xs
xsm
sm
md
lg

เกาหลีใต้ทุ่มวิจัยพืช GMO ในพม่าหมายผลิตอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0000> เปลี่ยนทาง?-- ภาพถ่ายวันที่ 10 ต.ค.2551 ชาวนาในเขตเมืองพะสิม (Pathein) กำลังเร่งปักดำให้ทันเวลาช่วงปลายฤดูฝน เพิ่งมีการเปิดเผยว่าพม่าเริ่มหันไปวิจัยพืชตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อผลิตอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลีจะเดินทางเข้าในเดือนนี้เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานพม่า ภายใต้บันทึกความร่วมมือที่เซ็นกันในเดือน ก.ย.  </FONT></CENTER>

ASTVผู้จัดการรายวัน -- รัฐบาลเกาหลีใต้จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าพม่าในเดือนนี้ เพื่อเริ่มโครงการความร่วมมือวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ตามโครงการผลิตพืชอาหาร

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือตามความตกลงที่เซ็นกันในเดือน ก.ย.ระหว่างกรมวิจัยการเกษตร กระทรวงเกษตรและชลประทาน กับ สถาบันแห่งชาติเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรเกาหลี หรือ NIAST (National Institute of Agricultural Science and Technology) ทั้งนี้ เป็นรายงานของนิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์

สองฝ่ายได้ร่วมกันเซ็นบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจฉบับหนึ่ง สำหรับความร่วมมือระยะเวลาห้าปีในการหาทาง “อนุรักษ์พันธุกรรมและใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาชีวะพันธุกรรม” เจ้าหน้าที่กรมวิจัยการเกษตรผู้หนึ่งกล่าว

เจ้าหน้าที่คนเดียวกันเปิดเผยด้วยว่าจนถึงปัจจุบันได้มีการจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์เอาไว้ราว 10,000 ชนิดใน “ธนาคารเมล็ดพันธุ์” โดยจะทยอยนำออกปลูกในแปลงทดลองเพื่อวิจัยความเหมาะสมและความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศและความสามารถในการต่านทานแมลงศัตรู

เจ้าหน้าที่ของทางการไม่ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ว่า กำลังจะมีความร่วมมือในการวิจัยพืชตัดแต่งพันธุกรรม หรือ GMO (Genetically Modified Organics) โดยกล่าวแต่เพียงว่า สองฝ่ายจะร่วมกัน “วิจัยด้านชีวะพันธุกรรมเพื่อคัดสายพันธุ์”

เจ้าหน้าที่พม่า กล่าวอีกว่า โดยปกติการวิจัยทั่วไปเกี่ยวกับพืชมักจะเลือกใช้วิธีธรรมชาติ เช่น หากต้องการคัดเลือกสายพันธุ์พืชชนิดหนึ่งที่มีความสามารถในการต่อต้านแมลงศัตรูได้สูง ก็จะต้องลงมือปลูกและปล่อยให้แมลงศัตรูออกปฏิบัติการ ก่อนจะสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่ “เก่ง” ที่สุดได้ ต้องใช้เวลานาน

“ถ้าหากใช้เทคโนโลยีชีวภาพโมเลกุล (พืช) เราก็จะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ได้เร็วขึ้น” เจ้าหน้าที่รายเดียวกันกล่าว

นอกจากนั้น สองประเทศได้ตกลงเกี่ยวกับการนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งตกลงที่จะแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช การสำรวจ การอนุรักษ์ การประเมินคุณค่าด้านพันธุกรรมของพืช การถ่ายทอดเทคโนโลยีตลอดจนเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการวิจัย การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ของสองฝ่าย

สถาบัน NIAST ได้ตกลงจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในโครงการความร่วมมือต่างๆ ทั้งหมด เมียนมาร์ไทมส์ กล่าว

ตามรายงานก่อนหน้านี้ ช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์อาหารในตลาดโลกเมื่อต้นปี ทางการพม่าได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการวิจัยพืชอาหารเพื่อให้สามารถผลิตอาหารสนองความต้องการของประชาชน 55 ล้านคน ได้อย่างเพียงพอ

เมื่อประมาณ 40 ปี ก่อนหน้านี้ พม่าเคยเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากมีผืนดินที่อุดม มีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ มีพื้นที่เพาะปลูกกว้างขวาง ในช่วงปีใกล้ๆ นี้ พม่าได้ขยายเนื้อที่นาข้าวออกไปจนสามารถผลิตเหลือส่งออกได้อีกครั้งหนึ่ง แม้จะยังมีปริมาณน้อย

พม่ายังส่งออกถั่ว งา กับพืชให้น้ำมันอื่นๆ รวมทั้งน้ำมันปาล์มด้วย โดยมีตลาดใหญ่ คือ จีนกับอินเดีย และอีกบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีการขยายพื้นเพาะปลูกสบู่ดำอย่างกว้างขวาง เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio-Fuel)

ประเทศที่มีประชากรมากกำลังหาทางปลูกพืชอาหารตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อผลิตอาหารให้พอเพียงต่อการบริโภคภายใน เวียดนามได้ประกาศจะเริ่มทดลองปลูกข้าวโพด GMO ในปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น