ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- เจ้าชายนโรดมสุธาฤทธิ์ (Norodom Sothearidh) หรือ “เจ้าชายน้อย” ได้ออกมาปรากฏพระโฉมต่อชาวโลกอย่างเต็มภาคภูมิครั้งแรก หลังจากที่ทรงระหกระเหินไปอยู่ต่างแดนนานถึง 2 ปี เนื่องจากพระบิดา คือ กรมพระนโรดมรณฤทธิ์ ถูกการบ้านและการเมืองรุมเร้า
สถานการณ์เปลี่ยนไปปลายปีที่แล้ว เมื่อพระบิดาได้รับพระราชทานอภัยโทษหลุดพ้นคดีต่างๆ และต่อมาในเดือน ม.ค.ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นประธานสภาองคมนตรี ที่ปรึกษาสูงสุดในพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา
จากห้องพักแคบๆ กับคอนโดรังหนูในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และบ้านหลังเล็กของคุณตาคุณยายในเมืองเสียมราฐ เจ้าชายน้อยมีโอกาสได้เข้าพระราชวังเขมรินทร์เป็นครั้งแรก พร้อมกับหม่อมอู๊กฟัลลา (Ouk Phalla) มารดา
เจ้าชายสุธาฤทธิ์ ออกปรากฏตัวในงานเลี้ยงรับรองในกรุงปักกิ่ง ร่วมกับพระบิดา ซึ่งก็คือ พระโอรสพระองค์หนึ่งในสมเด็จนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์ และเป็น “น้องชาย” ต่างพระมารดากับองค์พระประมุขในปัจจุบัน เจ้าชายน้อยจึงเป็นรัชทายาทแห่ง “ราชวงศ์นโรดม” ที่มองเห็นได้
ในงานเลี้ยงรับรองเจ้าชายน้อยได้ปรากฏตัวกับสมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชา กับ อดีตพระราชินีมุณีนาถโมนิค (Monineath Monique) ในบรรยากาศที่ทั้งสมเด็จปู่และสมเด็จย่า ทรงมีพระเมตตา และทรงรักใคร่หลานคนเล็ก และแวดล้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพที่ยังไม่เคยมีการเผยแพร่มาก่อนในช่วงหลายปีมานี้
เชื่อกันว่า งานเลี้ยงจัดขึ้นในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากกรมพระรณฤทธิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาองคมนตรีและประกาศวางมือจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง
สถานที่จัดงาน คือ พระตำหนักในกรุงปักกิ่ง ซึ่งรัฐบาลจีนได้จัดไว้รับรองอดีตพระประมุขแห่งกัมพูชา นัยว่าเป็นการตอบแทนสำหรับไมตรีอันดี ทำให้สองประเทศมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นและล่ำลึกในยุคสงครามเย็น
เจ้าชายน้อยประสูติ เมื่อ 2548 ปีที่การเมืองในประเทศกำลังยุ่งเหยิง ความสัมพันธ์ระหว่างพระบิดากับ “นายฮุนเซน” คู่แข่งสำคัญทางการเมืองในขณะนั้นเสื่อมทรามลงเป็นลำดับ มีการฟ้องร้องกันอุตลุดระหว่างกลุ่มและก๊วนการเมืองต่างๆ และในที่สุดมีการออกกฎหมาย “ห้ามมีชู้” ออกมาเล่นงานคู่แข่ง
ในปี 2547 กรมพระรณฤทธิ์ที่ทรงเป็นหัวหน้าพรรคฟุนซินเปกในขณะนั้น ได้ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลและเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรร่วมรัฐบาลกับ "นายฮุนเซน" แห่งพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี
