xs
xsm
sm
md
lg

งุบงิบแค่ 2 ล้านเวียดนามตามคุ้ยลากคอ รมช. ขึ้นศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#cc00cc> ทุจริตตัวอย่าง-- ภาพจากแฟ้มวันที่ 13 มี.ค.2550 นายมายวันโด่ว (Mai Van Dau) อดีต รมช.การค้า (หน้าซ้าย) ถูกศาลประชาชนนครโฮจิมินห์พิพากษาจำคุก 13 ปี บุตรชายของนายโด่วกับอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บริหารบริษัทเอกชน รวมทั้งนายไลไวฮุง (Lai Wai Hung) จากไต้หวัน (สองจากขวา) รวมทั้งหมด 14 คนถูกศาลสั่งโทษในความผิดสถานต่างๆ กันในคดีรับสินบนโควตาส่งออกเสื้อซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน.</FONT></CENTER>

ASTV ผู้จัดการรายวัน-- สำนักงานตำรวจแห่งชาติเวียดนามได้สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ระดับสูงระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการอีกคนหนึ่ง พร้อมอดีตผู้ช่วยและเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกเป็นจำนวน 20 คน ฐานทุจริตและใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการประพฤติมิชอบ

สำหรับอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนล่าสุดนี้ ต้องข้อกล่าวหาร่วมกับผู้อื่นยักยอกเงินจากโครงการติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเมื่อหลายปีก่อน และ รับสินบนจากการล็อคสเปคช่วยผู้รับเหมาให้ได้โครงการในความรับผิดชอบ

ตามรายงานของสื่อทางการ นายหวูดิ่งถวน (Vu Ding Thuan) อดีตรองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี และ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการที่ 112 หรือ PMU112 (Project Management Unit 112) กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง กำลังจะถูกดำเนินคดีโดยศาลประชาชนกรุงฮานอย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่อยู่ภายใต้กระทรวงความมั่นคงภายในกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้นี้ ได้ยักยอกเงินงบประมาณของรัฐไปจากโครงการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมเครือข่ายการปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เป็นเงิน 1,000 ล้านด่ง หรือ 57,405 ดอลลาร์ หรือ 2 ล้านบาทเศษ

ปัจจุบันนายถวนอายุ 67 ปี เหตุทุจริตเกิดเมื่อหกปีที่แล้วก่อนเจ้าตัวจะเกษียณอายุราชการ แต่คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพิ่งจะค้นพบการทุจริตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งข้อกล่าวหา "ยักยอก" และ "ประพฤติมิชอบในตำแหน่งหน้าที่" รวมทั้ง "ใช้อำนาจในทางที่ผิด" ซึ่งถ้าหากพบว่ามีความผิดนายถวนอาจจะต้องโทษถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทำการทุจริต

นายเลืองกาวเซิน (Luong Cao Son) เลขานุการ PMU112 ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการลงทุนดังกล่าว ปัจจุบันอายุ 52 ปี ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาเดียวกัน นายเซินถูกสั่งพักราชการมาเป็นเวลาปีเศษระหว่างการสอบสวนสืบสวน ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรส ภาษาเวียดนาม

บุคคลทั้งสองถูกจับกุมในเดือน ก.ย.2550 หลังจากเจ้าพนักงานพบว่า ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทางการอีกจำนวนหนึ่งตั้งราคาในการพิมพ์เอกสารเพื่อใช้ในการฝึกอบรมโครงการติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์เอาไว้สูงเกินความจริง และยักยอกเอาเงินส่วนเกินเข้ากระเป๋า
<CENTER><FONT color=#cc00cc> กรณีตัวอย่างล่าสุด นายหวอดิ่งถวน (Vo Dinh Thuan) เจ้าหน้าที่ระดับ รมช. ถูกตามล่าและสั่งฟ้องศาลฐานยักยอกไป 2 ล้านบาทเศษ (ภาพ: Thanh Nien)</FONT></CENTER>
การสอบสวนยังพบเส้นสายโยงใยไปถึงการประพฤติมิชอบอีกหลายรายการ รวมทั้งการกำหนดเอกสารอ้างอิงการประกวดราคาเข้าข้างเพื่อให้ผู้รับเหมาบางรายได้งานติดตั้งซอฟท์แวร์เครือข่ายโดยได้รับค่าตอบแทน เกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาหลายครั้ง

สื่อของทางการได้ระบุชื่อของบริษัทไอทีอย่างน้อยสามรายโดยระบุว่า มีส่วนร่วมในการทุจริต

สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้ตั้งข้อหา "ใช้อำนาจโดยมิชอบ" ฟ้องร้องเพื่อลงโทษนายเจิ่นเติ่นโหงะ (Tran Tan Ngo) อดีตผู้อำนวยการใหญ่บริษัทเวียดนามบุ๊คคอร์ปอเรชั่น (Vietnam Book Corporation) ฐานสมรู้ร่วมคิด กระทำการทุจริต กับนายถวนและนายเซิน โดยการโก่งค่าพิมพ์เอกสาร

