ASTVผู้จัดการรายวัน-- จีนจะส่งเครื่องบินส่วนตัวใบพัดเดี่ยวจำนวน 8 ลำไปจำหน่ายในลาวปีหน้านี้ ในความพยายามหาตลาดเฉพาะให้แก่อุตสาหกรรมอากาศยานในประเทศ เครื่องบิน "เสี่ยวหยาง 500" หรือ Eaglet 500 ได้ผ่านการ ทดสอบการบินวันจันทร์ (21 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งรับประกันว่าเครื่องบินเล็กขนาด 5 ที่นั่งจากจีน มีคุณภาพได้มาตรฐานโลก
ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว เครื่องบินเสี่ยวหยาง 500 ร่วมกันผลิตโดยสถาบันในประเทศหลายแห่งรวมทั้ง บริษัทอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินสีเจียจ้วง (Shijiazhuang Aircraft Industry) แห่งมณฑลเหอเป่ย สถาบันออกแบบอากาศยาน ในสังกัดบริษัทอุตสาหกรรมอากาศยานแห่งจีนหมายเลข 1 (NO 1 China Aviation Industry Corp) และ สถาบันการบินอากาศยานพลเรือน (Civil Aviation Flight Institute)
เครื่องบินผลิตจากโรงงานที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ได้รับประกาศนียบัตรแสดงความคุ้มค่าคุ้มราคาจากองค์การบริหารการบินพลเรือนจีน เมื่อปี 2548
ตามรายงานของสำนักข่าวทางการเครื่องบินเสี่ยวหยาง 500 บนได้ด้วยความเร็วถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระดับสูงถึง 4,200 เมตร ขึ้นลงสนามบินขนาดเล็กได้ หรือ แม้กระทั่งบนทางหลวงทั่วไป "ถ้าหากจำเป็น" นายกุย ผิงเฟิง (Cui Phingfeng) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อที่สถาบันออกแบบอากาศยาหมายเลข 1 กล่าว
บริษัทสีเจียจ้วงฯ ได้เซ็นความตกลงกับบริษัทส่งออกนำเข้าอากาศยาน China National Aero-Technology Import & Export Corp ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อส่งเครื่องบินไปจำหน่ายในลาว ซินหัวกล่าว
เสี่ยวหยาง 500 ราคาลำละ 2.2-2.9 ล้านหยวน (322,182-424,694 ดอลลาร์) ราคานี้ต่ำว่า ราคาอากาศยานขนาดเดียวกันในตลาดโลกไม่น้อยกว่า 20%
ที่ผ่านมาบริษัทนี้ผลิตเครื่องเสี่ยวหยางจำหน่ายในประเทศได้แล้วจำนวน 14 ลำ และ ยังมียอดสั่งผลิตค้างสำหรับส่งมอบปีหน้าอีก 50 ลำ หลายปีมานี้ตลาดเครื่องบินส่วนตัวขยายตัวอย่างมากมาย จากเพียง 11 ลำในปี 2549 คาดว่าจะสูงถึง 2,000 ลำต่อปีในปี 2563 นายกุยกล่าว
ในช่วงไม่กี่ปีมาการลงทุนของต่างประเทศในลาวขยายตัวสูงมาก ขณะที่การคมนาคมยังไม่สะดวกทั่วถึง การเดินทางจากนครเวียงจันทน์ไปยังแขวงที่ห่างไกลจะต้องใช้เวลาข้ามคืนหรือ 1 วันเต็มๆ เครื่องบินส่วนตัวอาจจะเป็นทางเลือกที่ตัดสินใจได้สำหรับนักลงทุนเหล่านั้น
ได้มีการสร้างตัวอย่างกับค่านิยมในเรื่องนี้ในเวียดนามในปี 2551 เมื่อนายดว่านเหวียนดึก (Doan Nguyen Duc) ประธานกลุ่มฮว่างแองซยาลาย (Haong Anh Gia Lai) ซื้อเครื่องบินส่วนตัวลำหนึ่งจากสหรัฐฯ ซึ่งทำให้สามารถเดินทางไปประชุมหรือไปดูแลธุรกิจในที่ต่างๆ ได้ภายในวันเดียว
ฮซ่างแองซยาลาย มีสำนักงานใหญ่ใน จ.กงตูม (Kon Tum) ในเขตที่ราบสูงภสคกลางที่การคมนาคมยังไม่สะดวก การเดินทางไปยังกรุงฮษนอยหรือโฮจิมินห์ในภาคใต้จะต้องไปขึ้นเครื่องบินที่นครด่าหนังที่อยู่ห่างออกไปกว่า 200 กม.
HAGL มีธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บ้าน ที่ดิน โรงแรมชั้นหนึ่งกับคอนโดหรูอยู่ในนครใหญ่ต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้ทงในนครเกิ่นเทอ (Can Tho) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของเวียดนามด้วย
นอกจากนั้น HAGL ยังเข้าลงทุนทำสวนยางพาราคลุมพื้นที่หลายแสนไร่ในแขวงภาคใต้ของลาวอีกด้วย บริษัทประกาศจะสร้างโรงงานผลิตยางพาราชนิดต่างๆ ในปีนี้เพื่อส่งออก
ประธาน HAGL ซึ่งเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลใหญ่ที่สุด ในเวียดนาม ซึ่างมีความร่วมมือใกล้่ชิดกับสโมรสร "ปืนใหญ่" อาร์เซนัล
เครื่องบินส่วนตัวคิงแอร์ บี350 (King Air B350) ของบีชคราฟต์ (Beechcraft) ราคา 7 ล้านดอลลาร์ที่สั่ผลิตในสหรัฐฯ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ตามรายงานของสื่อทางการเวียดนมก่อนหน้านี้ เครื่องบินเล็กส่วนตัวกำลังได้รับความสนใจจากบรรดานักธุรกิจนักลงทุนชั้นแนวหน้าของประเทศ รวมทั้งบรรดาเจ้าของรถยนต์หรูจากยุโรปอย่างเบนท์ลีย์ (Bentley) กับโรลส์รอยซ์ (Rolls Royce) ที่มีนับสิบคันที่อยากจะมีพาหนะที่ดูเลิศหรูยิ่งกว่า
สื่อในเวียดนามกล่าวว่า เจ้าของอากาศยานคนต่อไปอาจจะเป็นนายเลวันเกียม (Le Van Kiem) ประธานกลุ่มบริษัทลองแถ่งกอล์ฟ (Long Thanh Golf Club & Resort) ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า กำลังมองหาเฮลิคอปเตอร์เนื่องจากใช้งานขึ้นลงสะดวกกว่าเครื่องบินมาก บริษัทนี้เป็นเจ้าของกอล์ฟรีสอร์ตใหญ่ของเวียดนาม อยู่ใน จ.ด่งนาย (Dong Nai) ใกล้กับนครโฮจิมินห์
เมื่อต้นปีนี้กลุ่มลองแถ่ง ได้เซ็นสัญญากับทางการนครเวียงจันทน์ของลาวเพื่อก่อสร้างสนามกอล์ฟ และพัฒนาเขตการค้าใกล้สถานีรถไฟแห่งแรกของลาว ที่บ้านดงโพสี แขวงท่านาแล้งเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ตามกำหนดการจะต้องลงมือก่อสร้างปลายปีนี้ ซึ่งวันนี้เฮลิคอปเตอร์อาจจะไม่สะดวกแล้วก็ได้ สำหรับเจ้าของกลุ่มสนามกอล์ฟรีสอร์ตใหญ่ที่สุดของประเทศ.