xs
xsm
sm
md
lg

“ฮุนเซน” ซ่อนตัวเลข CPI แฉเงินเฟ้อทะลุ 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0000>เด็กชายชาวกัมพูชากำลังมองถังแก๊สที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2551 แก๊สเป็นสินค้าอีกชนิดที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยแก๊สบรรจุถังปริมาณ 15 กก.มีราคาอยู่ที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้อยู่ที่ 19 ดอลลาร์เท่านั้น (ภาพ : เอเอฟพี).</CENTER>

ผู้จัดการออนไลน์ -- รัฐบาลของสมเด็จฯ ฮุนเซน ไม่ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อมาเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน ท่ามกลางข่าวเล่าลือว่าอัตราเฟ้อในเดือน มิ.ย.นี้ พุ่งขึ้นสูงทะลุ 30% ทำให้รัฐบาลไม่กล้านำความจริงออกเปิดเผย เพราะเกรงว่าจะเกิดความระส่ำระสายขึ้นในสังคมเช่นในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายสน ชัย (Son Chhay) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคสมรังสี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้ นายชัย ธร (Chhay Thorn) รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผน ให้ชี้แจงเหตุผลโดยละเอียดเกี่ยวกับการที่รัฐบาลสั่งหยุดการตีพิมพ์เผยแพร่ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index) ซึ่งจะออกเป็นประจำทุกเดือน โดยการเรียกร้องนี้มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสั่งหยุดการเผยแพร่ตัวเลขเงินเฟ้อติดต่อกันมา 3 เดือน

หนังสือพิมพ์แม่โขงไทมส์ (Mekong Times) รายงานว่า นายสน ชัย ได้มีจดหมายซึ่งลงวันที่ 25 มิ.ย. ถึงนายชัย ธร เพื่อถามถึงเหตุผลของรัฐบาลที่ไม่ให้เผยแพร่ดัชนีเงินเฟ้อดังกล่าว

นายสน ชัย กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อประชาชนเพื่อที่จะรับทราบและปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้อันน้อยนิดของพวกเขา

ส.ส.พรรคสมรังสี กล่าวต่อว่า ในรายงานอย่างไม่เป็นทางการ ชี้ให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อนั้นพุ่งสูงขึ้นถึง 30% ในเดือน พ.ค.2551 ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลที่ไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมราคาสิ้นค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องสั่งห้ามตีพิมพ์ดัชนี CPI ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดอัตราเฟ้อของเงินเมื่อเดือนที่ผ่านมา

นายสน ชัย กล่าวว่า บางทีสาเหตุอาจจะเป็นเพราะรัฐบาลกลัวประชาชนจะรู้ว่าตนไม่สามารถควบคุมภาวะที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ จึงได้สั่งระงับการเผยแพร่ตัวเลขดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายชัย ธร ได้ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุที่รับบาลต้องหยุดการตีพิมพ์ดัชนี CPI นั้นเนื่องจากเกิดปัญหาทางเทคนิค และจะมีการพูดคุยกันระหว่างกระทรวงต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญในประเด็นความล่าช้าของการตีพิมพ์ดัชนีดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น