ASTVผู้จัดการรายวัน (เวียงจันทน์)-- บริการรถโดยสารสายนครเวียงจันทน์-ขอนแก่น ไม่ราบรื่นเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับการข้ามแดนและความตกลงเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งชาวลาวจะต้องใช้หนังสือเดินทาง จึงทำให้มีผู้โดยสารน้อย ต่างไปจากเดินรถสายเวียงจันทน์-อุดรธานีที่ผู้โดยสารสามารถขอใบอนุญาตผ่านแดนได้
หากไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหานี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการเดินรถสายที่ยาวกว่าระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเดินรถโดยสารประจำทางเวียงจันทน์-นครราชสีมา และ เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ สายเชียงใหม่-เชียงราย-ห้วยทราย-หลวงพระบาง ที่กรมการขนส่งของไทยและลาวกำลังจะนำเสนอต่อรัฐบาล
"เป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับการเดินรถในปัจจุบัน ซึ่งทำให้แต่ละเที่ยวมีผู้โดยสารเพียง 5-6 คนเท่านั้น หรือโชคดีที่สุดก็ 10 คนปาย (สิบคนเศษ) แต่นานๆ จะมีครั้งหนึ่ง" เจ้าหน้าที่ของลาวกล่าวกับ "ASTVผู้จัดการรายวัน" สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็กล่าวอีกว่า หน่วยเหนือขึ้นไปได้ทราบปัญหานี้แล้ว
"ข้อตกลงไทย-ลาวอนุญาตให้ผู้โดยสารจากลาวใช้บัตรผ่านแดนไปได้ถึงอุดรธานีเท่านั้น ไปไกลกว่านั้นจะต้องใช้หนังสือเดินทาง ไปขอนแก่นก็เช่นเดียวกัน" เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าว
"ปัญหาก็คือ มีชาวลาวไม่มากที่มีหนังสือเดินทาง.. เพราะฉะนั้นก็จึงไม่สามารถไปที่อื่นๆ ได้นอกจากหนองคายกับอุดรธานี" เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์จะให้ระบุชื่อกล่าว
เจ้าหน้าที่ผู้นี้อธิบายว่า การทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตในลาวนั้นมีค่าใช้จ่ายราว 3,000 บาท เมื่อคิดเป็นเงินไทย และ จะต้องเริ่มเรื่องไปจากระดับท้องถิ่นโดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐรับรองเป็นชั้นๆ ขึ้นไปจนถึงส่วนกลางคือกระทรวงการต่างประเทศ ต้องมีการยืนยันว่าบุคคลผู้นั้นมีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังต่างประเทศ
"แต่สำหรับบุคคลทั่วไป ยื่นขอไปแล้วก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้มีได้หรือไม่" เจ้าหน้าที่กล่าว
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาวที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้เกิดมีชนชั้นกลางที่ร่ำรวยเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกทีๆ คนเหล่านั้นต้องการความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวัน และ ต้องการมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญรวมทั้งมียาคุณภาพดีในการรักษาโรค ซึ่งจังหวัดชายแดนของไทยมีบริการทางเลือกเหล่านี้
ถึงแม้ว่านครเวียงจันทน์จะมีประชากรเพียง 5 แสนคนเศษ แต่ตัวเลขสถิติที่ด่านชายแดนได้บ่งว่าในแต่ละปีมีชาวลาวนับหมื่นๆ เดินทางข้ามสะพานมิตรภาพไปตรวจสุขภาพหรือพบแพทย์ในโรงพยาบาลทางฝั่งไทย อีกจำนวนไม่น้อยไปจับจ่ายซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตในประเทศไทย
รถบัสโดยสารเวียงจันทน์-อุดรธานี เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2547 เจ้าหน้าที่ของไทยที่สถานีขนส่ง จ.อุดรธานี กล่าวก่อนหน้านี้ว่า รถจากฝั่งไทยจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยเที่ยวละ 60-70% ส่วนเที่ยวจากเวียงจันทน์มีผู้โดยสารน้อยกว่า แต่ก็มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าออกอยู่ตลอดเวลา
เจ้าหน้าที่ลาวกล่าวว่า การเปิดเดินรถไฟกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ เมื่อต้นปีนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อรถโดยสารข้ามประเทศมากนัก เนื่องจากสถานียังอยู่ในห่างจากย่านกลางเมืองมาก และ ชาวลาวคุ้นเคยกับการเดินทางไปกับรถโดยสารประจำทางมากกว่า เนื่องจากสะดวกกว่าไม่ต้องรอเหมือนรถไฟที่ให้บริการเพียงวันละ 2 เที่ยว
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของลาวคาดว่า ในช่วงการแข่งขันกีฬาซีเกมที่ลาวเป็นเจ้าภาพจัดในเดือน ธ.ค.ศกนี้ จะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางกรุงเทพฯ-อุดรธานีกับ กรุงเทพฯ-ขอนแก่นเพิ่มมากขึ้น
เจ้าหน้าที่ระดับสูงกรมการขนส่งทางบกของไทยได้ประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่กรมขนส่งของฝ่ายลาวในเดือนนี้ และตกลงจะนำเสนอต่อรัฐบาลของสองฝ่าย เพื่อเปิดเดินรถโดยสารประจำทางสายยาวเพิ่มขึ้นอีก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวกับการไปมาหาสู่กัน
การเดินรถโดยสารเชื่อมจังหวัดภาคเหนือของไทยกับแขวงภาคเหนือของลาว จะสะดวกมากขึ้นเมื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) แล้วเสร็จในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า.