ผู้จัดการรายวัน -- เจ็ทสตาร์แปซิฟิก (JetStar Pacific) สายการบินต้นทุนต่ำแห่งแรกและแห่งเดียวของเวียดนาม ได้ประกาศแผนการบินเข้าไทยในปลายเดือน ต.ค.ศกนี้ โดยบินเชื่อมกับนครโฮจิมินห์ ซึ่งในปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย (Thai AirAsia) เป็นสายการบินประเภทโลว์คอสต์เพียงแห่งเดียวจากประเทศไทยที่บินให้บริการเส้นทางนี้
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการเจ็ทสตาร์แปซิฟิก ก็จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่การบินเวียดนาม หลังจากได้พยายามบินเข้าสู่เมืองหลวงของไทยมาเป็นเวลาหลายปี ตั้งแต่ครั้งยังเป็นแปซิฟิกแอร์ไลน์ (Pacific Airline) ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยสายการบินแห่งชาติเวียดนาม
การบินเชื่อมประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศของเจ็ทสตาร์แปซิฟิกระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ย. ศกนี้ นายเลือง ฮว้าย นาม (Luong Hoai Nam) หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารของเจ็ทสตาร์ เปิดเผยเรื่องนี้กับหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนไทมส์
เจ็ทสตาร์แปซิฟิก (JetStar Pacific) ซึ่งใช้โฮจิมินห์เป็นฐานการบิน ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เมื่อต้นปีนี้จากแปซิฟิกแอร์ไลน์ (Pacific Airline) ที่ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจากถูกกีดกันด้านเส้นทางการบินในประเทศจากสายการบินแห่งชาติ
สายการบินแควนตัส (Qantas) แห่งออสเตรเลีย ได้เข้าซื้อหุ้น 30% ในสายการบินโลว์คอสต์ของเวียดนามเมื่อปีที่แล้ว ด้วยตัวเลขการลงทุนที่ยังไม่เปิดเผย หุ้นส่วนที่เหลือยังเป็นของบรรษัทการเงินเพื่อการลงทุนของรัฐบาล
ผู้บริหารของเจ็ทสตาร์ กล่าวว่า จะเปิดให้บริการบินเข้าไทยเป็นประจำทุกวัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.ก้าวต่อไปคือ เมืองเสียมราฐของกัมพูชากับสิงคโปร์ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 3 พ.ค.และ 14 พ.ย.ตามลำดับ โดยจะเปิดให้จองตั๋วที่เว็บไซต์ www.jetstar.com ในเดือน ก.ย.นี้
นายนาม กล่าวว่า เจ็ทสตาร์ จะใช้เครื่องบินโบอิง 737-400 ขนาด 168 ที่นั่งในการบินเชื่อมปลายทางใหม่นี้ เพื่อเปิดทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยวจากโฮจิมินห์ที่มีความประสงค์จะเดินทางไปยังปลายทางสำคัญในสามประเทศกลุ่มอาเซียนดังกล่าว และในทางกลับกัน
ตามรายงานของสื่อเวียดนาม ปัจจุบันเจ็ทสตาร์แปซิฟิกใช้รหัสจำหน่ายตั๋วร่วมกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์สของไทย กับเจ็ทสตาร์เอเชีย (JetStar Asia) ซึ่งเป็นสายการบินร่วมทุนระหว่างเจ็ทสตาร์แห่งออสเตรเลียกับนักลงทุนในสิงคโปร์
ผู้บริหารของเจ็ทสตาร์แปซิฟิก คาดว่า จะได้รับเครื่องบินโดยสารแบบแอร์บัส A320 อีก 1 ลำ ในเดือน ก.ย.นี้ และคาดว่า จะมีเครื่องบินรุ่นนี้รวม 30 ลำ ในปี 2557 เพื่อใช้แทนโบอิง 737-400 ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่เพียง 4 ลำ
สถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงลิ่วได้ทำให้เจ็ทสตาร์แปซิฟิกต้องเลื่อนแผนการขยายเส้นทางบินในประเทศในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ แต่ก็ยังยืนยันว่า ปลายทางสำคัญๆ ซึ่งรวมทั้งดาลัต (Dalat) บวนมาท๊วด (Buon Ma Thuot) ในเขตที่ราบสูงภาคกลาง และนครเกิ่นเทอ (Can Tho) ในที่ราบปากแม่น้ำโขงยังคงอยู่ในแผนพัฒนาการให้บริการ
เมื่อเดือนที่แล้วสายการบินนี้ได้ประกาศงดบินเส้นทางโฮจิมินห์-ญาจาง (Nha Trang) ใน จ.แค๊งหว่า (Khanh Hoa) ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มวันที่ 5 ก.ย.โดยอ้างว่า ต้องเตรียมนำเครื่องบินไปใช้บินเส้นทางเชื่อมภูมิภาคที่จะเปิดใหม่
ไทยแอร์เอเชียเปิดบินเส้นทางกรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ มาตั้งแต่เดือน เม.ย.2551 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีสายการบินต้นทุนต่ำบินจากไทย บินไปยังนครใหญ่ที่มีประชากร 8 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภาคใต้เวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ไทยแอร์เอเชียให้บริการบินเส้นทางนี้เพียงสัปดาห์ละ 2 เที่ยว หลังจากเปิดบินประจำวันเชื่อมกรุงเทพฯ-กรุงฮานอย มาตั้งแต่ปี 2548
สายการบินต้นทุนต่ำของต่างชาติหลายแห่งได้พยายามมาเป็นเวลานาน ในการหาช่องทางบินเข้าสู่โฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางบินในภาคใต้ แต่รัฐบาลเวียดนามไม่อนุญาต
อย่างไรก็ตาม ในเดือน มี.ค.2550 เวียดนามอนุญาตให้บริษัทสายการบินแควนตัสเข้าซื้อหุ้นในแปซิฟิกแอร์ไลน์ และประกาศจะออกใบอนุญาตให้มีการจัดตั้งสายการบินใหม่รวมจำนวน 5 แห่ง
ปีนี้เวียดนามอนุญาตได้ให้ใบอนุญาตแก่สายการบินเวียดเจ็ทแอร์ (VietJet Air) กับแอร์สปีดอัพ (Air Speed Up) เป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ถือหุ้นโดยเอกชนถึง 100%
นครโฮจิมินห์เป็นศูนย์การบินที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศ ที่กำลังจะมีการก่อสร้างท่าสนามบินนานาชาติลองแถ่ง (Long Thanh) โดยทางการกล่าวว่าจะให้มีความใหญ่โตเทียบชั้นกับสนามบินสุวรรณภูมิของไทย หรือท่าอากาศยานชางงีในสิงคโปร์