ย่างกุ้ง (AFP) -- ทางการทหารพม่าเริ่มไต่ส่วนคดีนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านตอนสายวันจันทร์ (18 พ.ค.) นี้ ภายในเรือนจำอิงเส่ง (Insein) กรุงย่างกุ้ง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ทางการห้ามนักการทูตจากตะวันตกเข้ารับฟังการไต่สวนครั้งนี้
ผู้สนับสนุน นางซูจี หลายสิบคนไปชุมนุมกันในบริเวณใกล้กับเรือนจำแห่งนั้น เพื่อขอเข้าไปรับฟังการไต่สวน เช่นเดียวกัน แต่ตำรวจปราบจลาจลได้นำลวดหนามวางกั้นถนนทุกสายที่มุ่งไปยังเรือนจำแห่งนั้น
คณะปกครองทหารพม่า เอาหูทวนลมเสียงประณามแบบพายุบุแคมจากทั่วโลก ดำเนินคดีผู้นำฝ่ายค้านวัย 63 ปี ต่อไปในข้อหากระทำผิดต่อกฎระเบียบการกักบริเวณ ซึ่งอาจจะทำให้นางซูจี ถูกห้ามมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ อย่างสิ้นเชิงกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า
ผู้นำฝ่ายค้านในพม่าถูกจับกุมหลังจากชาวอเมริกันผู้หนึ่งว่ายน้ำข้ามบึงใหญ่เข้าไปยังบ้านพักเมื่อต้นเดือนนี้
“การไต่สวนเริ่มขึ้นแล้ว..” แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ทางการที่ไม่ให้ระบุชื่อกล่าวกับเอเอฟพี โดยไม่ยอมให้รายละเอียดใดๆ อีกเกี่ยวกับการไต่สวนที่ดำเนินการกันภายใน
นักการทูตตะวันตก กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ห้ามเอกอัครราชทูตจากกลุ่มสหภาพยุโรป คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และ อิตาลี ไม่ให้เข้าไปยังบริเวณเรือนจำ ขณะที่นักการทูตเหล่านั้นพยายามเข้าไปเพื่อรับฟังในฐานะประจักษ์พยานการไต่สวน
นายจอห์น วิลเลียม เยตทอว์ (John William Yeatthaw) ชาวอเมริกันวัย 53 ปี ว่ายน้ำไปยังบ้านพักของนางซูจี และพักอยู่ที่นั่นระหว่างวันที่ 3-5 พ.ค.ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนำตัวออกไป และยังไม่ทราบเจตนาของชายผู้นี้ แต่ทางการกำลังจะไต่สวนคดีของเขาเช่นเดียวกัน ในข้อหาละเมิดกฎระเบียบการตรวจคนเข้าเมือง
ผู้เห็นเหตุการณ์ กล่าวว่า ได้เห็นรถยนต์จากสถานทูตสหรัฐฯ คันหนึ่งวิ่งเข้าไปในเรือนจำอิงเส่งเมื่อวันจันทร์นี้ แต่ยังไม่สามารถขอการยืนยันจากเจ้าหน้าที่คนใดได้ และยังไม่ทราบว่า นายเยตทอว์ ได้รับความช่วยเหลือทางกงสุลจากสถานทูตหรือไม่
ทางการพม่าได้กักตัว นางซูจี ให้อยู่ในบ้านพักเป็นเวลารวมกันประมาณ 13 ปี ในช่วง 19 ปีมานี้ คำสั่งกักบริเวณครั้งล่าสุดซึ่งเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน กำลังจะครบกำหนดลงในวันที่ 27 พ.ค.นี้ และไม่มีผู้ใดให้คำตอบได้ว่าการไต่สวนคดีนางอองซานซูจี จะใช้เวลานานเท่าไร และผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังโหมการวิพากษ์วิจารณ์ และเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป กล่าวว่า อียูจะพิจารณาหามาตรการลงโทษพม่าให้แรงขึ้นไปอีก