xs
xsm
sm
md
lg

ไปดูคลิป ชาวบ้านเขมรปะทะ ต้านบริษัทน้ำตาลอิทธิพลไล่ที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



พนมเปญ (รอยเตอร์)-- ราษฎรเกือบ 1,000 คน รวมตัวกันในวันศุกร์ที่ผ่านมา ต่อต้านเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าบริษัทโรงงานน้ำตาลของวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครัฐบาล นายหลียงฟัด (Ly Yong Phat) หรือ พัด สุภาพา จนถึงขั้นมีการปะทะ

ราษฎรเหล่านี้กล่าวว่า บริษัทน้ำตาลร่วมกับทางการจังหวัด กำลังขับไล่พวกเขาออกที่ดิน ที่ทำกินมาหลายชั่วคน

นับเป็นความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินอีกครั้งหนึ่ง ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในกัมพูชา ประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งในโลก

การชุมนุมประท้วงใน จ.กัมปงสะปือ (Kampong Speu) ห่างจากกรุงพนมเปญราว 48 กม. มีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากราษฎรเหล่านี้เผาที่พักชั่วคราว ในที่ดินของพวกเขาที่ได้กลายเป็นไร่อ้อยของบริษัทน้ำตาลพนมเปญ (Phnom Penh Sugar Co) ของวุฒิสมาชิก นักธุรกิจใหญ่เชื้อสายจีน ที่มีความใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน

เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา บริษัทของพัด สุภาพา ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับ กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น จากไทยและบริษัทจากไต้หวันอีก 1 แห่ง เพื่อก่อสร้างโรงงานน้ำตาลใน จ.เกาะกง ที่เกี่ยวข้องกับการสัมปทานที่ดินนับแสนไร่

บริษัทของวุฒิสมาชิกที่ทรงอิทธิพลนี้ ได้รับสัมปทานพื้นที่ 9,500 เฮกตาร์ (เกือบ 60,000 ไร่) ใน จ.กัมปงสะปือ สำหรับปลูกอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาล ผู้นำชาวบ้านกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประท้วงมีแผนที่จะบุกเข้าไปเผาสำนักงานของบริษัทน้ำตาลพนมเปญซึ่งอยู่ในที่เดียวกัน แต่ๆด้เลิกล้มแผนการเสียห่อน

นายสุ่นเต็ง (Sun Teng) ชาวบ้านคนหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่า เขาเองทำกินในผืนดินที่ถูกเวนคืนมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่บริษัทจ่ายค่าชดเชยให้เพียงน้อยนิดตก 100 หรือ 200 ดอลลาร์ต่อเฮกตาร์เท่านั้น ขณะนี้ยังโดนข้อหาเผาเพิงพักชั่วคราวของบริษัทอีก

"ชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการชดเชย แต่บริษัทบอกว่า ถ้าหากไม่รับเงินที่เสนอให้ก็จะไม่ได้อะไรเลย ทำให้ทุกคนพากันโกรธแค้น" นายเต็งกล่าว ทั้งยืนยันว่าจะประท้วงกันต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาที่ดิกว่านี้

ชาวบ้านอีกคนหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่า บริษัทของวุฒิสมาชิกที่ทรงอิทธิพล "ดูหมิ่น" ราษฎรในพื้นที่มากเกินไป คนเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรกับเงินชดเชยเพียง 200 ดอลลาร์สำหรับที่ดิน 1 เฮกตาร์ (6.25 ไร่)

**การให้สัมปทานอันใหญ่โต**

กัมพูชาพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยการให้สัมปทานระยะยาวแก่บริษัทจากจีน เวียดนามและเกาหลี ไม่ว่าโครงการเหมือง เขื่อนผลิตไฟฟ้าหรือการปลูกพืชเศรษฐกิจ

ปัจจุบันกัมพูชายังคงพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศในการพัฒนาและขยายการเกษตร เหมืองแร่ และแขนงพลังงาน เพื่อสร้างงาน เพิ่มขยายการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตเช่น ข้าว ยางพาราและน้ำตาล

อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และประเทศผู้ให้บริจาคแก่กัมพูชา เรียกว่า การขับไล่ราษฎรออกจากที่ทำกินเพื่อยึดครองที่ดิน หรือนำที่ดินไปให้แก่ทุนต่างชาติ

เจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่งยังใช้อำนาจอิทธิพลบีบบังคับให้ชาวบ้านขายหรือให้เช่าที่ดิน เพื่อนำไปให้นักลงทุนต่างประเทศเช่าต่ออีกทอดหนึ่ง

วันพุธ (18 มี.ค.) ที่ผ่านมา ราษฎรกัมพูชาซึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อยใน จ.รัตนคีรี (Ratanakiri) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการให้สัมปทานที่ดินของพวกเขาแก่นักลงทุนต่างชาติ

ปัญหานี้ได้สร้างความเสี่ยงแก่ผู้ที่เข้าลงทุนในกัมพูชา ประเทศที่ยังมีการคอร์รัปชั่นครอบงำอยู่ทุกระดับ ขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับการเช่าหรือซื้อที่ดิน บ่อยครั้งมีอำนาจอิทธิพลของนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง โดยไม่ได้ผ่านช่องทางดำเนินการอย่างถูกต้อง

"ก่อนให้สัมปทาน รัฐบาลควรจะศึกษาผลกระทบ ที่จะมีต่อชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ให้ดีเสียก่อน" เจ้าหน้าที่องค์การพิทักษ์สิทธิมนุษยชนลิคาโด (Licadho) กล่าว

แต่นายกังเฮียง (Kang Heang) ผู้ว่าราชการ จ.กัมปงสะปือ กล่าวว่า ชาวบ้านทำให้บริษัทน้ำตาลเสียหายคิดเป็นมูลค่าราว 20,000 ดอลลาร์ และยืนยันว่าการให้สัมปทานมีความโปร่งใส นอกจากนั้นที่ดินทีให้สัมปทาน ก็ยังเป็นที่ดินสาธารณะ ที่ราษฎรบุกรุกเข้าไปอาศัยทำกิน

เจ้าหน้าที่รัฐผู้นี้กล่าวหาว่า กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนกับคู่แข่งทางธุรกิจ ตลอดจนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วง.
กำลังโหลดความคิดเห็น