ASTVผู้จัดการรายวัน-- นายเหวียนวันหมี (Nguyen Van My) ผู้อำนวยการบริษัทท่องเที่ยวเหลือะเหวียด (Lua Viet) ในนครโฮจิมินห์ ได้มีโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงาน เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ และได้เขียนบันทึกสั้นๆ ฉบับหนึ่งแสดงความประทับใจ ต่อสิ่งที่ได้มาพบเห็นและเรียนรู้
ปีนี้การท่องเที่ยวเวียดนามประสบปัญหาหนักไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ ในย่านเดียวกันทั้งนี้เนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกเป็นสำคัญ
เดือน พ.ย.ที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 72.28% จากเดือน ต.ค. รวมเป็นจำนวน 387,870 คน เตื่อยแจ๋อ้างตัวเลขขององค์การบริหารการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ VNAT (Vietnam National Administration of Tourism) ที่เปิดเผยในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในนครโฮจิมินห์นัดหนึ่งวันศุกร์ (27 พ.ย.) ที่ผ่านมา
นับเป็นเดือนแรกของปีที่เวียดนามได้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่ามากมาย อันเป็นผลจากการที่มีนักเดินทางจากจีน เกาหลี สหรัฐฯ กับไต้หวันเดินทางเข้ามากขึ้น VNAT กล่าว
อย่างไรก็ตาม 11 เดือนแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเขาเวียดนามรวม 3.4 ล้านคน ลดลง 12.1% เทียบกับจำนวนระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย.2551
องค์การบริหารการท่องเที่ยวกล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มเมื่อเดือนที่แล้ว เป็นผลจากการรณรงค์เชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ภายใต้หัวชื่อว่า "เวียดนามที่น่าประทับใจ" (Impressive Vietnam) ซึ่งมีการเสนอแพ็กเกจทัวร์กับบริการต่างๆ ในราคาต่ำลง
เวียดนามตั้งเป้าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศให้ได้ 11-12 ล้านคนภายในปี 2563 หรืออีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า และ ให้ชาวเวียดนามออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอีก 45-48 ล้านคนในปีเดียวกัน
ทางการตั้งเป้าทำรายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยวระหว่าง 10,000-11,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2558 และเพิ่มขึ้นเป็น 18,000-19,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 และ เพิ่มเป็นเท่าตัวภายในปี 2573 เตื่อยแจ๋กล่าว
แต่สำหรับนายหมี ผู้อำนวยการบริษัทท่องเที่ยวแห่งนครโฮจิมินห์ กลับเห็นว่าการท่องเที่ยวเวียดนามยังมีความไม่ลงตัวหลายประการ
ผู้อำนวยการบริษัทท่องเที่ยวของเอกชนแห่งนี้ ได้กล่าวถึงความแตกต่างกันอย่างมากมาย ในการบริหารและการจัดการการท่องเที่ยวของสองประเทศ และ นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า “การท่องเที่ยวเวียดนามสมควรจะถือยึดเอา ประเทศไทยเป็นครู”
บันทึกสั้นๆ ของนายหมีถูกนำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre) หรือ "ยุวชน" หนังสือพิมพ์รายวันในนครโฮจิมินห์ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และ ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาทั้งหมดที่ถอดความออกมา:
...ความรู้สึกอคติของผมต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยเปลี่ยนไปเป็นความชื่นชมหลังจากที่ได้มีส่วนร่วมในการสำรวจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ผมเคยคิดว่าหน่วยงานการท่องเที่ยวของไทยทำได้ดีเฉพาะการจัดทัวร์ท่องเที่ยวแบบเซ็กทัวร์หรือทัวร์ช็อปปิ้งเท่านั้น แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าระบบการท่องเที่ยวของพวกเขาเป็นเครื่องจักรที่สมบูรณ์มากยิ่งกว่าใครในภูมิภาคนี้
ในประเทศไทย การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวด ในขณะที่เวียดนามถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาคบริการ ที่ทุกคนสามารถเปิดบริษัทท่องเที่ยวของตัวเองได้และมักจะทำตามใจตัวเอง ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้มีผู้ประกอบการจัดทัวร์ที่เต็มไปด้วยความขี้เกียจและคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศเวียดนามทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาแก่กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ในขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินงานโดยตรง ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
ททท. จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานทั้งหมด ทั้งที่อยู่ตามเมืองต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่แผนกการท่องเที่ยวประจำจังหวัด มีการดำเนินการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และจัดให้พนักงานส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติ
นอกจากนั้น หน่วยงานยังมีสำนักงานดำเนินการอยู่ในหลายๆ ประเทศ และทำหน้าที่หลากหลายซึ่งล้วนแล้วเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย ดังเช่นสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในนครโฮจิมินห์ มีการจ้างพนักงานคนไทยที่พูดภาษาเวียดนามและชาวเวียดนามที่พูดภาษาไทยได้ประจำอยู่ที่สำนักงาน
นอกจากนั้น ททท.ยังดูแลบริษัทท่องเที่ยวไทยที่เปิดทำการในนครโฮจิมินห์ และได้เชื้อเชิญหน่วยงานท่องเที่ยวของเวียดนามร่วมขบวนท่องเที่ยวเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยที่ทาง ททท.เป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
ในเวียดนามมีภาษิตโบราณกล่าวว่า "เรียนรู้จากครูไม่ดีเท่าเรียนรู้จากเพื่อน"
ความกล่าวนั้นเป็นเรื่องจริงอย่างที่สุดเพราะไม่ง่ายนักที่จะหาคนสอนที่ดีได้ แต่เรามีเพื่อนอย่างประเทศไทยอยู่ติดรั้วบ้านของเรา
เวียดนามที่ถูกทิ้งห่างไปไกลแบบไม่เห็นฝุ่นในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว
แต่ยังคงไม่สายเกินไปที่เวียดนามจะหันมาเรียนรู้จากประเทศไทยและพัฒนาการท่องเที่ยวของเวียดนามให้ทัดเทียม โดยมีการท่องเที่ยวชายทะเลและเที่ยวชมเมืองที่ยังคงเป็นการท่องเที่ยวหลักที่ครองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศเวียดนามในตอนนี้.