ผู้จัดการออนไลน์-- เรือตรวจการณ์ฟลอเรอัล (Floreal) เข้าจอดเทียบที่ท่าเรือคลองเตยเมื่อวันพุธ (16 เม.ย.) พร้อมกับทหารหญิงจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่างไปจากการเยือนครั้งก่อน และ ยังนับเป็นครั้งแรกที่เรือรบฝรั่งเศสมาแวะเยือนประเทศไทยพร้อมกับนักรบหญิง
ภายใต้ร่มธงแถบน้ำเงิน ขาว แดง หญิงสาวต่างเชื้อชาติได้เคียงไหล่กับบุรุษในหน้าที่ต่างๆ ขณะเดินทางรอนแรมข้ามมหาสมุทรเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร ท่ามกลางพายุ คลื่นลมแรงและภยันตรายแห่งท้องทะเล
เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสกล่าวว่า การเข้าทำหน้าที่ของหญิงสาวเหล่านี้ ได้ช่วยยืนยันในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศในด้านต่างๆ รวมทั้งในการป้องกันประเทศด้วย
ผู้สื่อข่าวและช่างภาพโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์กว่า 20 ชีวิตได้รับเชิญให้ขึ้นไปเยี่ยมชมเรือฟลอเรอัล ระหว่างแวะมาเยือนมิตรภาพประเทศไทยเป็นเลา 4 วัน จนถึงวันที่ 20 เดือนนี้
แม้ว่าบนดาดฟ้าอากาศจะร้อนจัด แต่แขกที่ไปเยือนหายเหนื่อยแบบปลิดทิ้ง เมื่อได้เห็นรอยยิ้มของจ่าตรีเบน เคลิฟา (T. Ben Khelifa) เจ้าหน้าที่หมวดพลาธิการ ซึ่งนำน้ำดื่ม น้ำส้ม กาแฟและขนมไปให้บริการกับทุกคน
"หวังว่าเธอคงไม่ใช่ผู้หญิงคนเดียวบนเรือลำนี้นะ เธอต้องทำกับข้าวเลี้ยงดูคนอื่นๆ ด้วยหรือเปล่า? " ผู้สื่อข่าวยิงคำถามด้วยความพาซื่อ ตรงไปตรงมา
"มันแปลกอย่างไรหรือ? อ๋อ..ไม่ๆ.. กุ๊กของที่นี่เป็นผู้ชาย" อาแลง กาวิญเญ่ (Alain Gavillet) ผู้ช่วยทูตฝ่ายหนังสือพิมพ์สถานทูตฝรั่งเศสกล่าว และ ยังสำทับด้วยว่า "เธอเป็นทหาร"
"เธอมาจากอัลจีเรีย" เจ้าหน้าที่คนเดียวกันพูดถึงจ่าเคลิฟา
ต่างไปจากในบางประเทศ ผู้ที่จะเป็นทหารได้จะต้องมีเชื้อชาติอันเป็นสายตรงเท่านั้น แต่สำหรับฝรั่งเศส การป้องกันประเทศเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ของทุกคนที่อยู่ใต้ร่มธงผืนเดียวกัน ไม่ว่าเขาหรือเธอจะอยู่ในยุโรปหรือในดินแดนอันไกลโพ้น
"ไม่มีการแบ่งแยกเรื่องเพศเรื่องผิวบนเรือลำนี้ ทุกคนทำหน้าที่เหมือนกันหมด" นายทหารคนหนึ่ง แทรกขึ้นมาระหว่างสนทนาอย่างออกรส ขณะที่ฟลอเรอัลเคลื่อนไปข้างหน้า เตรียมเข้าจอดเทียบในเวลา 9 นาฬิกาเศษ ท่ามกลางเปลวแดดแผดจ้าและลมร้อนผะผ่าว
ขณะที่จ่าเคลิฟาช่วยขจัดความกระหายให้แก่ผู้ไปเยือน ทหารหญิงอีกคนกำลังช่วยกลาสีกลุ่มหนึ่งเก็บข้าวของอยู่บนชั้นดาดฟ้า คล้ายๆ กับกำลังจัดเตรียมอะไรบางอย่าง
ในเวลาต่อมาทหารหญิงคนหนึ่ง ในเครื่องแบบทหารเรือเต็มยศ ถือปืนกลมือ เข้าทำหน้าที่ในหมู่ทหารเกียรติยศ เพื่อต้อนรับการเยือนของเจ้าหน้าที่ไทยและเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นายนายโลรองต์ บีลี่
นักข่าวหญิงจากสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งออกอาการตื่นเต้น เมื่อได้ทราบว่า 1 ใน 2 นักบินเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือเป็นนักบินหญิง ผู้หมวดผ่านการฝึกมาอย่างโชกโชน เพื่อให้สามารถบังคับ NH90 "แพนเซอร์" (Panther) ออกปฏิบัติการได้ในทุกสภาพภูมิอากาศ..
