xs
xsm
sm
md
lg

สวนยางลาวขยายเร็ว แต่มีที่แค่ 1.87 ล้านไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#cc00cc>ภาพจากเว็บไซต์ HAGL เจ้าหน้าที่ของบริษัทกำลังตรวจสภาพต้นยางอายุ 9 เดือน ในสวนยางสัมปทานแขวงอัตตะปือ ทางภาคใต้ของลาว กลุ่มทุนใหญ่จากเวียดนามมีกำหนดจะสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราในปีหน้าส่งผลิตภัณฑ์ป้อนตลาดจีน </FONT></bR>

ASTVผู้จัดการรายวัน-- อุตสาหกรรมยางพาราในลาวขยายตัวรวดเร็วมากในช่วงสองสามปีมานี้ ด้วยแรงหนุนส่งจากนักลงทุนต่างประเทศ แต่เนื่องจากที่ดินมีจำกัด รัฐบาลกำหนดพื้นที่สวนยางทั้งหมดเดอาไว้แค่ 300,000 เฮกตาร์ หรือ 1,8 ล้านไร่เศษเท่านั้น แม้ว่าจีนพร้อมจะซื้ออย่างไม่จำกัดปริมาณก็ตาม

ตามตัวเลขของกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ จนถึงสิ้นปี 2551 ในลาวมีพื้นที่สวนยางทั่วประเทศรวมกันประมาณ 150,000 เฮกตาร์ (937,500 ไร่) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 250,000 เฮกตาร์ (1,562,500 ไร่) ในสิ้นปี 2553

ถึงแม้จะมีนักลงทุนจากจีน เวียดนามและจากไทยเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็ยังมีเกษตรกรผู้ปลูกยางรายย่อยซึ่งเป็นชาวลาวอีกจำนวนมาก คิดเป็นประมาณ 25-30% ของทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลจะให้การส่งเสริมอย่างจริงจัง สำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.) รายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายบุนทง บัวฮูม ปลัดกระทรวงกสิกรรมฯ

ยางพาราปลูกกระจัดกระจายตามท้องที่ต่างๆ ที่สภาพทางภูมิศาสตร์เอื้ออำนวย ทางเหนือมีมากใน 3 แขวง คือ หลวงพระบาง อุดมไซ กับแขวงบ่อแก้ว ส่วนภาคกลางมีในแขวงบอลิคำไซ คำม่วนกับสะหวันนะเขต และ มีมากที่สุดใน 3 แขวงภาคใต้คือ จำปาสัก สาละวันและอัตตะปือ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 40% ของทั้งหมด ขปล.กล่าว

อย่างไรก็ตามตามสภาพข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ ทั่วประเทศจะมีพื้นที่สำหรับสวนยางเพียงประมาณ 3 แสนเฮกตาร์ (1,786,500 ไร่) เท่านั้น

ไม่กี่ปีมานี้ลาวได้กลายเป็นแหล่งลงทุนผลิตยางพารายอดนิยม หลังจากที่ราคายางพาราในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงหลายเท่าตัว

อุตสาหกรรมนี้คึกคักยิ่งขึ้นในต้นปี 2550 เมื่อบริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย จับมือบริษัทนิวจิบเซ้งโฮลดิงส์ ซึ่งเป็นบริษัทใน สปป.ลาว กับบริษัทผู้ผลิตยางพาราขนาดใหญ่อันดับ 2 จากสาธารณรัฐประชานจีน ขยายเนื้อที่ปลูกยางใน 6 แขวง รวมเป็นเนื้อที่ราว 30,000 เฮกตาร์ หรือ กว่า 187,000 ไร่ เป็นความร่วมมือด้านยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในลาวขณะนั้น

การปลูกยางขยายตัวรวดเร็วมากหากเทียบกับปี 2549 ที่ยังมีสวนยางอยู่เพียง 11,778 เฮกตาร์ (73,600 ไร่เศษ) ทั้งนี้เป็นตัวเลขของ สถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้ของลาว (National Agriculture and Forestry Research Institute of Laos) หรือ NAFRIL

รัฐบาลลาวได้ถือนโยบายการผลิตยางพาราเพื่อส่งออก เป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขและขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไปภายในปี 2558 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า หลังจากพบว่าเกษตรกรมีรายได้ดีกว่าทำนาข้าวหรือปลูกพืชชนิดอื่นอย่างเทียบกันไม่ได้

ตามรายงานของ NAFRIL การลงทุนของนักลงทุนจีน ไทยและเวียดนาม มีทั้งในรูปแบบเช่าที่ดิน 30 ปีทำสวนยางโดยตรงซึ่งมีการจ้างแรงงานในท้องถิ่น กับ อีกอย่างหนึ่งเป็นเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) โดยส่งเสริมในเกษตรกรลาวปลูกยางในที่ดินของตนเอง ผู้ลงทุนรับซื้อผลผลิตในราคาประกัน

ตามตัวเลขกลางปีที่แล้วเกษตรกรลาวที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้ปีละ 6,000-8,000 ดอลลาร์จากสวนยาง 1 เฮกตาร์ (6.25 ไร่) เป็นรายได้ที่ดีกว่าพืชเศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งจากการท่องเที่ยวด้วย
<bR><FONT color=#cc00cc>เครื่องจักรกำลังทำงานในสวนยางของบริษัทหว่างแอง-ซยาลาย (Hoang Anh-Gia Lai) ในแขวงอัตตะปือของลาว ต้นยางในแปลงที่อยู่เบื้องหลังจะเริ่มให้น้ำยางได้ในปีหน้าและกำลังจะมีการสร้างโรงงงานแปรรูปขึ้นมาดำเนินการ </FONT></bR>
ในปี 2549 เกษตรกรลาวผลิตยางได้ 1,360 กก.ต่อเฮกตาร์ ทำกำไรให้ประมาณ 800 ดอลลาร์ เทียบกับการทำนาซึ่งได้ข้าว 1,500 กก.ต่อเฮกตาร์ และ มีกำไรเพียง 146 ดอลลาร์ NAFRIL กล่าว

เมื่อปีที่แล้วกลุ่มหว่างแอง-ซยาลาย หรือ HAGL (Hoang Anh-Gia Lai) บริษัทลงทุนขนาดใหญ่จากเดวียดนาม ซึ่งเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลชื่อดัง ได้รับอนุญาตให้เข้าจับจองพื้นที่ในสามแขวงภาคใต้ ทำสวนยางนับแสนไร่

ตามรายงานของสำนักข่าวทางการ HAGL จะเริ่มสร้างโรงงานผลิตยางพาราในภาคใต้ปีหน้านี้ เมื่อเกษตรกรในท้องถิ่นเริ่มกรีดยางได้

เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกซึ่งเริ่มปีที่แล้ว ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางพาราในอนุภูมิภาคนี้ซวนเซไปชั่วขณะ แต่ราคาเริ่มโงหัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ไตรมาสที่สามปีนี้เป็นต้นมา ทำให้ผู้ผลิตยางมีกำลังใจ รวมทั้งในกัมพูชาและพม่า ซึ่งรายหลังนี้เพิ่งจะมีพื้นที่สวนยางเพียงประมาณ 3 ล้านไร่

จีนยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุดและนำเข้ายางจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่อั้น โดยผ่านการค้าข้ามพรมแดนทางภาคเหนือ สำหรับลาวและพม่า

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากมองในระยะยาวความต้องการยางพาราในตลาดโลกไม่มีทางลด มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีแนวโน้มว่าภายในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าความต้องการจะพุ่งขึ้นเป็นกว่า 31 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะต้องขยายพื้นที่ปลูกแต่บัดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น