xs
xsm
sm
md
lg

พม่าวุ่นแน่ๆ ไม่ให้อองซานซูจีลงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



กรุงเทพฯ- การพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าทำท่าจะสะดุดอีกและจะยังไม่มีความสมานฉันท์ใดๆ เนื่องจากกลุ่มปกครองทหารจะไม่ให้นางอองซานซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดร่วมในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จัดร่างขึ้นมามีบทบัญญัติให้พลเมืองที่สามีเป็นชาวต่างชาติขาดคุณสมบัติ


นายจอร์จ เยียว รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่านายเนียนวิน (Nyan Win) รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนระหว่างงานเลี้ยงบนเรือที่จัดขึ้นเย็นวันอังคาร (19 ก.พ.) ที่ผ่านมาทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มอาเซียน 10 ชาติ ที่มีพม่าร่วมเป็นสมาชิก กำลังพบปะประจำปีอย่างไม่เป็นทางการ (Ministerial Retreat) ในสิงคโปร์

"เราได้หารือกันในเรื่องนี้" นายเยียวตอบผู้สื่อข่าวที่ถามว่า พม่าจะอนุญาตให้นางซูจีลงเลือกตั้งในปี 2553 นี้หรือไม่

"นายเนียนวินแน่ใจเป็นอย่างยิ่งว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นราษฎรพม่าที่มีสามีเป็นชาวต่างชาติ และ มีลูกๆ ที่ไม่ได้เป็นพลเมืองพม่าจะไม่มีคุณสมบัติ (ลงเลือกตั้ง) เช่นเดียวกันกับในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2515"

นางซูจีแต่งงงานกับนายไมเคิล อารีส (Michael Aris) ชาวอังกฤษซึ่งได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในอังกฤษเมื่อปี 2542 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 2 คน และมีสัญชาติอังกฤษ

นายเยียวกล่าวว่า บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้และเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าว "ไม่สอดคล้องกับกาลเวลา" และ "เป็นที่แน่นอนว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่แปลกมากในประเทศอาเซียนอื่นๆ"

แต่รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ก็กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องภายในประเทศของพวกเขา มันเป็นประวัติศาสตร์ของพวกเขา แล้วเราจะทำอะไรได้ล่ะ?"

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน พากันรับประทานอาหารเย็นบนเรือยอชท์ที่แล่นในเขตอ่าวเกาะเซ็นโตซา (Sentosa) ในการพบปะแบบไม่มีพิธีรีตองทางการทูต ซึ่งประเทศประธานคณะกรรมการประจำของกลุ่ม จะจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง

"เป็นเรื่องระหว่างพวกเรารัฐมนตรีต่างประเทศ บรรยากาศอบอุ่นดี" นายเยียวกล่าว ทั้งเปิดเผยด้วยว่าการหารือส่วนใหญ่ในเย็นวันอังคารเป็นเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการในพม่าซึ่งปกครองด้วยระบอบทหารมานานเกือบครึ่งศตวรรษ

รมว.ต่างประเทศสิงคโปร์กล่าวอีกว่า ทางการพม่าได้อนุญาตให้ทูตพิเศษสหประชาชาติ นายอิบรอฮิม แกมบารี เดินทางเยือนในเดือน มี.ค.นี้ จากเดิมที่กำหนดในเดือน เม.ย.

สื่อของทางการรายงานอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันอังคารว่า ทางการได้จัดการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมจะจัดให้มีการลงประชามติตามกำหนดในเดือน พ.ค.

คณะปกครองทหารประกาศออกมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยในวันที่ 9 ก.พ. เกี่ยวกับแผนการจัดลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553

รมว.ต่างประเทศสิงคโปร์กล่าวอีกว่า ยังคงมีความกังขาโดยทั่วไปในหมู่รัฐมนตรีอาเซียน และมีอยู่อย่างน้อย 1 คน ที่กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความกลมเกลียวกันในขบวนการไปสู่ประชาธิปไตย

"เราจะต้องได้รับความเชื่อถือจากประชาคมระหว่างประเทศด้วย มันไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดการกันภายในเท่านั้น" นายเยียวกล่าว

พม่าไม่ได้มีรัฐธรรมนูญใช้มาตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งเป็นปีที่คณะปกครองทหารชุดปัจจุบันยึดอำนาจ ภายหลังจากได้ปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 3,000 คน

สันนิบาติเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (National League for Democracy) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในประเทศได้ออกเตือนเมื่อวันจันทร์ว่า เพื่อที่จะให้มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทางการพม่าจะต้องให้ความเคารพต่อผลการเลือกตั้งปี 2533 เสียก่อน

นางซูจีได้นำพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในปีนั้น แต่ฝ่ายทหารไม่ยอมรับ และยังจับกุมนางซูจี จำกัดบริเวณให้อยู่ภายในบ้านพักรวมกันเป็นเวลาประมาณ 12 ปี ตลอดช่วง 18 ปีที่ผ่านมา

พม่าได้เข้าเป็นสมาชิกชาติที่ 10 ของกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอันได้แก่บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

ในเดือน ก.ย.ปีที่แล้วทางการทหารได้ปราบปรามผู้เดินขบวนประท้วงนับแสนๆ คน ทั้งในกรุงย่างกุ้งและในเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ องค์การสหประชาชาติกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 30 คน แต่ตัวเลขขององค์การ (Human Rights Watch) สูงถึง 100 คน

ชาวพม่าที่ไม่พอใจการขึ้นราคาน้ำมันอย่างไม่มีปีมีขลุ่ยในเดือน ส.ค. พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงย่างกุ้งเป็นแห่งแรก จากขบวนเล็กๆ ที่เดินไปรอบๆ เมืองอย่างเงียบๆ แต่ในชั่วเวลาข้ามเดือนได้กลายเป็นการประท้วงใหญ่ที่มีพระสงฆ์เป็นหัวหอก

สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างแข็งขันยิ่งขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ร่วมทั้งเจาะจงลงโทษบรรดาผู้นำและสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งผู้ใกล้ชิดและกลุ่มธุรกิจที่เป็นแหล่งจุนเจือทางการเงินของระบอบทหาร

ในปี 2531 ได้เกิดการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยครั้งใหญ่ทั่วประเทศ โดยมีนักศึกษาเป็นหัวหอก ทหารได้ปราบปรามอย่างรุนแรง นอกจากมีผู้ล้มตายมากมายแล้วยังทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพครั้งใหญ่ ชาวพม่านับแสนๆ ได้หลบหนีข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ฝ่ายทหารจัดเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยปี 2533 ขึ้น หลังเกิดความระส่ำระสายไปทั่ว อันเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการปราบปรามทางการเมืองและจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า

หลังจากไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจการปกครอง ฝ่ายทหารได้ประกาศจะจัดร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แต่กว่าจะเริ่มได้ก็จนถึงปี 2536 และ ขาดๆ หายๆ มาเรื่อย จนกระทั่งกลับมาจริงจังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2547 รวมเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นาน 14 ปี.
กำลังโหลดความคิดเห็น