สิงคโปร์ (เอเอฟพี/รอยเตอร์) -- ผู้นำสิงคโปร์ นายลีเซียนลุง ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเร่งสร้างความปรองดองกับฝ่ายค้าน และเข้าร่วมกับโลกตะวันตก ชี้ กระแสการเมืองระหว่างประเทศเริ่มเปลี่ยน ถึงเวลาที่พม่าต้องรีบดำเนินการ
นายลี ได้บอกเรื่องนี้กับ พล.อ.เต็งเส่ง (Thein Sein) นายกรัฐมนตรีพม่า ที่ไปเยือนอย่างเป็นทางการวันที่ 17-18 มี.ค.ศกนี้ พร้อมทั้งระบุว่าจะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อช่วยเหลือพม่าฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
“ประเทศต่างๆ กำลังพันตูกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน และกำลังถามตัวเองว่าแบบไหนจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการปฏิบัติความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่นๆ” นายลี กล่าวระหว่างแสดงปาฐกถาเลี้ยงอาหารมื้อค่ำเป็นเกียรติแก่ผู้นำพม่า
ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี ผู้นำสิงคโปร์เรียกพม่าเป็น “เพื่อนเก่าแก่” ที่จะต้อง “พัฒนาและเจริญรุ่งเรือง”
“สภาพการณ์ของโลกกำลังเปลี่ยน คณะบริหารชุดใหม่ในสหรัฐฯ กำลังทบทวนสถานการณ์ระดับโลก และกำหนดยุทธศาสตร์กับความเร่งด่วนต่างๆ ในนโยบายการต่างประเทศใหม่สำหรับในอีก 4 ปีข้างหน้า” นายลี กล่าว
ผู้นำสิงคโปร์ กล่าวอีกว่า ค่ายยุโรปเองก็กำลังทบทวนนโยบายต่างประเทศเช่นเดียวกัน ขณะที่หลายประเทศกำลังขบคิดวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเผชิญหน้ากับเศรษฐกิจถดถอย
“เราหวังว่า พม่าจะฉวยเอาช่วงโอกาสนี้ในการกระทำอย่างจริงจังยิ่งขึ้นในการสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ และเข้าร่วมส่วนกับประชาคมระหว่างประเทศ” สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำกล่าวของ นายลี แห่งพรรคกิจประชาชน (People's Action Party) ที่บริหารประเทศมาตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2508
คณะทหารพม่าซึ่งปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2505 ปฏิเสธผลการเลือกตั้งปี 2533 ซึ่งพรรคฝ่ายค้าน ชนะอย่างท่วมท้น นอกจากนั้น ยังสั่งกักบริเวณนางอองซาน ซูจี ผู้นำสันนิบาติประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (NLD) ให้อยู่ในบ้านพัก เป็นเวลาส่วนใหญ่ในช่วงสองทศวรรษมานี้
ก่อนงานเลี้ยงจะเริ่มไม่กี่ชั่วโมงในสิงคโปร์ โฆษก NLD กล่าวในกรุงย่างกุ้ง ว่า ทางการพม่าได้คุมขังสมาชิกอีก 5 คนสัปดาห์ที่แล้วโดยยังไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นการจับกุมระลอกใหม่ขณะที่กำลังมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า ซึ่งชาติตะวันตก มองว่า เป็นอุบายกระชับอำนาจปกครองของฝ่ายทหาร
การเรียกร้องของผู้นำสิงคโปร์ ยังมีขึ้นในขณะที่ นายโอเจีย ควินตานา ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เรียกร้องให้พม่าปล่อยนักโทษการเมืองกว่า 2,100 คน และให้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น รวมทั้งให้พม่ายุติการกะเกนบังคับใช้แรงงานราษฎรอีกด้วย
หลายปีมานี้ สหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำการคว่ำบาตรพม่า รวมทั้งอายัดทรัพย์สินผู้นำกับเครือญาติ ตลอดจนผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิด ได้เรียกร้องให้กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ที่สิงคโปร์เป็นสมาชิกอยู่ด้วย เพิ่มความพยายามกดดันให้พม่าเร่งการปฏิรูปและให้มีความคืบหน้าทางการเมือง
แต่สิงคโปร์ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วย และขณะที่โลกตะวันตกตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับพม่า สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่ขาดแคลนแหล่งทรัพยากรต่างๆ ได้กลายเป็นแหล่งบริหารจัดการความร่ำรวยของพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่รำรวยด้วยทรัพยากร
ผู้นำสิงคโปร์ได้เรียกร้องให้ผู้นำพม่า ดำเนินการให้มี “สภาวะแวดล้อมที่มีเสถียรภาพเพื่อการประกอบการของนักธุรกิจ และ ดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการขจัดอุปสรรคกีดกันต่างๆ ตลอดจนความอืดอาดล่าช้าในระบบราชการ”
ฝ่ายตรงข้ามกล่าวว่า คณะปกครองทหารได้ทำให้พม่าที่เคยเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” กลายเป็นประเทศยากจนที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แต่รัฐบาลทหาร กล่าวว่า กำลังดำเนินการตามขั้นตอนไปสู่ประชาธิปไตย และปฏิเสธที่จะทำการปฏิรูปอื่นใดอีก