ผู้จัดการ 360 ํรายสัปดาห์ -- ชื่อ “อินเทลเวียดนาม” (Intel Vietnam) กำลังมีความหมายอย่างสำคัญ ไม่เพียงแต่บริษัทนี้กำลังจะใช้เวียดนามเป็นฐานในการผลิตชิป และแผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ (integrated circuit) ที่ใช้เทคโนโลยีสูง เพื่อส่งออกสู่ตลาดเอเชียและทั่วทั้งโลกเท่านั้น เวียดนามอาจจะกลายเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
การเยือนเวียดนามของประธานของอินเทลคอร์ป (Intel Corporation) นายเครก บาร์เร็ต (Craig Barrett) ระหว่างวันที่ 10-11 เม.ย.ที่ผ่านมา อาจจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมในเรื่องนี้
ดร.บาเร็ต ได้รับการต้อนรับจากนายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงเวียดนามอีกหลายนาย รวมทั้งรองประธานรัฐสภา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีศึกษาธิการและฝึกอบรม รัฐมนตรีกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม ตลอดจนผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งนครโฮจิมินห์ด้วย
ไม่เพียงแต่เป็นการไปตรวจเยี่ยมดูความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ กับเยี่ยมเยือนพนักงานของอินเทลกว่า 100 คน เท่านั้น แต่ภารกิจสำคัญของ ดร.บาร์เร็ต ยังรวมทั้งการประกาศให้ตลาดไอทีทั้งโลกได้รับรู้ว่า เวียดนามกำลังจะเป็นศูนย์ผลิตชิปและอุปกรณ์ไอทีใหญ่ที่สุดของบริษัท
ในนครโฮจิมินห์ ประธานของอินเทลได้มอบทุนการศึกษารวม 40 ล้านดอลลาร์ ให้แก่นักศึกษาเวียดนามจำนวน 40 คนแรก เพื่อให้ไปเรียนต่อทั้งระดับปริญญาตรีและโทด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และไอทีที่มหาวิทยาลัยแห่งพอร์ตแลนด์ มลรัฐโอเรกอน ทั้งหมดจะได้กลับไปทำงานกับอินเทลเวียดนามในอีก 2 ปีข้างหน้า
นักศึกษาทั้งหมดผ่านการคัดเลือกจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีจำนวน 6 แห่งในโฮจิมินห์ กรุงฮานอย และนครด่าหนัง
ในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร Vietnam Investment Review ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในสัปดาห์ปลายเดือน เม.ย. ดร.บาเร็ต กล่าวว่า เวียดนามจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาการศึกษาของประเทศ ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันทุกวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต
ประธานอินเทลคอร์ป ยังกล่าวด้วยว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เวียดนามควรจะเลิกความคิด “ผลิตในเวียดนาม” (Made in Vietnam) และเปลี่ยนไปใช้แนวคิดใหม่ภายใต้วลีที่ว่า “รังสรรค์ขึ้นในเวียดนาม” หรือ Created in Vietnam แทนที่ เพราะว่านี่คือหนทางในการพัฒนาและก้าวฝ่าข้ามความล้าหลังที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเคยใช้มาก่อน รวมทั้งญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และฮ่องกง ในทวีปเอเชียด้วย
สำหรับเวียดนาม ดร.บาร์เร็ต ยืนยันว่า อินเทลมีแผนการลงทุนระยะยาวที่ชัดเจน จึงไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระยะกึ่งกลางเท่านั้น
การลงทุนในช่วงวิกฤตจะทำให้เวียดนามได้เปรียบในช่วงปี 2553-2554 เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้ว และการผลิตของโรงงานอินเทลในเวียดนามก็จะก้าวทะยานไปข้างหน้า วันนั้นบรรดาผู้ผลิตที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของอินเทลก็จะเริ่มเข้าเวียดนามอีกระลอก
คำให้สัมภาษณ์ของ ดร.บาร์เร็ต เป็นการฉายภาพกว้างให้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่ออินเทลเริ่มผลิตชิปออกป้อนตลาดในต้นปี 2553 นี้
ใกล้ตัวที่สุด ก็คือ ในวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้บริหารของอินเทลในเวียดนามได้เซ็นความตกลงฉบับหนึ่งกับกระทรวงศึกษาธิการฯ โดยอินเทลจะร่วมกับผู้ผลิตในประเทศนี้ ผลิตโน้ตบุ๊ก ราคาถูกจำนวน 1 ล้านเครื่อง ให้แก่บรรดาครูอาจารย์ทั่วประเทศ อินเทลจะสนับสนุนชิ้นส่วนราคาถูกให้แก่ผู้ผลิตรายต่างๆ
นายเทินจ่องฟุก (Than Trong Phuc) ผู้อำนวยการใหญ่อินเทลเวียดนาม กล่าวว่า โน้ตบุ๊กที่ผลิตภายใต้โครงการความร่วมมือนี้จะมีราคาไม่เกิน 220 ดอลลาร์ต่อเครื่อง เมื่อรวมภาษีแล้ว และอินเทลยังจะจัดโครงการฝึกอบรมให้กับคุณครูทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการศึกษามีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีระดับสูงช่วยในการเรียนการสอน เพื่อสร้างคุณภาพใหม่ทางการศึกษา
ภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ ภายใน 1 ปี ครูผู้สอนทั่วประเทศจะได้รับโน้ตบุ๊กทุกคนพร้อมซอฟต์แวร์ใช้งาน รวมทั้งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยไวร์เลส โดยกระทรวงศึกษาธิการฯ สนับสนุนด้านสินเชื่อ นายฟุก กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการที่อินเทล เรียกว่า “การศึกษาเพื่อการเติบโต” (Educational Horizon for Growth) สำหรับเวียดนาม และเป็นส่วนหนึ่งในโครงการตอบแทนการลงทุนในประเทศนี้
ในเดือน ก.พ.2549 รัฐบาลเวียดนามได้ออกใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนให้แก่ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยยังไม่มีการเปิดเผยสิทธิประโยชน์ที่ประเทศนี้มอบให้ เพื่อแลกกับการตัดสินใจเลือกของอินเทล แทนที่จะเป็นอินเดีย หรือจีน รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ในครั้งนั้นอินเทลคอร์ปได้ประกาศแผนการลงทุนเป็นสองช่วงรวมเป็นมูลค่า 605 ล้านดอลลาร์ แต่ในเดือน พ.ย.ปีเดียวกัน เวียดนามได้ทำพิธีมอบประกาศนียบัตรและใบอนุญาตการลงทุนให้แก่ผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้มีการขยายการลงทุนเป็นประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ และ เป็นการลงทุนรวดเดียว
การก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นครโฮจิมินห์เริ่มขึ้นในปลายปีเดียวกัน และจะแล้วเสร็จตามกำหนดปลายปีนี้เพื่อเปิดสายพานผลิตต้นปีหน้า ประธานของอินเทล กล่าว
การเข้าสู่เวียดนามของอินเทลได้ทำให้ผู้ผลิตอิเลกทรอนิกส์รายใหญ่ต่างๆ ประกาศแผนเข้าตั้งโรงงานผลิตในเวียดนามกันครบถ้วนหน้า รวมทั้งกลุ่มฮนหาย (Hon Hai) กับ คอมพาล (Compal) จากไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเลกทรอนิกส์โออีเอ็ม (Original Enterprises Manufacturer) รายใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลก คอมพาลยังผลิตโน้ตบุ๊กให้กับแบรนด์ดังจำนวนมาก รวมทั้งคอมแพค (Compaq) กับไอบีเอ็มด้วย
ผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสองค่ายล้วนประกาศแผนการลงทุนในเวียดนามหลายพันล้านดอลลาร์ในช่วงปีข้างหน้า และแม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้ต้องชะลอการลงทุนชั่วขณะ แต่ก็เชื่อว่าการก่อสร้างโรงงานจะเริ่มขึ้นทันทีเมื่ออินเทลเริ่มผลิตและนำชิปออกสู่ตลาดในประเทศ
ตามรายงานในปี 2549 หลังจากการเซ็นสัญญาลงทุนเมื่อต้นปี อินเทลคอร์ปได้เซ็นความตกลงกับผู้ผลิตอิเลกทรอนิกส์ในเวียดนามจำนวน 14 บริษัท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาชิ้นส่วนโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์จำนวน 7 รายการ คือ ฮาร์ดดิสก์ ดีวีดีรีดเดอร์/ไรท์เตอร์ จอแอลซีดี แบตเตอรี พาวเวอร์ซัปพลาย เคสกับคีย์บอร์ด เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตเหล่านั้นสามารถประดิษฐ์สินค้าเป็นของตนเองออกป้อนตลาด
ชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านี้ล้วนใช้ชิปเป็นส่วนประกอบสำคัญแม้กระทั่งเคสที่ทันสมัยในยุคใหม่ก็ยังจะต้องใช้เช่นเดียวกัน
ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือของอินเทลเวียดนามจะทำให้ต้นทุนการผลิตของชิ้นส่วนเหล่านี้ลดลง ซึ่งผู้คนในอุตสาหกรรมกล่าวว่าจะทำให้โน้ตบุ๊กที่ผลิตในเวียดนามมีราคาถูกลง 30-35% ซึ่งจะส่งผลโดยตรงทำให้ยอดจำหกน่ายโน้ตบุ๊กในประเทศนี้เติบโตแบบก้าวกระโดด
แหล่งข่าววงในกล่าวว่า อินเทล ยังให้พันธะสัญญากับรัฐบาลเวียดนามในอีกหลายเรื่อง ที่ล้วนแต่มีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมไอที-คอมพิวเตอร์ กับอุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศนี้ ตราบเท่าที่โรงงานผลิตของอินเทลยังอยู่ที่นั่น