"ฟลอเรอัล" มีความหมายอย่างตรงไปตรงมาว่า "เดือนแห่งดอกไม้" เป็นเรือลาดตระเวนลำแรกในจำนวน 6 ลำที่สั่งต่อคราวเดียว และ ตั้งชื่อตามเดือนสำคัญต่างๆ ในช่วงหลังการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส เป็น 1 ใน 5 ลำที่ถูกส่งออกประจำการโพ้นทะเล น.อ.โอลิวิเยร์ มูลเล็ค (Olivier Moullec) ผู้บังคับการเรือกล่าว
พิธีต้อนรับการเยือนจัดขึ้นง่ายๆ ที่บริเวณคลังสินค้า โดยผู้แทนผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพฯ เป็นผู้มอบพวงมาลัยแก่ผู้บังคับการเรือฟลอเรอัล อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ จากนั้นเจ้าของบ้านได้รับเชิญขึ้นเรือเพื่อเยี่ยมชม
ฟลอเรอัลเคยมาแวะเยือนสันถวะไมตรีประเทศไทยครั้งก่อนหน้านี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว แต่ครั้งนั้นไม่ได้มี "กุหลาบไฟ" มาด้วย..
ไกลออกไปจากท้ายเรือ บนดาดฟ้าด้านหน้าเหนือที่ติดตั้งปืนใหญ่ 100 มม. มีทหารสวมชุดพราง สวมแว่นกันแดด สะพายปืนกลยืนประจำการอยู่ที่ตรงนั้น 1 นาย ด้วยท่าทีแข็งขัน
นอกจากผมที่รวบและรัดไว้ด้านหลังแล้ว ไม่มีอะไรอื่นที่บ่งบอกว่านั่นคือ นักรบหญิง
"ขอโทษครับ คุณเป็นทหาร คุณประจำหน่วยรบใช่ไหม?" เราตรงดิ่งเข้าหาและยิงคำถามอย่างเกรงใจ เพราะเธอกำลังปฏิบัติหน้าที่
"ใช่ค่ะ" หญิงแกร่งแห่งฟลอเรอัลตอบสั้นๆ ด้วยสุ้มเสียงที่ฟังดูนุ่มนวลระรื่นหู ซึ่งตรงข้ามกับบุคลิกอันแข็งขัน ขณะสะพายปืนกลมือบนไหล่
"จอยซ์" (ซึ่งเป็นชื่อที่เราเรียกเอาเอง) ทำหน้าที่อารักขาประจำจุดที่ตั้งปืนใหญ่ ขณะที่นักรบชายอีกหลายคนกำลังอำนวยความปลอดภัยให้กับแขกระหว่างการเยือนครั้งนี้
"คิดถึงบ้านมั๊ย? เพราะต้องออกทะเล ต้องรอนแรม ห่างไกลจากฝรั่งเศสเป็นเวลานานๆ"
"นี่คือบ้านค่ะ ทำงานที่นี่ นอนที่นี่ และกินอยู่ที่นี่" จอยซ์ตอบเป็นภาษาอังกฤษ
เธอบอกว่ารู้สึกโชคดีมากที่เป็นหนึ่งในบรรดาหญิงเหล็ก 10 คน ที่ได้มีโอกาสประจำการบนเรือฟลอเรอัล ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อปี 2549 ก่อนหน้านั้นการออกลาดตระเวนน่านน้ำเป็นเรื่องของผู้ชายมาตลอด
"ได้กลับฝรั่งเศสบ้างไหม?"
