ผู้จัดการออนไลน์ -- ลาวซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ยากจนมากที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ และปรับระบบเศรษฐกิจให้เป็นลักษณะของตลาดเสรีมากขึ้นด้วย โดยหวังว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกคนหนึ่งกล่าวเมื่อวันอังคาร (10 มิ.ย.) ที่ผ่านมา
นายพัทชมุทู อิลลังโกวาน (Patchamuthu Illangovan) ผู้อำนวยการของธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศลาว กล่าวว่า ลาวกำลังดำเนินไปในวิถีทางที่ถูกต้องในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี
“พวกเขากำลังถอยออกห่างจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และปรับไปสู่ระบบตลาดมากขึ้น” นายอิลลังโกวาน กล่าวในงานสัมมนาซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กรสนับสนุนทางด้านการค้าของสิงคโปร์
เจ้าหน้าที่แบงก์โลก ผู้นี้ กล่าวต่อว่า “ตอนนี้พวกเขาเริ่มที่จะเห็นถึงโอกาส และกำลังพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ...คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจของลาวจะเติบโตอยู่ที่ระหว่าง 7.5-7.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2551 หลังจากที่ในปี 2550 เศรษฐกิจลาวโตถึง 7.5% และ 8.1% ในปี 2549”
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตทางเศรษฐกิจในลาวเห็นได้ชัดเจนจากการลดลงของระดับความยากจนในประเทศ
ในปี 2538 ลาวมีระดับความยากจนอยู่ที่ 47% แต่ได้ลดลงเหลือ 31% ในปี 2548 ซึ่งทำให้เราเห็นถึงการลดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดของระดับความยากจนในหมู่ประชาชน
การสัมมนานี้จัดขึ้นเพื่อต้อนรับเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลลาว และเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างสิงคโปร์และลาวอีกด้วย
“ลาวยินดีที่จะรับนโยบายเปิดประตูนี้” นายหุมแพง สุราลัย (Houmpheng Souralay) อธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุนของลาว กล่าว
นายหุมแพง ยังได้ย้ำถึงเศรษฐกิจในภาคต่างๆ ที่มีศักยภาพแต่ยังคงต้องการการลงทุนจากภายนอก เช่น ในด้านการท่องเที่ยว เหมืองแร่รวมทั้งพลังงาน
ด้วยเหตุที่ลาวเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ความหวังทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สำคัญอันหนึ่ง คือ การสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ “เขื่อนน้ำเทิน 2” จากธนาคารโลก ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งออกพลังงานไปยังประเทศไทยได้ภายในปี 2552
ปัจจุบันนี้ลาวได้ดำเนินโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำจำนวนถึง 9 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 30% ของการส่งออกทางเศรษฐกิจ
ประชากรของประเทศนั้นมีจำนวนน้อยกว่า 6 ล้านคน ซึ่งกว่า 80% ยังคงทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม
ความช่วยเหลือในการพัฒนาซึ่งได้รับจากต่างประเทศ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การค้าไม้และการท่องเที่ยวได้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี