xs
xsm
sm
md
lg

เขมรมีสายการบินแห่งชาติ (อีกครั้งหนึ่ง) แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#cc00cc>สายการบินลูกครึ่งแห่งชาติ-- ภาพเอเอฟพีวันที่ 27 ก.ค.2552 นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสมเด็จฯ ฮุนเซน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล เข้าร่วมในพิธีเปิดสายการบินแห่งชาติสายใหม่เอี่ยมในกรุงพนมเปญ สายการบินเวียดนามแอร์ไลนส์ถือหุ้นใหญ่ในสายการบินแห่งชาติแห่งแรกของกัมพูชาในรอบ 8 ปี ด้วยเงินลงทุนราว 100 ล้านดอลลาร์.</FONT></bR>

ASTVผู้จัดการรายวัน -- สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ทำพิธีเปิดสายการบินแห่งชาติในวันจันทร์ (27 ก.ค.) ที่ผ่านมา ที่ท่าอากาศยานโปเจินตง ในกรุงพนมเปญ โดยมีบรรดารัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก

สายการบินแคมโบเดียอังกอร์ (Cambodia Angkor) เปิดดำเนินการ โดยการร่วมมือช่วยเหลือของสายการบินเวียดนามแอร์ไลนส์ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลัก แต่ถือหุ้นส่วนน้อย 49% และ บริษัทร่วมทุนในกัมพูชา ถือหุ้นส่วนใหญ่ 51% ทำให้มีสายการบินแห่งชาติเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากล้มหายไปตั้งแต่ปี 2544

พิธีเซ็นความตกลงร่วมทุนก่อตั้งสายการบินใหม่นี้มีขึ้นในวันอาทิตย์ ระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงรัฐบาลเวียดนาม ที่นำโดย นายเจื่องหวีงจ่อง (Truong Vinh Trong) กรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์ รองนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบแห่งรัฐ

นายโสกอาน (Sok An) รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้ กล่าวว่า สายการบินเวียดนามแอร์ไลนส์ จะได้รับสิทธิ์ในการร่วมเป็นเจ้าของสายการบินแห่งชาติกัมพูชาเป็นเวลา 30 ปี ด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์

นายโสกอาน ยังกล่าวอีกว่า การก่อตั้งสายการบินขึ้นมาท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจแสดงให้เห็นความมั่นใจต่อการลงทุนในกัมพูชาของฝ่ายเวียดนาม และสายการบินแห่งใหม่นี้จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ

ส่วนสมเด็จฯ ฮุนเซน กล่าวหลังพิธีเซ็นสัญญาร่วมทุนเมื่อวันอาทิตย์ ว่า ตนเองได้บอกย้ำกับสายการบินแห่งใหม่ให้เคร่งครัดในเรื่องการบริหารจัดการและความปลอดภัยของนักเดินทางทุกคน

ธุรกิจการบินของกัมพูชาเสื่อมถอยลง หลังจากอุบัติเหตุเครื่องบินเอเอ็น24 (AN24) ของสายการบินพีเอ็มทีแอร์ (PMT Air) บินชนภูเขาในภาคใต้ของประเทศ ในปี 2550 ขณะจะลงจอดที่สนามบินเมืองสีหนุวิลล์ ผู้โดยสารและลูกเรือรวม 22 คนเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวเกาหลี ที่ไปท่องเที่ยวช่วงวันหยุด

เครื่องบินชะตาขาดบินจากท่าอากาศยานเสียมราฐอังกอร์ ไปยัง จ.พระสีหนุ ท่ามกลางพายุฝนฟ้าคะนอง จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสาเหตุของโศกนาฏกรรม
<br><FONT color=#cc00cc>กลับมาอีกครั้ง-- ภาพเอเอฟพีวันที่ 27 ก.ค.2552 เจ้าหน้าที่สารวัตรทหารเฝ้าระวังความปลอดภัยใกล้ๆ เครื่องบินโดบสาร ATR72-500 สายการบินแคมโบเดียอังกอร์ (Cambodia Angkor) สายการบินแห่งชาติสายใหม่ของกัมพูชาที่เวียดนามแอร์ไลนส์ถือหุ้น 49% ด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์ กัมพูชาไม่มีสายการบินแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2544.   </FONT></bR>
เมื่อปีที่แล้วสหภาพยุโรปประกาศห้ามเครื่องบินของสายการบินเสียมราฐแอร์เวย์ส ขึ้นบินโดยระบุว่า ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งทำให้ไม่มีสายการบินในประเทศเหลืออยู่อีก

จนถึงปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชา ยังไม่อนุมัติให้สายการบินอื่นใดบินเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองเสียมราฐ อันเป็นปลายทางท่องเที่ยวหลัก นอกจากบางกอกแอร์เวย์ส ของไทย ขณะที่การบินไทย ได้รับอนุญาตให้บินเส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ เท่านั้น

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดทางทหารกับไทย ตามแนวชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร ได้ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ากัมพูชาลดลงน่าใจหาย เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังเดินทางผ่านประเทศไทย ทั้งทางบกและทางอากาศ

อย่างไรก็ตาม นายทองคูน (Thong Khon) รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ เชื่อมั่นว่า การท่องเที่ยวที่เคยทำรายให้กับประเทศมากเป็นอันดับสอง รองจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะขยายตัว 2-3% ในปีนี้ หลังจากช่วงครึ่งแรกของปีมีการขยายตัว 1%

ตามตัวเลขของทางการปีที่แล้ว มีนักเดินทางเข้ากัมพูชาเกือบ 2.1 ล้านคน แต่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น