ASTVผู้จัดการรายวัน-- บริษัทโตชิบาคอร์ปอเรชั่น (Toshiba Corporation) แห่งญี่ปุ่นประกาศในวันพุธ (24 ธ.ค.) แผนการตั้งฐานการผลิตและส่งออกมอเตอร์ไฟฟ้าคุณภาพสูง โดยลงทุน 77 ล้านดอลลาร์การก่อสร้างโรงงานจะเริ่มในเดือน เม.ย.2552 และเริ่มการผลิตในเดือน ก.ย.2553
โตชิบาประกาศบนเว็บไซต์เกี่ยวกับการก่อตั้งบริษัทใหม่คือ โตชิบาอินดัสเตรียลโปรดักส์เอเชียจำกัด (Toshiba Industrial Products Asia) ขึ้นดำเนินโครงกรนี้ในเวียดนาม ซึ่งจะตั้งโรงงานในสวนอุตสาหกรรมอมตะ (Amata Industrial Park) เมืองเบียนหว่า (Bien Hoa) จ.ด่งนาย (Dong Nai) ศูนย์การผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกที่อยู่ใกล้กับนครโฮจิมินห์
ตามแผนการดังกล่าวโตชิบาฯ จะผลิตมอเตอร์ขนาดความแรงต่ำกว่า 100 แรงม้า พร้อมชิ้นส่วนเพื่อสนองความต้องการในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยจะส่งออกไปยังตลาดอเมริกาเหนือ จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นเองด้วย
มอเตอร์ไฟฟ้าไฟฟ้าคุณภาพสูงของโตชิบามีคุณสมบัติก่อให้เกิดเสียงดังในอัตราต่ำ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอัตราต่ำสุด และมีอัตราความขัดข้องต่ำที่สุด เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมอันเป็นสินค้าที่ทั่วโลกกำลังต้องการอย่างสูง ตามความตกลงระหว่างประเทศ
โตชิบากล่าวว่าจะผนึกกำลังสี่บริษัทคือ Toshiba Industrial Products Manufacturing Corporation ในญี่ปุ่น Toshiba Dalian Co, Ltd ในจีน Toshiba International Corp ในสหรัฐฯ กับบริษัทที่ตั้งใหม่ในเวียดนามทำการผลิตและทำการตลาด เพื่อสนองความต้องการในตลาดโลกโดยตั้งยอดขาย 70 พันล้านเยนในปี 2558 สำหรับผลิตภัณฑ์มอเตอร์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ
โตชิบาคอร์ป เป็นผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้ายักษ์ใหญ่รายล่าสุดจากญี่ปุ่นที่เคลื่อนเข้าตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม ตามรอยแบรนด์เนมที่มีชื่อเสียงต่างๆ รวมทั้งพานาโซนิค แคนนอน และ เพนแท็กซ์ ที่เข้าไปตั้งฐานอยู่แล้วตั้งแต่หลายปีก่อน
เมื่อสายการผลิตของโรงงานเวียดนามสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลัง โตชิบาจะสามารถผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าคุณภาพสูงได้ 1.2 ล้านหน่วยต่อปีพร้อมชิ้นส่วนส่วนหลักต่างๆ บริษัทแห่งนี้ระบุในคำแถลง
ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไปมอเตอร์ไฟฟ้าที่ส่งไปจำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้องมีมาตรฐานคุณภาพตามที่กำหนดในกฎหมายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เวียงดังลดลงและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ซึ่งจะทำให้ตลาดใหญ่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ของโตชิบามากยิ่งขึ้น โตชิบาคอร์ปกล่าว
บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งจากญี่ปุ่นได้เริ่มเคลื่อนเข้าเวียดนามตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 หลายแห่งได้เริ่มเคลื่อนเข้าอีกระลอกในช่วงปี 2548-2549 ในนั้นหลายกลุ่มได้ขยายฐานการผลิต
