ผู้จัดการออนไลน์-- ซิตีคาร์ยอดนิยมราคาประหยัด "เชอรีคิวคิว" (Chery QQ) จากจีน กำลังรุกตลาดในลาว ด้วยราคามิตรภาพไม่ถึง 2 แสนบาท ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในเวียงจันทน์
ด้วยขนาดเครื่องยนต์เพียง 812 ซีซี 3 สูบ 12 วาล์ว ให้พลังสูงสุด 72 แรงม้า ขับเคลื่อนด้วยเกียร์แมนนวล 5 จังหวะ มีเกียร์ออโต้ให้เลือก เชอรี่คิวคิวเข้าสู่ตลาดขณะที่น้ำมันราคาสูงลิ่ว จึงกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากลูกค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว
เชอรีคิวคิวจิบน้ำมันเบาๆ 50 กม.ต่อลิตร แต่มีข้อจำกัดคือเหมาะสำหรับวิ่งตามท้องถนนในเมืองเท่านั้น ขปล.กล่าว
ตามข้อมูลของบริษัทเชอรีออโตโมบิล (Chery Automobile) ผู้ผลิตในจีน ซิตีคาร์ยอดนิยมซึ่งเป็นคู่แฝด และเป็นคู่แข่งของแดวูมาติซ (Matiz) กับ เชฟโรเล็ตสปาร์ค (Chevy Spark) ในตลาดโลกยังมีเครื่องยนต์ 1,100 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์วให้เลือกด้วย ซึ่งประหยัดน้ำมันได้ดีเช่นเดียวกัน
บริษัทในลาวแห่งหนึ่งนำเข้ารถรุ่นนี้จากจีนครั้งแรกเมื่อ 2548 แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อ "เชอรี่คิวคิว" และ ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ผู้ใช้รถในลาวให้ความนิยมรถค่ายเกาหลีกับญี่ปุ่นมากกว่า อีกปีถัดมายอดขายจึงพุ่งกระฉูด เมื่อคนหันมาความสนใจรถที่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น
ปัจจุบันสายการผลิตรถเชอรีกำลังเร่งปั๊ม QQ6 ซึ่งมีดีไซน์โฉบเฉี่ยวทันสมัย ซึ่งผู้ผลิตเรียกว่า "มินิซิตีคาร์" ออกสู่ตลาดทั่วโลก
เชอรี่คิวคิวมีจำหน่ายในอินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ ยุโรปใต้ อเมริกาใต้ แม้กระทั่งในสหรัฐฯ แต่ QQ3 ยังคงครองนิยมสูงสุดตลอดกาล
คิวคิวรุ่นใหม่กำลังโลดแล่นอยู่ในหน้าจอโทรทัศน์แห่งชาติ สปอตโฆษณาอีกชุดหนึ่งกำลังออกอากาศทางสถานีวิทยุเอฟเอ็มหลายแห่ง พริ้นติงแอดกำลังปรากฏออกสู่สายตาผู้อ่านนิตยสารต่างๆ ในเวียงจันทน์ ผู้จำหน่ายบอกกับ ขปล.ว่า ยอดขายปีนี้น่าจะทะลุ 1,000 คัน
ตามรายงานของสำนักข่าวทางการคิวคิวปี 2007 รุ่นใหม่ในลาวจำหน่ายในราคาคันละ 6,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 190,000 บาทเศษ รวมภาษีต่างๆ เรียบร้อย
ตามข้อมูลของบริษัททดสอบรถยนต์แห่งหนึ่งราคาขายในจีนเพียงคันละ 4,950 ดอลลาร์ โดยบริษัทเชอรีออโตโมบิลกล่าวว่ามีกำไรเพียง 500 ดอลลาร์ต่อคัน ราคานี้ต่ำกว่าคู่แข่งคู่แฝดคือ เชฟวี่สปาร์ค 1,000 ดอลลาร์ต่อคัน ยอดจำหน่ายของเชอรีคิวคิวในตลาดจีนนั้นถล่มทลาย ส่วนยอดขายของเชฟวีของค่ายจีเอ็มต่ำติดพื้น
เมื่อผู้ผลิตในจีนเข็นรถประหยัดรุ่นนี้ออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 2546 เยเนอรัลมอเตอร์ส (General Motors) โกรธเป็นฟืนเป็นไฟหาว่าก๊อปปี้ แดวูมาติซไปทั้งดุ้น
ต่อมาจีเอ็มได้ฟ้องร้องต่อศาลจีน แต่คดีก็ยังไปไม่ถึงไหน โดยศาลสั่งให้จีเอ็มหาหลักฐานไปยืนยันต่อศาลว่า ความลับรั่วไหลไปสู่มือผู้ผลิตในจีนได้อย่างไร จึงสามารถลอกเลียนดีไซน์ได้หมดจด
ในปี 2549 ผู้ผลิตจึงเปลี่ยนชื่อซิตีคาร์รุ่นนี้เสียใหม่เป็น "เชอรีคิวคิว3" ปีเดียวกันก็เปิดสายการผลิต "เชอรี่คิวคิว6" โดยเรียกว่าเป็น "ซูเปอร์มินิซิตีคาร์"
ตามรายงานบนเว็บไซต์บริษัททดสอบรถยนต์ของสหรัฐฯ แห่งหนึ่ง เชอรี่คิวคิวใช้เทคโนโลยีระดับสูงในรถระดับกลางจนถึงระดับไฮเอ็นด์ของรุ่น และ มีปัญหาจุกจิกน้อยกว่าคู่แข่งถึง 20% ขณะที่ราคาอะไหล่ต่ำกว่าของคู่แข่งครึ่งต่อครึ่ง
ในประเทศชิลีเรียกว่า เชอรี่ไอคิว (Chery IQ) ในรัสเซียเรียกเชอรีสวีต (Chery Sweet) ในอิหร่านซึ่งซื้อไลเซ็นส์จากจีนไปเปิดสายการผลิตเรียกว่า MVM 110 นอกจากนั้นยังมีสายการผลิตผลิตในศรีลังกาอีกแห่งหนึ่งด้วย.