"กลับค่ะ กลับไปตอนก่อนจะออกลาดตระเวนเที่ยวนี้ และจะได้หยุดอีกครั้งหลังปฏิบัติงานเที่ยวนี้เสร็จ" จ๊อยซ์บอกกับเราเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงแปร่ง แต่ด้วยท่าทีที่ร่าเริง
เราสนทนากับจ๊อยซ์อยู่ที่นั่นเป็นเวลานานหลายนาที จนกระทั่งฟลอเรอัลลงสมอและเข้าสู่พิธีต้อนรับ เธอบอกกับเราในนาทีสุดท้ายว่า ว่ารู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้เห็นกรุงเทพฯ เสียที หลังจากอ่านมานานในนิตยสารท่องเที่ยว
เรือฟรอเรอัลประจำอยู่ที่เกาะเรอูนิยง (Reunion) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ใกล้กับเกาะมาดากัสการ์ (Madagascar) ก่อนหน้านี้ได้ไปแวะเยือนออสเตรเลีย กับเมืองดาเวา (Davao) ในภาคใต้ฟิลิปปินส์ ก่อนจะตรงดิ่งมากรุงเทพฯ
ฟลอเรอัลยังจะต้องเดินทางอีกยาวไกล จากคลองเตยตรงดิ่งไปยังโกตากินาบาลู (Kota Kinabalu) ในมาเลเซีย กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ก่อนจะวกไปยังสิงคโปร์ ไปเกาะปีนังและมุ่งหน้าไปยังดินแดนดิเอโกการ์เซีย (Diego Garcia) มอริเชียส (Mauritius) บนเส้นทางกลับฐานที่ตั้ง
ปลายสัปดาห์ก่อนนี้เรือรบฝรั่งเศสอีกลำหนึ่งเพิ่งไปแวะเยือนเมืองท่าสีหนุวิลล์ (Sihanoukville) ในกัมพูชา เรือฝรั่งเศสได้ตระเวนเยือนประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนบ่อยครั้งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เช่นเดียวกับเรือรบสหรัฐฯ และอินเดีย
การเยือนไทยของฟลอเรอัลเที่ยวนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีโดยเรือรบฝรั่งเศส น.อ.มูลเล็คกล่าว
ฟลอเรอัลมีความยาวตลอดลำ 93.50 เมตร กว้างสุด 14 เมตร สูง 43 เมตร มีน้ำหนักสูงสุดได้ 2,950 ตัน ความเร็วสูงสุด 20 นอต บรรทุกลูกเรือรวม 92 คน สามารถออกปฏิบัติการภารกิจอเนกประสงค์ติดต่อกันเป็นเวลานาน 50 วัน
นับเป็นเรือรบลำที่ 3 ที่ใช้ชื่อนี้ ลำแรกเป็นเรือปืนเข้าประจำการเมื่อกว่า 200 ปีก่อน ถัดมาเป็นเรือดำน้ำซึ่งรับใช้นาวีฝรั่งเศสระหว่างปี 2450-2462
ชื่อไพเราะและอ่อนหวาน แต่ “เดือนแห่งเดอกไม้” ติดเขี้ยวเล็บพร้อมรบ รวมทั้งขีปนาวุธเอ็กโซเซต์ MM38 ซึ่งติดตั้งท่อยิงจำนวน 2 ท่อ มีปืนใหญ่ 100 มม. 1 กระบอก ปืนกลเล็กขนาด 20 มม. 2 กระบอก กับเฮลิคอปเตอร์ "แพนเซอร์" ที่ถูกออกแบบให้มีความคล่องตัวสำหรับภารกิจอเนกประสงค์
และสามารถออกปฏิบัติการได้แม้ในสภาพอากาศเลวร้ายที่สุด..โดยนักบินหญิง
"เดือนแห่งดอกไม้" ถูกนำเข้าประจำการในวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งเป็น "วันสตรีสากล" เมื่อปี 2535 และ ในวันนี้ได้เป็นนาวีของสตรีเหล็กแห่งแดนน้ำหอม
“จำได้มั๊ยครับ.. เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน เราเคยยิงเรือรบฝรั่งเศสที่ปากแม่น้ำแห่งนี้ แต่เราพ่ายอำนาจการยิง” เสียงหนึ่งสอดแทรกขึ้นมาหลังการแถลงข่าวที่จัดขึ้นบนชั้นดาดฟ้าผ่านไป ทำให้เสียงสนทนาเงียบลงเป็นเวลาสั้นๆ.. รอรับมุข
“วันนี้ทุกอย่างปลี่ยนไป เมื่อก่อนมีเสียงปืน วันนี้มีเสียงสลุต พวกเราได้จับมือกัน เรือฟลอเรอัลก็เต็มไปด้วยดอกไม้.. สงสัยเราจะพ่ายอีก..”
เสียงเดิมกล่าวตบท้าย ทำให้ผู้บังคับการเรือกับทูตทหารประจำประเทศไทย น.อ.แอร์วาน ชาร์ลส์ (Erwan Charles) ระเบิดเสียงหัวเราะลั่น..
ขีปนาวุธเอ็กโซเซต์ได้ถูกนำเข้าประจำการในราชนาวีไทยมาร่วม 20 ปีแล้ว เช่นเดียวกันกับอากาศยานบางชนิดที่ผลิตจากประเทศนี้ ปัจจุบันกองทัพเรือฝรั่งเศสมีความร่วมมือช่วยเหลือฝ่ายไทยในหลายด้าน
เรือธงฝรั่งเศสอีกลำหนึ่งมีกำหนดเยือนกระชับสัมพันธ์กับไทย โดยแวะเยือนที่ฐานทัพเรือสัตหีบในเดือนข้างหน้านี้ ผู้บังคับการเรือฟลอเรอัลกล่าว.