ASTVผู้จัดการรายวัน-- บริษัทจีนแห่งหนึ่งจะเริ่มการสำรวจแนวเส้นทางรถไฟจากกรุงพนมเปญไปยังชายแดนเวียดนามระยะทาง 255 กิโลเมตร ซึ่งจีนให้คำมั่นจะช่วยกัมพูชาในการก่อสร้าง ช่วงดังกล่าวเป็นส่วนที่ยังขาดไปในแผนการเชื่อมการขนส่งระบบรางจากสิงคโปร์ไปยังมณฑลหยุนหนันทางตะวันตกเฉียงใต้ของแผ่นดินใหญ่จีน
ตามรายงานของสำนักข่าวเอเคพี (Agence Kampuchean-Presse) จีนได้ให้งบประมาณ 20 ล้านหยวน หรือประมาณ 300,000 ดอลลาร์ เพื่อการสำรวจและออกแบบทางวิศกรรมศาสตร์เส้นทางรถไฟช่วงดังกล่าว ซึ่งจะลากยาวไปยังชายแดน จ.สวายเรียง (Svay Rieng) ของกัมพูชา กับ จ.ไตนีง (Tay Ninh) ติดนครโฮจิมินห์ในภาคใต้เวียดนาม
รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศเมื่อปีที่แล้วจะเริ่มสำรวจและก่อสร้างทางรถไฟจากโฮจิมินห์ไปบรรจบกับทางรถไฟของฝ่ายกัมพูชาที่ด่านชายแดนเหลิกนีง (Loc Ninh) จ.ไตนีง เป็นระยะทางประมาณ 80 กม.เศษ
นายเอียงโสฟัลเล็ธ (Ieng Sophalleth) ผู้ช่วยของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเปิดเผยว่า นายหูเสียนเวิน (Hu Qianwen) กรรมการบริหารของสมาคมวิเทศสัมพันธ์สาธารณรัฐประชาชนจีนได้แจ้งเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณเพื่อการสำรวจทางรถไฟดังกล่าวให้ฝ่ายกัมพูชาทราบ ระหว่างเข้าเยี่ยมคำนับสมเด็จฯ ฮุนเซน ที่บ้านพัก อ.ตาขะเมา (Ta Khamao) จ.กันดาล (Kandal) สัปดาห์ที่แล้ว เอเคพีกล่าว
สมาคมวิเทศสัมพันธ์ประกอบด้วยอดีตทูต ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการเกษตร รวมทั้งผู้แทนของบริษัทลงทุนต่างๆ ในประเทศจีน ปัจจุบันมีสำนักงานใน 60 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับจีนสำนักข่าวของรัฐบาลกัมพูชากล่าว
อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ รายงานว่า เส้นทางรถไฟจะเริ่มต้นจากสถานีบั๊ตเดิง (Bat Deong) จ.กัมปงสะปือ (Kampong Speu) ไปยัง อ.สะนวล (Snuol) จ.กระแจ๊ะ (Kratie) เพื่อบรรจบชายแดนเวียดนามที่นั่น การสำรวจจะใช้งบประมาณทั้งหมด 2.5 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัท China Railway Group ของจีน ทั้งหมดเป็นเงินบริจาคของรัฐบาลจีน
นายสุขุม ภควันมุนี (Sokhom Pheakvanmony) ผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจรถไฟกัมพูชา (Royal Railway of Cambodia) เปิดเผยกับพนมเปญโพสต์ในวันอาทิตย์ (10 พ.ค.) ว่า เมื่อการสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จในอีก 18-24 เดือนข้างหน้า
เชื่อว่าการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้อาจจะต้องใช้เงินลงทุนถึง 700 ล้านดอลลาร์ โดยกัมพูชาหวังว่ารัฐบาลจีนจะให้การสนับสนุนทั้งในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและเงินให้เปล่า
"เราหวังว่าบริษัทไชน่าเรลเวย์กรู๊ปจะเริ่มการสำรวจในเร็วๆ นี้" นายภควันมุนีกล่าว
ปัจจุบันประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนล้วนมีทางรถไฟในแต่ละประเทศ จนครบทั้งหมดแล้วยกเว้นเพียงกัมพูชาที่จะต้องก่อสร้างส่วนที่ยังขาดอยู่
ปัจจุบันกัมพูชามีทางรถไฟ 2 สาย คือสายใต้ระหว่างกรุงพนมเปญกับเมืองท่าสีหนุวิลล์ ริมฝั่งทะเลอ่าวไทย ใน จ.พระสีหนุ (Preah Sihanouk) ระยะทาง 264 กม. กับสายตะวันตกระหว่างพนมเปญกับ จ.บ้านใต้มีชัย (Banteay Mean Chey) ซึ่งเป็นช่วงยาว 264 กม. ทั้งหมดสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคฝรั่งเศสปกครองและมีสภาพที่ทรุดโทรม
