พนมเปญโพสต์ - ฤดูจับปลาส่งท้ายปี 2552 ที่ผ่านมา ชาวเขมรต่างหวังว่าจะทำกำไรได้สูงเนื่องจากจำนวนปลาที่จับได้นั้นเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2551 แต่ราคาขายในตลาดกลับตกลงมากกว่า 50%
ช่วงเช้าของวันตามแม่น้ำตนเลสาป (Tonle Sap) ในกรุงพนมเปญ ต่างเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายวัยรวมตัวกันอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำลาดชันที่เต็มไปด้วยโคลน หลายคนเดินทางมาจากจังหวัดอื่นในประเทศทั้งเหนือใต้ออกตก เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำ "ประฮ๊อก" (Prahok) หรือ "ปลาเจ่าเขมร"
ประฮ๊อก คือ ปลาเงินขนาดเล็กที่นำมาบดตากแห้งแล้วนำไปหมักเกลือนานกว่า 20 เดือน แล้วจึงนำมาปรุงเป็นอาหารตำหรับเขมร ซึ่งประฮ๊อกถือว่าเป็นแหล่งโปรตีนหลักสำหรับครอบครัวส่วนใหญ่ในเขมรด้วย โดยปลาที่นำมาผลิตเป็นประฮ๊อกนี้พบมากในแม่น้ำตนเลสาป
ตามที่กรมประมงกัมพูชาระบุไว้ ในช่วงฤดูจับปลาของปี 2552 (เดือนธ.ค.) นี้คาดว่าจะจับปลาที่นำมาทำประฮ๊อกได้เพิ่มขึ้น 20% ซึ่งมากกว่าปี 2551
นายปรัก สุคุน (Prak Sokhun) จาก จ.ตะแกว (Takeo) วางแผนที่จะเลี้ยงปากท้องด้วยประฮ๊อกนี้ไปอีกนาน 12 เดือน "ผมจ่ายเงินไปเกือบ 4,000 ดอลลาร์ สำหรับปลา 8 ตัน และผมยังต้องนำไปขายต่อหรือไม่ก็เอาไว้แลกข้าวสารเมื่อผมกลับไปถึงบ้านด้วย"
ญาติของนายสุคุนที่เดินทางมาด้วยกันกำลังเริ่มจัดการเรียงปลาที่ซื้อมาลงในกระสอบที่ดูเหมือนจะอัดแน่นไปหมด
"ปีนี้ปลามากจริงๆ แต่ไม่ดีสำหรับธุรกิจผมสักเท่าไหร่ หวังว่าตอนที่กลับไปผมจะสามารถขายมันได้ในราคาเท่ากับที่เคยขายในในปีก่อน แต่คิดว่าคงจะยาก" นายสุคุนกล่าว
จากกิโลกรัมละ 1,700 เรียลในปี 2551-2552 ราคาปลาในปี 2552-2553 ตกลงเหลือเพียง 400-500 เรียลเท่านั้น
นายสุคุนเรียนรู้วิธีทำประฮ๊อกจากครอบครัวของเขาเอง และเริ่มเข้ามาที่กรุงพนมเปญเพื่อซื้อปลาตั้งแต่ปี 2542 ทุกปีเขาจะออกจากหมู่บ้านใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์บนฝั่งบริเวณริมแม่น้ำทะเลสาปพร้อมกับภรรยาและญาติที่มาเป็นลูกมือ
หลังจากรวบรวมปลาได้มากพอ เขาจะแผ่มันลงบนแผ่นพลาสติกขนาดใหญ่พร้อมกับโรยเกลือให้ทั่ว ตากแดดจนกระทั่งปลาแห้ง แล้วจึงค่อยบรรจุปลาลงในกระสอบก่อนที่จะขนกลับไปขายที่บ้านของเขา
ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ถือว่าเป็นช่วงของการจับปลาเพื่อนำไปทำปลาฮ๊อกประจำปีแล้ว ประมงหลายคนตัดสินใจที่จะสร้าที่พักชั่วคราวขึ้นในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเพื่อพักผ่อน โดยอยู่ห่างจากน้ำเพียงไม่กี่เมตร และอยู่ใกล้กับเครื่องจักรที่พวกเขาใช้ทำสะอาดและตัดหัวปลา
"เจ้าของที่บริเวณนี้เป็นเจ้าของเครื่องตัดหัวปลาด้วย เราจ่ายให้เขา 10 ดอลลาร์ต่อปลา 1 ตัน เครื่องจักรพวกนี้ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น แล้วปลาก็อร่อยขึ้นด้วย ก่อนหน้านี้เราทำความสะอาดปลาด้วยมือทำให้เสียเวลามาก เพราะยิ่งใช้เวลามากความสดของปลาก็ลดลง"
นอกจากคนจับปลา คนรับซื้อ และเจ้าของเครื่องจักร ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำประฮ๊อกที่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่เป็นอย่างดี คือ การรับจ้างขนปลาระหว่างเรือมาที่เครื่องจักรหรือมาให้กับพ่อค้า
นายมินอังเกียพิจ (Min Angkea Pich) อายุ 26 ปี รู้สึกยินดีทุกครั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลทำประฮ๊อก เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่เขากำลังจะได้รับ
"ผมสามารถหาเงินได้มากถึง 15,000-20,000 เรียลต่อวันแค่ขนตะกร้าเหล่านี้ขึ้นฝั่ง" นายพิจกล่าว พร้อมกับรีบหันหลังไปขนตะกร้าปลาที่รอขึ้นฝั่งอยู่อีกหลายใบ.