การเมืองในประเทศนี้ร้อนระอุหลังการเลือกตั้งปี 2546 ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก และบังคับให้สองพรรคใหญ่แข่งทางการเมืองของประเทศต้องหันไปคืนดี จับมือกันฟอร์มรัฐบาลและองค์กรนิติบัญญัติ เพื่อให้สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ หลังจากกัมพูชาว่างเว้นจากอำนาจรัฐอันชอบธรรมนานข้ามปี
ก่อนหน้านั้น “ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง” เคยร่วมเป็น “นายกรัฐมนตรีแฝด” ของประเทศหลังการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2536 ซึ่งทำให้รัฐนาวาล่ม ในอีกเพียง 3 ปีต่อมา ซึ่งนายฮุนเซนทำรัฐประหารครองอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว นำกัมพูชาไปสู่สงครามกลางเมืองขนาดย่อยๆ จนนำไปสู่การเลือกตั้งปี 2541 ซึ่งเป็นครั้งที่สอง หลังยุคเขมรแดง และยุคแห่งการยึดครองของกองทัพเวียดนาม ซึ่งก็ยังไม่มีพรรคการเมืองใดมีอำนาจเด็ดขาด
ในปี 2549 กรมพระรณฤทธิ์ทรงนำพระชายาอดีตนาฏศิลปินและนักแสดง กับเจ้าชายน้อยที่มีพระชนม์เพียง 1 ขวบปี เดินทางออกนอกประเทศไปพำนักในมาเลเซีย หลังจากเจ้าหญิงมารีเอ็ง (Marie Eng) อดีตพระชายานำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาล โดยใช้กฎหมายห้ามมีชู้เล่นงาน
ยังไม่มีการแต่งตั้งองค์รัชทายาท แต่ถ้าหากพิจารณาจากการสืบสายโลหิตแล้ว เนื่องจากองค์พระประมุข คือ สมเด็จนโรดมสีหมุนี มิได้อภิเษกสมรส เจ้าชายสุธาฤทธิ์จึงเป็นทายาทที่ใกล้ชิดราชบัลลังก์มากที่สุดในขณะนี้ ถัดจากพระบิดาที่ทรงมีพระชนม์ 65 พรรษา
แต่การเมืองในประเทศนี้ไม่แน่ไม่นอน สถาบันกษัตริย์อยู่ในอุ้งมือของกลุ่มผู้นำเก่าแห่งพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งก็คือ พรรค (คอมมิวนิสต์) ประชาชนปฏิวัติกัมพูชาที่เวียดนามจัดตั้งขึ้นในอดีต ทุกอย่างเปลี่ยนไปได้เสมอ
ประเทศนี้มี “สมเด็จ” อยู่หลายพระองค์รวมทั้งสมเด็จนโรดมนรินทรพงษ์ (Prince Norodom Narindrapong) พระเจ้าน้องยาเธอวัย 55 พรรษา ที่ทรงอาศัยในต่างประเทศ
แต่ในปัจจุบันมีการสถาปนาสมเด็จชั้นเจ้านายทรงกรมชั้นสูงสุดเพียงพระองค์เดียว คือ กรมพระ (Krom Preah) นโรดมรณฤทธิ์ที่สืบสายเลือดสีน้ำเงินโดยตรง ส่วนอีกพระองค์หนึ่งคือเจ้าชายนโรดมยุวนาถ (Norodom Yuveaneath) วัย 66 ได้รับการสถาปนาเป็น “กรมหลวง” ปัจจุบันเป็นองคมนตรี
ก่อนจะได้รับการสถาปนาขึ้นครองราชสืบแทนพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุพระราชบิดาในเดือน ต.ค.2547 เจ้าชายสีหมุนีทรงมีบรรดาศักดิ์เจ้านายทรงกรมชั้นกรมขุน (Krom Khun) ขณะที่ เจ้าชายรณฤทธิ์เป็นกรมพระ ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตามพระประสงค์ของพระราชาขณะนั้น
ยังไม่มีการสถาปนาอิสริยยศใดๆ แก่เจ้าชายนโรดมสุธาฤทธิ์ในขณะนี้ และ ไม่มีผู้ใดคาดคะเนได้ว่าการเมืองจะอนุญาตให้สถาบันกษัตริย์ทำเช่นนั้นได้หรือไม่.