xs
xsm
sm
md
lg

ฉันทนาเขมร 3 หมื่นว่างงาน หันเข้าหาธุรกิจค้ากาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#ff0000>หญิงชาวเขมรนั่งรอลูกค้าหน้าร้านคาราโอเกะในกรุงพนมเปญ สหประชาชาติวิตกปัญหาแรงงานเขมรตกงานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจะทำให้หญิงชาวเขมรที่ตกงานหันหน้ามาทำงานในสถานบันเทิงหรือขายบริการทางเพศมากขึ้น</FONT></CENTER>

พนมเปญโพสต์ - บรรดาแรงงานทอผ้าที่ตกงาน เพราะพิษภาวะวิกฤตเศรษฐกิจประมาณ 15-20% หันมาทำงานในสถานบันเทิงในกรุงพนมเปญ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่าแรงงานที่เปลี่ยนอาชีพเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในวังวนธุรกิจขายบริการเพื่อหาเงินส่งกลับไปเลี้ยงครอบครัว

นายลิมทิธ (Lim Tith) เจ้าหน้าที่ประสานงานในโครงการระหว่างหน่วยงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ของสหประชาชาติ (UN Inter-Agency Project on Human Trafficking - UNIAP) กล่าวว่า รายงานที่ได้รับซึ่งเป็นข้อมูลใหม่รวมกันกับผลสำรวจในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า สภาวะการลดลงของแรงงานส่งผลให้จำนวนของหญิงชาวกัมพูชาที่ขายบริการเพิ่มสูงขึ้น

ตามสถิติตัวเลขจากกระทรวงแรงงานกัมพูชา ระบุว่า แรงงานจากโรงงานสิ่งทอกว่า 30,000 คน ตกงานในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา มีแรงงานหญิงที่ตกงานเหล่านี้อย่างน้อย 4,500 คน เข้ามาทำงานในสถานบันเทิง

นายทิธ กล่าวว่า แรงงานหญิงหลายคนเห็นว่างานในสถานบันเทิงนั้น ไม่ว่าจะเป็นร้านคาราโอเกะ บาร์ หรือร้านอาบอบนวด เป็นเพียงทางเลือกเดียวของพวกเธอ

“ผมคิดว่า พวกเขาไม่ได้อยากทำงานเหล่านี้สักเท่าไหร่ แต่พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนักที่จะทำงานอย่างอื่นได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันที่พวกเขาต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วย” นายทิธกล่าว

ผลสำรวจของ UNIAP พบว่า ส่วนใหญ่เหตุผลที่แรงงานหญิงเหล่านี้เข้ามาทำงานขายบริการเนื่องจากสถานการณ์ที่ยากลำบากของครอบครัว ตามด้วยความกดดันจากญาติพี่น้องที่มีอาชีพหรือรายได้ที่ดีกว่าพวกเธอ

องค์กรเอกชนหลายแห่งได้แสดงทัศนะถึงสถานการณ์แรงงานหญิงที่ตกงานแล้วหันมาทำงานในสถานบริการเช่นนี้ ว่า พวกเขาหวังที่จะให้รัฐบาลเพิ่มความพยายามที่จะจัดหาการฝึกอบรมอาชีพให้กับอดีตแรงงานโรงงานสิ่งทอเหล่านี้

“รัฐบาลรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น นั่นเรื่องหนึ่ง แต่อีกสิ่งหนึ่งคือการลงมือปฏิบัติให้ความช่วยเหลือ” นางพุงชิวเก็ก (Pung Chhiv Kek) ผู้ก่อตั้งกลุ่มสิทธิมนุษย์ชน Licadho กล่าว

“เราคาดหวังไว้ว่าเมื่อแรงงานที่ยากจนเหล่านี้ตกงานเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลจะเข้าช่วยเหลือด้วยการเปิดโครงการฝึกอาชีพและช่วยหางานให้พวกเธอทำ” นางเก็ก กล่าว

นางเมย สุวรรณรา (Mey Sovannara) ประชาสัมพันธ์จากองค์กรคณา (Khana) ซึ่งดูแลเกี่ยวกับโรคเอดส์ กล่าวว่า “รัฐบาลควรมุ่งเน้นไปที่ศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อให้หญิงสาวเหล่านี้ได้มีทักษะมากกว่าการเสิร์ฟอาหาร เช่นการทอผ้า ซึ่งพวกเธอจะได้ไปเปิดร้านของตัวเองได้”

นางฮอร์ มาลิน (Hor Malin) ปลัดกระทรวงกิจการสตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้พยายามที่จะเข้าช่วยเหลือแรงงานหญิงที่ตกงานเหล่านี้และจะดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ

“เราไม่เคยที่จะไม่ใส่ใจดูแลแรงงานที่ตกงานเหล่านี้ แต่เราก็ไม่สามารถช่วยพวกเขาได้ทั้งหมด เราพยายามอย่างมากที่จะฝึกอาชีพให้พวกเขาเพื่อเป็นทางออกในการหางานที่เหมาะสม” นางมาลิน กล่าว และสำทับว่า กระทรวงกิจการสตรีอยากให้อดีตแรงงานโรงงานสิ่งทอเหล่านี้ออกจากเมืองหลวงกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตน

“แน่นอนว่า ฉันไม่สามารถห้ามพวกเขาทำงานในสถานบันเทิงได้ แต่ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวง เราต้องการให้พวกเธอเหล่านั้นเลิกทำงานในสถานบันเทิงแล้วกลับไปท้องถิ่นของตัวเองเพื่อทำงานด้านเกษตรกรรมมากกว่าที่จะทำงานอยู่ในร้านคาราโอเกะหรือเป็นพนักงานขายเครื่องดื่มเบียร์สุรา”

แต่ความเห็นของ นางมาลิน ต้องตกลงไปเมื่อ นางเก็ก ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าแรงงานเหล่านี้ไม่กลับหมู่บ้านของตัวเองเพราะต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว
กำลังโหลดความคิดเห็น