เจ้าพนักงานได้ตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตนี้รวม 20 คน และ จะยื่นเสนอเอกสาร รวมทั้งสำนวนฟ้องต่อสำนักงานอัยการประชาชนสูงสุดในสัปดาห์นี้

**โครงการตั้งข่ายคอมพิวเตอร์อื้อฉาว**

ตามรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเน็ต โครงการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมเครือข่ายการปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เริ่มขึ้นในปี 2544 รวมมูลค่า 220 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลมอบหมายให้ PMU112 ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ

โครงการประกอบด้วยการติดตั้งซอฟท์แวร์เครือข่าย เชื่อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ แต่ที่ผ่านมาโครงการนี้มีปัญหามากมาย รวมทั้งซอฟท์แวร์ที่ติดตั้งแล้วไม่สามารถใช้งานได้ มีการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกินตัว และ ขาดการวางแผนที่ดี

นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) สั่งล้มเลิกโครงการนี้ในเดือน เม.ย.2550 โดยระบุว่าไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย

ในช่วงนั้นได้มีการติดตั้งซอฟท์แวร์เครือข่ายไปแล้วใน 40 จังหวัดกับนครทั่วประเทศ มูลค่าราว 180,000 ล้านด่งหรือ 10.3 ล้านดอลลาร์ แต่หน่วยงานต่างๆ ร้องเรียนว่าซอฟท์แวร์ที่ติดตั้งไปแล้วทำงานได้เพียงประมาณ 36% เท่านั้น หลายจังหวัดได้เลิกใช้และหันไปใช้ระบบเดิมซึ่งดีกว่า

ในปี 2548 ทางการนครโฮจิมินห์ นครใหญ่ที่สุดของประเทศในภาคใต้ ได้แจ้งต่อรัฐบาลในกรุงฮานอยว่า ไม่สามารถใช้บริการซอฟท์แวร์เชื่อมเครือข่ายราคาแพงที่ติดตั้งใหม่นี้ได้ด้วยเหตุหลายประการ พร้อมให้ความเห็นว่าราคาซอฟท์แวร์ที่นำเข้าติดตั้ง "สูงเกินไปและไม่สมเหตุสมผล"
<CENTER><FONT color=#cc00cc> ภาพ VietNamNet นายเจื่องวิงจ่อง (Truong Vinh Trong) กรมการเมืองฯ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการต่อต้าน คอร์รัปชั่นแห่งชาติ เจ้าของฉายา มือปราบมาม่า แถลงวันศุกร์ (16 ม.ค.) ปี 2551 ศาลตัดสินคดีทุจริตขนาดใหญ่โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐรวม 15 คดี อีก 8 กรณีกำลังอยู่ในศาล</FONT></CENTER>
เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ในปี 2548 หน่วยงาน PMU112 ได้เริ่มจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่วนงานต่างๆ ที่จะต้องใช้ซอฟท์แวร์เชื่อมเครือข่ายดังกล่าว และได้นำมาสู่การทุจริตยักยอกเงินงบประมาณอีกทอดหนึ่ง

แผนกไปรษณีย์และโทรคมนาคมนครโฮจิมินห์ได้ประท้วงไปยังรัฐบาลกลางอีกครั้งหนึ่ง ระบุว่ากว่า 80% ของการฝึกอบรมเป็นเพียงการสอนวิธีใช้คอมพิวเตอร์ระดับพื้นฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการใช้งานได้อยู่แล้ว และงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมเพียง 19 วัน ก็สูงเกินราคาในท้องตลาด ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณไม่ต่ำกว่า 105,000 ล้านด่ง

รายงานของคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมของรัฐสภาในเดือน พ.ค.2550 ระบุว่า ระหว่างปี 2543-2546 มีการใช้เงินงบประมาณไปประมาณ 307 ล้านล้านด่งหรือ 212 ล้านดอลลาร์ในโครงการดังกล่าวโดยที่ไม่สามารถใช้งานได้

ในเดือน ต.ค.2550 คณะกรรมการตรวจตราแห่งรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ได้ตรวจพบความไม่ชอบมาพากลใน PMU112 หลังจากตรวจสอบเพียงไม่กี่จุด โดยระบุว่า "ทุกๆ ที่ที่เราได้ตรวจสอบล้วนแต่พบความไม่ชอบมาพากลทั้งสิ้น"

การตรวจสอบที่ดำเนินต่อมายังพบว่า PMU112 ได้ใช้จ่ายเงินแบบผิดประเภทไปกว่า 98.7 พันล้านด่ง จากเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ทั้งหมด 593.5 พันล้านด่ง สำนักข่าวเวียดนามเน็ตกล่าว

งบประมาณสำหรับโครงการติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมระบบบริหารราชการอันอื้อฉาวนี้ จำนวน 470,000 ล้านด่งเป็นเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี และได้มีการใช้จ่ายเงินกู้ส่วนนี้ไป 111,200 ล้านด่ง คณะกรรมการตรวจตราฯ กล่าวว่า เกือบทั้งหมดถูกนำไปใช้ "อย่างฟุ่มเฟือยและสูญเปล่า" และเป็นการใช้จ่ายอย่างผิดประเภท ผิดวัตถุประสงค์

คณะกรรมการาตรวจตราแห่งรัฐซึ่งมีกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนหนึ่งเป็นประธาน ได้กล่าวโทษกระทรวงการเงินกับกระทรวงวางแผนและการลงทุน ที่ปล่อยให้การบริหารจัดการเงินงบประมาณส่วนนี้มีความหละหลวม

คณะกรรมการฯ ยังกล่าวโทษกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมที่ได้ให้ความเห็นชอบราคาการประกวดราคา ก่อนที่จะให้การรับรองคุณสมบัติบริษัทเอกนที่เข้าร่วมการประกวดราคาโครงการดังกล่าวด้วยซ้ำ สื่อของทางการกล่าว

**ปีที่แล้วศาลฟันทุจริตใหญ่ 15 คดี**

นายเจื่องหวิงจ่อง (Truong Vinh Trong) รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ได้เปิดเผยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ม.ค.) ว่า ปี 2551 คณะกรรมการฯ ได้ส่งคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวม 8 กรณีขึ้นฟ้องศาลประชาชนสูง และปีเดียวกันศาลฯ ได้พิพากษากรณีทุจริตอื้อฉาวอีกรวม 15 คดี

นายจ่องซึ่งเป็นกรมการเมืองคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคดีทุจริตที่กล่าวถึงทั้งหมด แต่เปิดเผยต่อไปอีกว่า ปี 2551 คณะกรรมการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนในรูปแบบต่างๆ รวม 3,900 กรณีในนั้นได้พิจารณาไปแล้วเกือบทั้งหมด และได้พบว่า 300 กรณีเกี่ยวพันกับการทุจริต
<CENTER><FONT color=cc00cc> ปี 2549 นายด่าวดิ่งบี่ง (Dao Dinh Binh) อดีต รมว.ขนส่ง (ซ้าย) ต้องลาออก รับผิดชอบต่อกรณีทุจริตฉาว PMU18 ทั้งๆ ที่เกิดก่อนเข้ารับตำแหน่ง ส่วนนายเงวียนเหวียดเตี๊ยน (Nguyen Viet Tien) รมช. (ขวา) ถูกจับกุมเดือน มี.ค.ปีเดียวกัน ศาลพิพากษาต้นปีที่แล้วไม่พบความผิด แต่ถูกพรรคคอมมิวนิสต์ปลดออกจากทุกตำแหน่ง ฐานปล่อยให้เกิดการทุจริตในหน่วยงานรับผิดชอบ  </FONT></CENTER>
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์ ปีที่แล้วคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่นระดับชาติได้ จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจรวม 18 ชุด เพื่อสอบสวนสืบสวนกรณีทุจริตใหญ่ๆ โดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอื่นใดอีก

เวียดนามถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดในบัญชีขององค์การระหว่างประเทศเพื่อความโปร่งใส หรือ TI (Transparency International) แต่การปราบปรามฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของพรรคคอมมิวนิสต์

พรรคฯ ได้เรียกการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นหนึ่งในสาม “ความชั่วร้ายทางสังคม” (Social Evils) เช่นเดียวกันกับปัญหายาเสพติดและการค้าประเวณี

ในช่วงปีใกล้ๆ นี้ศาลประชาชนสูงสุดเวียดนามได้พิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีไปแล้วอย่างน้อย 2 คน รวมทั้งนายเงวียนเหวียดเตี๊ยน (Nguyen Viet Tien) อดีต รมช.กระทรวงขนส่ง ฐานพัวพันกับกรณี PMU18 อันอื้อฉาว

กรณีล่าสุดในเดือน มี.ค.2550 ศาลนครโฮจิมินห์ได้พิพากษาจำคุก 13 ปี นายมายวันโด่ว (Mai Van Dau) อดีต รมช.การทรวงการค้าพร้อมบุตรชายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับรองอธิบดีกระทรวงเดียวกัน ในทุจริตอื้อฉาวเมื่อหลายปีก่อน ที่รู้จักกันในชื่อ “กรณีสินบนโควตาส่งออกเสื้อผ้าไปสหรัฐฯ”

มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลกับเจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนรวมกว่า 10 คนถูกศาลพิพากษาลงโทษสถานต่างๆ ในคดีโควตาส่งออกฉาวนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น