xs
xsm
sm
md
lg

ฉันทนาเริ่มดี๊ด๊าเขมรทยอยเปิดโรงงานรับสัญญาณฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#cc00> ภาพเอเอฟพีวันที่ 1 พ.ค.2552 คนงานหญิงหลายพันตบเท้าลงท้องถนนกรุงพนมเปญร่วมฉลองวัน เมย์เดย์ พนักงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกเป็นกำลังแรงงานหลักของประเทศ สามเดือนแรกของปีนี้ถูกเลิกจ้างไปกว่า 20,000 คนอันเป็นผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก  ไตรมาสที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวลางๆ </FONT></br>

ASTVผู้จัดการรายวัน-- อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกของกัมพูชาซึ่งเคยนำหน้านำรายได้เข้าประเทศ ได้เริ่มเคลื่อนทางบวกอย่างคึกคักหลังซบเซาอย่างหนักมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทางการเปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปีนี้มีการเปิดโรงงานใหม่ถึง 19 แห่ง

โรงงานใหม่ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ในย่านรอบนอกกรุงพนมเปญ กำลังจะจ้างแรงงานกลับเข้าสู่อุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง 6,069 คน หลังจากมีการปิดไป 46 แห่งและคนงานว่างงานลงถึง 21,400 คนในช่วง 3 เดือนแรกของปี ซึ่งเป็นช่วงเดือนวิกฤติที่สุด ทั้งนี้เป็นรายงานของกระทรวงแรงงานกัมพูชา

"เราขอต้อนรับการเปิดใหม่ของโรงงานทั้ง 19 แห่งด้วยความยินดี.." นายอูมเมียน (Oum Mean) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานกล่าวกับหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ฉบับวันพุธ (27 พ.ค.)

อย่างไรก็ตามนายบุญวาร (Bun Var) ผู้จัดการของโรงงานเปิดใหม่แห่งหนึ่งกล่าวว่า ที่นั่นจะจ้างแรงงานราว 1,600 คน แต่อนาคตก็ยังไม่แน่นอน สภาพเศรษฐกิจโลกตอนนี้ยังยากที่จะคาดเดาล่วงหน้า

สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าแห่งกัมพูชาหรือ GMAC (Garment Manufacturers Association of Cambodia) อุตสาหกรรมนี้ผ่านอุปสรรคมามาก แต่ก็ยังจะต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าการหาผู้ลงทุนใหม่ๆ จะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ

ตามตัวเลขของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในไตรมาสแรกหดลงกว่า 35% การส่งออกไปสหรัฐฯ เลวร้ายที่สุด คือลดลงถึง 47% เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปลดลง 22% แคนาดาอีก 21%

แต่ผู้คนวงในเริ่มกล่าวกันว่า อุตสาหกรรมนี้กำลังจะฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง และจะเริ่มขยายตัวช้าๆ ตั้งแต่ปลายปีนี้ พร้อมกับสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และในปีข้างหน้าจะฟู่ฟ่าสุดขีด กัมพูชาจะกลายเป็นศูนย์กลางผลิตเสื้อผ้าส่งออกขนาดใหญ่ เมื่อนักลงทุนที่ถอนจากจีนทยอยกันเข้าไป

จนถึงปีที่แล้วการ์เม้นต์ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผลิตสินค้าที่ทำรายได้มากเป็นอันดับหนึ่ง ตัวเลขของ Economist Intelligence Unit บริษัทแม่ของกลุ่มนิตยสารข่าว The Economist เมื่อต้นปีนี้ระบุว่า รายได้จากอุตสาหกรรมนี้ในกัมพูชามีมูลค่ากว่า 70% ของการส่งทั้งหมดเมื่อปี 2550
<br><FONT color=#cc00> ภาพเอเอฟพีวันที่ 1 พ.ค.2552 ขบวนทัพของคนงานในกัมพูชาร่วมฉลองวันเมย์เดย์ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในประเทศนี้่เคยจ้างแรงงาน 300,000-350,000 คน </FONT></br>
ตามตัวเลขของ GMAC ในช่วงที่เฟื่องฟูสุดขีด โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกเคยจ้างงานระหว่าง 300,000-350,000 คน

ไตรมาสเดียวกันการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่า 279 ล้านดอลลาร์ ยอดซื้อจากอียูกับแคนาดามีมูลค่า 124 ล้านกับ 39 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ

รายงานยังระบุว่า ยอดส่งออกเสื้อผ้าลดลงทุกเดือนคือ ลด 19% ในเดือน ม.ค. 23% ในเดือน ก.พ. และดิ่งลงเป็น 60% ในเดือน มี.ค. ส่งสัญญาณให้เห็นว่านั่นอาจจะเป็นจุดเลวร้ายที่สุดแล้ว

แต่ช่วงเดียวกันนี้มีสัญญาณที่ดี ยอดส่งออกเสื้อผ้าไปญี่ปุ่นขยายตัวถึง 14% ตลาดอื่นๆ คือตะวันออกกลางกับรัสเซียขยายตัว 61% อันเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและส่งออกในกัมพูชาแสวงหามาตั้งปลายปี 2551 เมื่อเริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ

ยังไม่มีตัวเลขส่งออกในเดือน เม.ย.ขณะนี้ แต่วงในอุตสาหกรรมเริ่มพูดกันว่า วิกฤติที่เลวร้ายสุดอาจจะผ่านไปแล้ว ขณะเดียวกันตัวเลขในสหรัฐฯ ก็บ่งชี้ว่ายอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มขยายตัวทีละนิดๆ ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. และ คนในวงในเชื่อว่ายอดส่งออกเดือน มิ.ย.นี้ จะดีขึ้นมาก แม้ข้อบ่งชี้ต่างๆ จะยังไม่ชัดเจนก็ตาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น