พนมเปญโพสต์ - บรรดาผู้ผลิตเกลือชาวเขมรต่างมุ่งเป้าเพิ่มผลผลิตเกลือในฤดูกาลที่จะมาถึงนี้ให้ได้ทั้งหมดอย่างน้อย 90,000 ตัน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศหลังจากฤดูกาลที่ผ่านมาต้องประสบกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกลือได้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้
นายหลีเส็ง (Ly Seng) ประธานสมาคมผู้ผลิตเกลือกัมพูชา ระบุว่า สภาพอากาศที่เลวร้ายหมายถึงการสูญเสียผลผลิตเกลือทำให้ในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา (พ.ย. 2551 -พ.ค. 2552) ผลิตเกลือได้เพียง 30,000 ตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวนทั้งหมด 100,000 ตัน ทำให้ทางสมาคมต้องนำเข้าเกลือเป็นครั้งแรกเพื่อให้พอกับความต้องการทั้งหมด 120,000 ตัน
"เรามีประสบการณ์ในภาวะขาดแคลนเกลือเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา เนื่องจากการผลิตมีน้อยกว่าความต้องมาก ถ้าเราไม่สามารถผลิตเกลือได้มากเท่ากับที่เราวางแผนไว้ กัมพูชาจะต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนเกลือเช่นเดียวกับปีก่อนนี้" นายเส็งกล่าว
อากาศร้อนและแห้งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตเกลือด้วยการทำให้น้ำทะเลที่กักอยู่ในนาเกลือระเหยออกไปจนเหลือแต่ผลึกเกลือ แต่ฝนที่ตกก่อนฤดูอย่างหนักเมื่อปีที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ทำให้ทางสมาคมฯต้องขออนุญาตจากรัฐเมื่อเดือนมิ.ย. 2552 ที่ผ่านมา นำเข้าเกลือจำนวน 60,000 ตันจากประเทศจีน
นายเส็งยังกล่าวเพิ่มเติมว่าอีกว่า ในตอนนี้เกลือจำนวน 30,000 ตันได้ถูกส่งเข้ามาแล้ว ส่วนอีก 20,000 ตันที่เหลือจะนำเข้ามาในปลายเดือน ธ.ค. เพื่อรองรับกับปริมาณความต้องการที่จะพุ่งสูงในเดือนม.ค. 2553 นี้ ซึ่งชาวกัมพูชาจำเป็นต้องนำเกลือไปใช้ในการทำ "ประฮ๊อก" (Prahok) หรือ "ปลาเจ่าเขมร"
เกลือที่นำเข้ามาจากจีนมีราคาประมาณ 110 ดอลล่าร์ต่อตัน และสามารถนำไปขายให้พ่อค้าขายส่งได้ในราคา 120 ดอลลาร์ต่อตัน
นายชุนฮิน (Chhun Hin) ผู้อำนวยการ สำนักงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และพลังงาน จ.กัมโป๊ต (Kampot) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมด 4,400 เฮกตาร์ ระบุว่าผู้ผลิตเกลือในท้องถิ่นสามารถผลิตเกลือได้ตั้งแต่ 120,000-200,000 ตันต่อฤดูกาล ในช่วงที่ภูมิอากาศถูกต้องตามฤดูกาล
"เราหวังว่าผลผลิตเกลือที่ได้จะมากเกินกว่าแผนที่เราวางไว้สำหรับปี 2553 เพราะสภาพภูมิอากาศตอนนี้ดีกว่าปี 2551 ที่ผ่านมา" นายฮินกล่าว
เจาหน้าที่ผู้นี้กล่าวอีกว่าอ้างอิงข้อมูลสภาพภูมิอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา กัมพูชาจะสามารถผลิตเกลือได้ประมาณ 120,000 ตันในฤดูกาลนี้ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน
กัมพูชาจะสามารถผลิตเกลือได้ประมาณ 180,000 ตันต่อปี ซึ่งนำเกลือส่วนเกินจากที่ต้องใช้ภายในประเทศส่งออกได้ด้วย นายเส็งกล่าว่า สมาคมผู้ผลิตเกลือจะหยุดนำเข้าเกลือในปีหน้าถ้าผู้ผลิตท้องถิ่นสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตเกลือได้เท่ากับเมื่อก่อนนี้
"เรานำเข้าเกลือเฉพาะเมื่อผลผลิตเกลือมีน้อยกว่าปริมาณความต้องการเท่านั้น" นายเส็งกล่าว.