ASTVผู้จัดการรายวัน-- สายการบินเวียดนาม (Vietnam Airlines) ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้เลิกล้มแผนการร่วมทุนระหว่างสายการบินแอร์เอเชีย (AirAsia) จากมาเลเซีย กับสายการบินเวียดเจ็ตแอร์ (VietJet Air) โดยระบุว่าเป็นแผนการฮุบกิจการสายการบินภายในประเทศ และส่งผลกระทบต่อสายการบินแห่งชาติ
การบินเวียดนามกล่าวในหนังสือที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ในสัปดาห์นี้ว่า การที่แอร์เอเชียเสนอซื้อหุ้น 30% ในสายการบินเวียดเจ็ตแอร์ เพื่อตั้งใหม่เป็นเวียดเจ็ต แอร์เอเชีย (VietJet AirAsia) นั้น เป็นแผนการเจาะเข้าสู่ตลาดการบินในเวียดนาม เนื่องจากการขยายตลาดการบินต่างประเทศนั้นยากกว่า
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดเพดานการถือหุ้นของสายการบินต่างชาติในสายการบินเอาไว้ 30% แต่กฎระเบียบดังกล่าวก็มีช่องโหว่ให้ต่างชาติขยายสัดส่วนการถือหุ้นได้ในภายหลัง ไม่ต่างกับบริษัทธุรกิจอื่นๆ การบินเวียดนามกล่าว
เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงขนส่งได้อนุญาตในหลักการ แผนการร่วมทุน เพื่อก่อตั้งเป็น VietJet AirAsia ให้บริการบินแบบต้นทุนต่ำทั้งในประเทศและบินเชื่อมกับต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มในเดือน พ.ค.ศกนี้
เวียดเจ็ตได้รับใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2550 แต่ขอเลื่อนการเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หากร่วมทุนกับแอร์เอเชียได้สำเร็จ ก็จะเป็นคู่แข่งโดยตรงของเจ็ตสตาร์แปซิฟิก (JetStar Pacific) ที่สายการบินแควนตัส (Qantas) ออสเตรเลียถือหุ้น 27% และ ยังเป็นคู่แข่งสำคัญของเวียดนามแอร์ไลนส์สำหรับเส้นทางในประเทศ
เดือนที่แล้ว เวียดนามได้ประกาศจะนำวาสโก้แอร์ (Vietnam Air Services Co) สายการบินลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ โดยกระจายหุ้น 20% และ แปลงเป็นสายการบินต้นทุนต่ำอีกแห่งหนึ่ง ภายใต้ชื่อ เวียดแอร์แอร์ไลนส์ (VietAir Airlines)
การบินเวียดนามตั้งเป้าให้บริการผู้โดยสารให้ได้ 11 ล้านคนในปี 2553 นี้ เพิ่มขึ้น 18% และทำรายได้ 32 ล้านล้านด่ง (1,680 ล้านดอลลาร์) เพิ่ม 30%
รัฐบาลเวียดนามออกใบอนุญาตให้จัดตั้งสายการบินเอกชนจำนวน 3 แห่ง อินโดไชน่าแอร์ไลนส์ (Indochina Airlines) ได้หยุดให้บริการปลายปีที่แล้ว หลังขาดทุนสะสมหลายล้านดอลลาร์ เวียดเจ็ตแอร์ครบกำหนดตามสัญญาจะต้องขึ้นบิน และ แม่โขงแอร์ (Mekong Air) จะต้องให้บริการในปีนี้เช่นกัน.