ผู้จัดการออนไลน์-- คณะปกครองทหารพม่ายืนยันเมื่อวันพุธ (11 มิ.ย.) ว่ารัฐบาลมีสิทธิในการกักบริเวณนางอองซานซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน โดยเทียบกฎหมายความมั่นคงของประเทศกับกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษว่ามีความคล้ายคลึงกัน
ในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ คณะรัฐบาลทหารกล่าวว่า การกักบริเวณผู้นำพรรคฝ่ายค้านผู้นี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการปกป้องอธิปไตยของประเทศ
สำนักข่าวเอเอฟพีกล่าวว่า บทบรรณาธิการยังเน้นให้เห็นว่าอังกฤษ สหรัฐฯ สิงคโปร์ และมาเลเซียรวมถึงประเทศอื่นๆ ต่างก็มีกฏหมายที่คล้ายกันนี้
"พม่าไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่ประกาศใช้กฎหมายเพื่อป้องกันผู้ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อประเทศชาติ" นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ หนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารพม่า กล่าว
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวต่อว่า "หากจำเป็นต้องปกป้องแผ่นดินอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ชีวิตและความกินดีอยู่ดีของประชาชน ทุกๆ รัฐบาลต้องมีการประกาศใช้กฎหมายและกำหนดข้อบังคับต่างๆ ขึ้น"
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า การกักบริเวณนางซูจีเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปีนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งย้ำว่าจะดำเนินการขอยื่นอุทธรณ์ในกรณีดังกล่าว
ขณะเดียวกัน บทวิจารณ์กล่าวว่า ภายใต้กฎหมายปี 1975 รัฐบาลมีสิทธิในการจับกุมพลเมืองคนใดก็ตามไว้เป็นเวลา 1 ปี และสามารถยืดเวลาออกไปได้อีก 5 ปีหากได้รับการอนุมัติจากสภา
คณะรัฐบาลได้ยืดเวลาในการกักบริเวณนางซูจีออกไปอีก 1 ปีเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการกักบริเวณครั้งก่อนเริ่มขึ้นในปี 2003
"เราต้องอธิบายกฎหมายดังกล่าวในรายละเอียดเพราะทุกวันนี้ กลุ่มผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลรวมทั้งอ้างตนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายกำลังวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อบังคับของรัฐบาลนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมาย" เจ้าของบทความนี้ กล่าว
บทความยังกล่าวต่อว่า "ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาบ่อยครั้ง จะต้องถูกกักกุมให้อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ หรือไม่ก็จะต้องถูกเนรเทศถ้าหากมีความจำเป็นเพื่อเป็นป้องกันการละเมิดกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้"
นางอองซานซูจี ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและยังเป็นผู้ที่ท้าทายอำนาจของคณะทหารที่สำคัญ ถูกกักบริเวณครั้งแรกในปี 1989 และต้องอยู่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านพักส่วนตัวมาเป็นระยะเวลารวมกันถึง 12 ปี ในตลอดช่วงเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ระหว่างนั้นเคยได้รับการปล่อยตัวออกมาเป็นเวลาสั้นๆ เท่านั้น
การยืดเวลากักบริเวณของผู้นำฝ่ายค้านคนนี้ออกไปอีก 1 ปีเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความไม่พอใจและมีการประท้วงอย่างรุนแรงจากนานาชาติ
สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังคงดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจพม่าต่อไปเนื่องจากความล้มเหลวของคณะรัฐบาลทหารในการการดำเนินการปฏิรูปไปสู่ระบอบประชาธิปไตย.