่ร่ำรวยจากการปลูกฝิ่นย้ายออกจากพื้นที่ และวัฒนธรรมทอผ้าก็หายไป” นายฟาน เดอ บอร์ กล่าว
<br><FONT color=#000033> หญิงชาวเขาเผ่าอาข่ากำลังง่วนอยู่กับการทำไม้กวาดจากพันธุ์ไม้ป่าในหมู่บ้านบ้านน้ำมัดเขา แขวงหลวงน้ำทา ทางเหนือของลาว ชาวเขาหลายเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางเหนือของลาวเลิกปลูกฝิ่นหันมาทำเกษตรอย่างอื่นตามนโยบายปราบปรามพื้นที่ปลูกฝิ่นของรัฐ. --AFP PHOTO/HO/United Nations on Drugs and Crime.</font></b>
นายฟาน เดอ บอร์ ระบุว่า เขามีความเชื่อว่าประเทศผู้บริจาคโดยเฉพาะสหรัฐฯ ผลักดันให้รัฐบาลลาวเดินตามแนวทางดังกล่าว แต่โครงการส่วนใหญ่ที่กระตุ้นให้ประชาชนเปลี่ยนจากการปลูกฝิ่นไปเป็นพืชชนิดอื่นๆ นั้นไม่ประสบความสำเร็จ แต่โครงการรณรงค์กำจัดฝิ่นที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2545 โดยเจ้าหน้าที่ชาวลาวและสหประชาชาติ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า พื้นที่ปลูกฝิ่นทั้งหมด 162,000 ไร่ ในช่วงปี 2541 ที่มีการปลูกมากที่สุด ลดลงเหลือเพียง 9,000 ไร่ ในปี 2550

“การกำจัดพื้นที่ปลูกฝิ่นประสบสำเร็จเร็วกว่ารายได้ที่ชาวบ้านได้รับตอบแทน” นายเอเดรียน ชูห์เบค ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาจากหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี ประจำจังหวัดหลวงน้ำทา กล่าว

ขณะที่การผลิตฝิ่นลดลงอย่างต่อเนื่องแต่ชาวบ้านจำนวนมากต้องประสบกับความยากลำบากในการปรับตัว

นายเล็ก บุนวาด (Leik Boonwaat) ผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ของลาว กล่าวว่า ความขาดแคลนการให้ความช่วยเหลือการพัฒนาทางเลือกต่อบรรดาเกษตรกรที่เคยปลูกฝิ่นส่งผลให้ชาวบ้านตัดสินใจกลับไปปลูกฝิ่นอีกครั้ง นอกจากนั้น สหประชาชาติยังมีความเห็นว่า ความยากจน การขาดรายได้เสริม รวมทั้งมูลค่าของยาเสพติดที่มีราคาสูงและความไม่เข้มงวดในการควบคุม ส่งผลให้หลายชุมชนกลับไปปลูกฝิ่น ทำให้พื้นที่ปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในระหว่างปี 2550-2553 เป็นจำนวน 18,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม ลาวมีพื้นที่ผลิตฝิ่นคิดเป็นเพียง 2% ของการผลิตทั่วโลก ขณะที่อัฟกานิสถานมีส่วนแบ่งการผลิตมากถึง 70% และพม่า 20%
<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มวันที่ 4 ก.พ. 2549 ทุ่งดอกฝิ่นบนพื้นที่ป่าของแขวงผ่งสาลี ทางเหนือของลาว บางหมู่บ้านเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการปลูกฝิ่นมาทำเกษตรชนิดอื่นทดแทน แต่ขาดความข่วยเหลือ รวมทั้งความยากจนและการควบคุมที่ไม่เข้มงวดทำให้ชาวบ้านกลับไปปลูกฝิ่นเช่นเดิมเพราะค่าตอบแทนสูงกว่า. --AFP PHOTO/HO/United Nations on Drugs and Crime. </font></b>
แม้ว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งจะหันกลับไปปลูกฝิ่น แต่ยังมีคนอีกกลุ่มที่การปลูกยางนำชีวิตใหม่มาสู่พวกเขา ดังเช่น ชาวม้ง 1,500 คน ในชุมชนหาดยาวที่ในช่วงกลางทศวรรษ 90 ชาวม้งเหล่านี้ดำเนินตามนโยบายกำจัดพื้นที่ปลูกฝิ่น และเดินทางไปจีนเพื่อเรียนรู้วิธีการปลูกยาง ต่อมาในปี 2545 หลังจากต้นยางโตเต็มที่ พวกเขาเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำยางจากต้นยาง เพื่อนำไปทำเป็นยางแผ่น ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรมของจีน

“ก่อนปี 2537 หลายครอบครัวปลูกฝิ่น และหลายคนก็ติดฝิ่น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ” นายหว่าซุย รองหัวหน้าหมู่บ้านที่สามารถเก็บน้ำยางได้ถึง 5 ตัน ในปี 2553 กล่าว

“หลังจากเราเริ่มส่งยางไปจีน ชีวิตของพวกเราดีขึ้น เรามีเงินฝากธนาคาร มีรถบรรทุกคันใหญ่และมีรถจักรยานยนต์ และยังสามารถส่งลูกๆ ของพวกเราไปเรียนหนังสือและสร้างบ้านจากอิฐด้วย” นายหว่าซุย กล่าว

หมู่บ้านอื่นๆ เริ่มดำเนินรอยตามด้วยการปลูกต้นยางเป็นจำนวนมาก แต่หลายแห่งก็ไม่ประสบความสำเร็จได้ในระดับเดียวกับหมู่บ้านแรก

หลังปลูกต้นยาง เกษตรกรต้องรอนาน 7 ปี ถึงจะสามารถเก็บน้ำยางได้ ระหว่างนั้นหมู่บ้านก็จนลงและเกษตรกรบางรายถูกบังคับให้สละที่ดินของตัวเองให้กับบริษัทต่างชาติ และทำงานเป็นคนกรีดยางแทน

ชูห์เบ็ค กล่าวว่า การปลูกยางพบว่ามีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การขาดแคลนน้ำ การพังทลายของดิน และการใช้ยาฆ่าแมลงและผลิตภัณฑ์เคมีอื่นๆ ดังเช่น หมู่บ้านน้ำดี ที่อยู่ใกล้เคียง ผลกระทบเหล่านี้ปรากฏให้เห็นแล้ว

หัวหน้าหมู่บ้านบ้านน้ำดีอายุ 60 ปี กล่าวว่า ชาวบ้านมีเงินเก็บ แต่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำต่ำมากเป็นผลกระทบจากการปลูกยาง แต่ย้ำว่าหมู่บ้านของเขาไม่เหมือนหมู่บ้านอื่น คือไม่มีแผนที่จะกลับไปปลูกฝิ่นอีกและจำเป็นที่จะต้องปลูกยางต่อไป เพราะทำเกษตรอย่างอื่นไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น