สื่อในกัมพูชารายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาข้อเสนอของบริษัท Australia Toll Holdings จากออสเตรเลีย เพื่อลงทุนเข้าฟื้นฟูบูรณะเส้นทางรถไฟในกัมพูชาตลอดสายภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อปี 2550 ธนาคารพัฒนาเอเชียได้อนุมัติเงิน 65 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยรัฐบาลกัมพูชาฟื้นฟูและพัฒนาทางรถไฟที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การพัฒนาเริ่มขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้ว
เมื่อปี 2543 กลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับ รัฐบาลจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ได้ร่วมกันลงนามในความตกลงฉบับหนึ่งเพื่อดำเนินการเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางจากสิงคโปร์ไปยังเมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน รวมระยะทาง 5,513 กม.ซึ่งจะพาดผ่านมาเลเซีย ไทย กัมพูชา ลาวและเวียดนาม
ผู้เชี่ยวชาญประมาณว่า การดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องมีการฟื้นฟูบูรณะและก่อสร้างเพิ่มเติมช่วงที่อยู่ในกัมพูชากับช่วงชายแดนเวียดนาม อาจจะต้องใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์
ในกัมพูชายังมีทางรถไฟที่ขาดหายไปอีกช่วงหนึ่ง คือ ระหว่าง อ.ปอยเปต กับ อ.ศรีโสภณ จ.บ้านใต้มีชัย ซึ่งชำรุดจนใช้การไม่ได้ตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมือง โดยรัฐบาลมาเลเซียได้บริจาครางรถไฟเก่าให้แก่รัฐบาลกัมพูชา เพื่อใช้ในการก่อสร้างและส่งมอบให้ทั้งหมดแล้วตั้งแต่ต้นปี 2550
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนช่วยเหลือก่อสร้างทางรถไฟช่วงยาวพนมเปญ-เวียดนาม ตั้งแต่ปี 2549 ซ่างจีนได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทอย่างสูงในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในประทศนี้พร้อมๆ กับการลงทุนจากจีนที่เพิ่มขึ้นนำหน้าชาติอื่นๆ แบบก้าวกระโดด
รัฐบาลจีนได้ให้เงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำแก่กัมพูชา สร้างทางหลวงเลข 7 ความยาวกว่า 400 กม.จาก จ.กระแจ๊ะ ไปยัง จ.สตึงแตร็ง (Stung Treng) ติดชายแดนลาว ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้การอย่างเป็นทางการได้ในปี 2553
ขณะเดียวกันทางการลาวได้ก่อสร้างส่วนต่อขยายทางหลวงเลข 13 ใต้ไปเชื่อมกับทางหลวงของกัมพูชา ที่ชายแดนแขวงจำปาสัก-จ.สตึงแตร็ง ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ในการเดินทางขนส่งไปจนถึงชายแดนจีนในอนาคต
นางโสฟัลเล็ธ ผู้ช่วยของสมเด็จฯ ฮุนเซนเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจีนตกลงช่วยกัมพูชาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย การฟื้นฟูและก่อสร้างระบบชลประทานเพื่อการพัฒนาภาคการเกษตร การก่อสร้างถนน ท่าเรือ รวมทั้งทางรถไฟ
บริษัทเซี่ยงไฮ้คอนสตรักชันของจีนได้เริ่มก่อสร้างทางหลวงเลข 7 มาตั้งแต่ปี 2549 และ รัฐบาลจีนยังให้คำมั่นจะช่วยกัมพูชาสร้างทางหลวงเลข 8 อีกสายหนึ่งด้วย โดยได้สำรวจศึกษามาตั้งแต่ต้นปี 2550
ขณะเดียวกันบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่จากจีนกำลังก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างน้อย 3 แห่งในกัมพูชา และอยู่ระหว่างการสำรวจอีก 3-4 แห่ง รวมทั้งเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมทั้งกำลังสำรวจโครงการเหมืองแร่อีกจำนวนหนึ่ง.