ในช่วงปีดังกล่าวกลุ่มสึมิโตโม (Sumitomo) บราเดอร์อินดัสตรี (Brother Industries) กับนิสไซเด็นกิ (Nissei Denki) ได้นำหน้าคลื่นทุนจากญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศคอมมิวนิสต์เวียดนาม หลังจากได้พบว่าค่าจ่างแรนงงานในจีนเริ่มสูงขึ้น
กลุ่มบราเดอร์ ได้เข้าลงทุนกว่า 40 ล้านดอลลาร์ผลิตเครื่องพรินเตอร์กับเครื่องแฟกซ์ ส่วนนิสไซเดนกิผลิตอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ ด้วยมูลค่าการลงทุน 16.7 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่ผลิตเกือบทั้งหมดเพื่อส่งออก
ในเวลาไล่เลี่ยกันบริษัทเพนแท็กซ์ (Pentax) ผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพและเลนส์ชั้นนำอีกรายหนึ่ง ก็ได้ประกาศสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ขึ้นในสวนอุตสาหกรรมยาเลิม (Gia Lam) ชานกรุงฮานอย ขยายการผลิตเลนส์สำหรับกล้องดิจิตอล เพื่อรองรับความต้องการในตลาด
ในเวลาไล่เลี่ยกันบริษัทแคนนอนอินซ์ (Canon Inc) ยักษ์ใหญ่อีเลกทรอนิกส์ของญี่ปุ่นได้ตั้งโรงงานอีก 1 แห่งใน จ.บั๊กนีง (Bac Ninh) ทางตะวันออกกรุงฮานอย ผลิตเครื่องพรินเตอร์อิงค์เจ็ท โดยลงทุน 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นโรงงานผลิตอิงค์เจ็ทแห่งที่ 2
แคนนอนยังมีโรงงานผลิตเลเซอร์พรินเตอร์อีก 1 แห่งที่อยู่ชานเมืองหลวง ซึ่งแคนอนกล่าวว่าเป็นโรงงานผลิตเลเซอร์พรินเตอร์ใหญ่ที่สุดของบริษัท ปัจจุบันโรงงานของแคนอนในเวียดนามจ้างแรงงานในท้องถิ่นเกือบ 10,000 คน
ในต้นปี 2549 บริษัทอีเลกทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่พานาโซนิคตั้งสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ในเวียดนามด้วยเงินลงทุน 76.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อผลิตและประกอบเครื่องประมวลผลข้อมูล เครื่องใช้สำหรับสำนักงาน และเครื่องมือสื่อสาร
พานาโซนิคเข้าตั้งโรงงานแห่งแรกในนครโฮจิมินห์ตั้งแต่ปี 2539 ภายใต้ชื่อ Panasonic AVC Networks Vietnam เพื่อผลิตสินค้าประเภทออดิโอวิช่วล (A/V) ซึ่งรวมทั้งเครื่องรับโทรทัศน์และจอมอนิเตอร์ บริษัทแม่พานาโซนิคถือหุ้น 60% ในบริษัทแรกในเวียดนามแห่งนี้
ในปัจจุบันนี้สินค้าที่พานาโซนิคผลิตในเวียดนามเกือบทั้งหมด จะจำหน่ายภายในประเทศ
การเข้าลงทุนออกแบบ ทดสอบและผลิตชิปในเวียดนามโดยกลุ่มอินเทลคอร์ป (Intel Corp) จากสหรัฐฯ ในปลายปี 2549 ได้เป็นแรงกระตุ้นสำคัญช่วยดึงดูดผู้ผลิตสินค้าอิเลคทรอนิกส์และไอที เข้าสู่เวียดนามอีกระลอกหนึ่ง
โรงงานมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ของอินเทลเริ่มก่อสร้างโรงงานเมื่อปีที่แล้วมีกำหนดเริ่มเดินเครื่องในปลายปี 2552
ในเดือน ก.พ.2551 คอมพาลอิเล็กทรอนิกส์อินช์ (Compal Electronics Inc) จากไต้หวันได้ประกาศตั้งสายประกอบการผลิตโน้ตบุ๊กมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ในภาคเหนือเวียดนาม เพื่อป้อนให้ลูกค้าแบรนด์เนมต่างๆ ปีละประมาณ 1 ล้านเครื่อง.
ก่อนหน้านั้นควอนต้าคอมพิวเตอร์อินซ์ (Quanta Computer Incorporated) ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กรายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวัน ซึ่งผลิตให้เดลล์ (Dell) คอมแพ็ก (Compaq) แอปเปิ้ลอินซ์ (Apple Inch) เอชพี ไอบีเอ็ม โซนี่ ชาร์ป โตชิบา ฟูจิตสึ รวมทั้งซีเมนส์เอจี (Seimens AG) ก็ประกาศย้ายฐานผลิตเข้าเวียดนามเช่นกัน.