ASTVผู้จัดการออนไลน์ — ทางการพม่าเพิ่งออกข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากนิ่งเงียบมาหลายวัน นับตั้งแต่พระเจดีย์ตะนก (Danok) ในเขตนอกกรุงย่างกุ้ง พังครืนลงมา เพียงสองวันหลังจาก พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย กับ “สตรีหมายเลข 1” นางจายจ่าย (Kyaing Khyaing) ได้ไปทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ท่ามกลางข่าวเล่าลือที่ว่า ผู้นำสูงสุดรู้สึกหวาดวิตกในเรื่องนี้ ขณะที่โหราจารย์ ชี้ เป็นลางร้าย คณะปกครองทหารอาจถึงกับต้องลงจากอำนาจ
ทางการได้สั่งห้ามพระสงฆ์ในวัดใกล้เคียงทุกแห่งออกบิณฑบาต แต่ให้เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นจัดภัตตาหารไปถวายถึงวัด ทั้งกำชับให้ราษฎรผู้เห็นเหตุการณ์ ไม่ให้แพร่งพรายเรื่องราวที่พบเห็นแก่บุคคลนอกพื้นที่ ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษหนักทั้งครอบครัว ทั้งนี้ เป็นรายงานของสำนักข่าวดีวีบี (Democratic Voice of Myanmar)
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาล รายงานเรื่องนี้เป็นครั้งแรกวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 30 พ.ค.โดยโยนความผิดให้กับการก่อสร้างบูรณะอันเร่งรีบ เพื่อให้เสร็จทันก่อนฤดูมรสุมจะมาถึง
พระเจดีย์ตะนก ความสูง 120 ฟุต เก่าแก่อายุหลายร้อยปี ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง แต่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ตอนที่ไซโคลนนาร์กีสพัดเข้าถล่มเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ย่างกุ้งกับเขตพะโค ในต้นเดือน พ.ค.2551 และมาพังถล่มราบในปลายเดือนเดียวกันของปีนี้
นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตเพียง 2 คนกับ 34 คน ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ที่พระเจดีย์ใหญ่ทรงระฆังคว่ำ พังลงมากลายสภาพเป็นกองพะเนินความสูงประมาณ 50 ฟุต ซึ่งขัดแย้งกันกับตัวเลขจากคำบอกเล่าของราษฎรในท้องถิ่น
สำนักข่าวอิรวดีรายงานอ้างคำบอกเล่าของราษฎรในท้องถิ่นที่เห็นเหตุการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล 2 คน คนอื่นๆ เสียชีวิต เพราะถูกซากหักพังทับอยู่ข้างล่าง เชื่อว่า จะมีผู้เคราะห์ร้ายในเหตุการณ์นี้ราว 20 คน ยังไม่นับคนเจ็บอีกหลายสิบ แต่ทางการได้สั่งปิดปากสมาชิกครอบครัวของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ให้แพร่งพรายข้อมูลใดๆ
ทางการพม่าไม่พอใจหลังจากสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งออกรายงานเรื่องนี้ พร้อมแสดงรูปภาพประกอบทางการได้สั่งปิดทั่วอาณาบริเวณที่จะเข้าไปยังพระเจดีย์แห่งนั้น ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.เป็นต้นมา อิรวดี กล่าว
โหราจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพม่าที่ไม่สามารถให้ออกนามได้กล่าวกับอิรวดี ว่า การพังทลายขององค์พระเจดีย์เก่าแก่เป็นลางร้าย ที่เตือนล่วงหน้าว่า คณะปกครองทหารอาจจะต้องสูญเสียอำนาจลงเร็วๆ นี้ ราษฎรในท้องถิ่น อ้างว่า ในคืนวันเกิดเหตุได้เห็นลำแสงสีแดงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าบนจากฐานพระเจดีย์ที่พังทลาย เป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในแผ่นดิน
พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย กับภริยา ได้ไปที่นั่นในวันที่ 28 พ.ค.เพื่อทำพิธีบวงสรวงและยกยอดฉัตรขององค์พระเจดีย์ ซึ่งเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ แต่เพียงแค่สองวันถัดมาพระเจดีย์ทั้งองค์ก็ได้พังลงทับวิหารทางทิศเหนือของวัด
สำนักข่าวดีวีบี ได้รายงานเพิ่มเติมอ้างข่าวจากเมืองดาลา (Dala) ที่อยู่ใกล้เคียงว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 คนในเหตุการณ์ ขณะที่ราษฎรในหมู่บ้านที่เกิดเหตุกล่าวว่า วันที่ 4 มิ.ย.เพียงวันเดียว เห็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยลากศพทหารที่เสียชีวิตออกจากซากหักพังถึง 8 คน
การกู้ภัยดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.แต่เต็มไปด้วยความลำบาก เนื่องจากซากอิฐซากปูนน้ำหนักหลายตันจากองค์พระเจดีย์ทับซ้อนหลายชั้น และไม่มีเครื่องจักรเครื่องกลไปช่วย ที่นั่นอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งราว 40 กม.ในท้องถิ่นที่ค่อนข้างทุรกันดาร
จนถึงวันนี้ ทั่วทั้งอาณาบริเวณได้มีการจัดเวรยามรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ห้ามผู้ใดเข้าออกอย่างเด็ดขาด ครอบครัวของผู้เสียชีวิตถูกจับตาอย่างใกล้ชิด ฝ่ายทหารแจ้งให้ทราบว่าผู้ที่แพร่งพรายข่าวสารใดๆ ออกไปจากอาณาบริเวณ จะมีโทษจำคุกถึง 5 ปี ดีวีบีกล่าว
สำนักข่าวแห่งนี้เป็นขององค์การชาวพม่าพลัดถิ่นที่ไม่ลงรอยกับรัฐบาลทหาร มีที่ตั้งอยู่ในประเทศนอร์เวย์ แพร่ภาพออกอากาศทั้งวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ที่ผ่านมามีผลงานที่น่าเชื่อถือหลายชิ้น และมีภาพจากภายในพม่าออกมาเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ
ในสัปดาห์ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่การไต่สวนดำเนินคดีนางององซานซูจี กำลังเข้มงวด ดีวีบีได้นำภาพทหารตำรวจหลายร้อยนายออกตั้งด่านตรวจและรักษาการณ์ตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงย่างกุ้ง
วันถัดมาสำนักข่าวแห่งเดียวกันนี้ได้เผยแพร่ภาพตำรวจนอกเครื่องแบบ กรูเข้าจับกุมผู้ประท้วงเดี่ยวคนหนึ่ง ที่ไปนั่งบริเวณหน้าเรือนจำอิงเส่ง (Insein) พร้อมป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยตัว นางอองซานซูจี ทั้งหมดล้วนเป็นภาพที่สำนักข่าวต่างประเทศแห่งต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้