ซินหัว (ย่างกุ้ง) - พม่ามุ่งมั่นขยายตลาดอัญมณีทั้งในและต่างประเทศ โดยเตรียมจัดแสดงอัญมณีประจำปีในประเทศและร่วมงานแสดงอัญมณีนานาชาติในโอกาสต่างๆ ด้วย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พม่าได้เข้าร่วมการประชุมแสดงอัญมณีในประเทศจีน ไทยและศรีลังกา เพื่อนำหยก ทับทิม ไพลิน และ มุกที่มีคุณภาพของประเทศไปร่วมแสดง
ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ค้าอัญมณีพม่าได้เข้าร่วมในการแสดงอัญมณีอาเซียนที่เมืองคุนหมิง (Kunming) มณฑลหยุนหนัน (Yunnan) ประเทศจีน มาแล้วครั้งหนึ่ง และ ในสัปดาห์นีผู้ค้าจากพม่าจำนวนมาก จะเข้าร่วมแสดงอัญมณีอาเซียนเป็นเวลา 5 วัน ที่จัดขึ้นในประเทศไทยด้วย (ศูนย์อิมแพ็กต์ เมืองทองธานี)
บริษัทค้าอัญมณีของพม่ากว่า 70 บริษัท เตรียมเข้าร่วมงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียนครั้งที่ 6 ในเดือน ต.ค. นี้ ที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซี (Guangxi) นอกจากนั้นยังเตรียม ไปร่วมแสดงอัญมณีที่ในกรุงโคลัมโบ ศรีลังกา เพื่อเป็นการขยายตลาดอีกด้วย
นอกนั้นพม่ายังมองหาตลาดในตะวันออกกลางเช่นเดียวกัน โดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเป้าหมายแรก
ตลาดอัญมณีของพม่าในภูมิภาคเอเชียดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ จากการสังเกตเห็นว่าอัญมณีและเครื่องประดับของพม่ายังคงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียเป็นอย่างสูง
พม่า นับว่าเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตอัญมณีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ทับทิม เพชร มรกต บุษราคัม มุก ไพลิน และ พวกพลอยสีเหลืองต่างๆ
พม่าได้เริ่มเปิดจำหน่ายอัญมณีขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2507 และ เริ่มมีการจัดกลางปี ในปี 2535 และมีการแสดงครั้งพิเศษในปี 2547 ซึ่งในปีหนึ่งๆ นั้นอาจมีงานแสดงอัญมณีหลายครั้ง
เดือนมี.ค. ปีนี้งานประมูลอัญมณีครั้งที่ 46 ในกรุงย่างกุ้ง มีหยกกว่า 5,000 ก้อนถูกนำออกประมูล ในงานนี้จำหน่ายอัญมณีได้มูลค่ามากถึง 191 ล้านดอลลาร์ มีผู้ค้าต่างชาติเข้าร่วมกว่า 2,300 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและฮ่องกง
ร้านค้าที่นำอัญมณีมาร่วมแสดงด้วยส่วนใหญ่ไปจากประเทศในเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์
ส่วนในเดือน มิ.ย. งานแสดงอัญมณีพม่าครั้งพิเศษได้ถูกจัดขึ้นอีกครั้งดึงดูดผู้ค้าต่างชาติเข้าร่วมงานได้กว่า 3,000 คน มากที่สุดเทียบกับปีที่ผ่านมา และ ทำรายได้กว่า 292 ล้านดอลลาร์
พม่าจะจัดงานแสดงอัญมณีกลางปี (งบประมาณ) ในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้
พม่ายังจัดงานประมูลไข่มุกทุกๆ 2 ปี โดยปีนี้จะเป็นปีแรก กำหนดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์อัญมณีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่สร้างขึ้นใหม่ในเมืองหลวง Nay Pyi Taw โดยการประมูลจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 ก.ย. คาดว่าจำนวนผู้ค้าไข่มุกพม่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ที่มาจากเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์
พม่านั้นสามารถเก็บผลผลิตไข่มุกได้ประมาณ 400,000 เม็ดต่อปี จากฟาร์มไข่มุกในประเทศทั้งหมด 8 แห่ง โดยฟาร์มเหล่านี้เป็นการลงทุนจากต่างชาติทั้งสิ้น ประกอบด้วย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน และไทย
ทับทิม เพชร มรกต บุษราคัม ไข่มุก ไพลิน และปะการัง ของพม่าล้วนมีชื่อเสียงในตลาดโลก องค์กรศูนย์กลางทางสถิติของพม่า (Central Statistical Organization) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2551-52 พม่าสามารถผลิตหยกได้กว่า 32,921 ตัน และผลิตอัญมณีที่ประกอบไปด้วยอัญมณีชนิดต่างๆ จำนวน 18,728 กะรัต และไข่มุกอีก 201,081 เม็ด หรือราว 754 กิโลกรัม.