ปริศนาเกี่ยวกับรองเท้าแตะตรานครวัดที่ทำให้ชาวกัมพูชาพากันเป็นเดือดเป็นแค้นนั้นยังไม่มีคำตอบ แต่แล้วจู่ๆ หน่วยงานของรัฐบาลกัมพูชาที่จังหวัดชายแดนติดกับเวียดนามก็รวบรัดตั้งข้อสงสัยว่า รองเท้าอาจจะผลิตในไทยก่อนจะส่งข้ามแดนไปจำหน่ายในกัมพูชา
เมื่อเดือนที่แล้วนักท่องเที่ยวรายหนึ่งได้ไปพบ และซื้อรองเท้าแตะที่มีรูปปราสาทนครวัดไปจากตลาดกระยอว์ (Krayov) ใน จ.ไตนิง (Tay Ninh) เวียดนาม เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไปก็ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวกัมพูชาทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง
โฆษกรัฐบาลกล่าวในตอนนั้น ว่า จะขอความร่วมมือจากทางการเวียดนามเพื่อหาต้นตอต่อไป เพื่อขอให้ยุติการผลิตออกจำหน่าย
แต่สำนักงานแถลงข่าว จ.สวายเรียง (Svay Rieng) ตั้งข้อสงสัยว่า รองเท้าแตะอาจจะทำในประเทศไทย ทั้งนี้ เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์มุนาเสกขาขะแมร์ (Moneaksekha Khmer) ฉบับภาษาเขมร ซึ่งสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้ตีพิมพ์บทเขียนชิ้นหนึ่ง วิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุนเซน ในเรื่องนี้อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน
“โดยปราศจากหลักฐานใดๆ ประกอบการกล่าวหา แต่การที่สำนักงานด้านข่าวสารของรัฐบาลแพร่ข่าวออกมาเช่นนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสมเด็จฮุนเซน ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยว่ารองเท้าแตะที่ทำให้ชาวกัมพูชาพากันโกรธเคืองนั้นผลิตในเวียดนาม..” บทเขียนกล่าวในตอนหนึ่ง
“ยังไม่ทราบว่าหน่วยงานของรัฐบาลที่ จ.สวายเรียง มีหลักฐานอะไรที่บ่งชี้ว่ารองเท้าแตะนี้ผลิตในประเทศไทย แต่ชาวกัมพูชาควรจะเอาใจใส่ตรึกตรองดูให้ดีว่า ข้อกล่าวหาเช่นนั้นมีความเป็นไปได้เพียงไร ที่ผลิตในไทยและนำไปขายที่เวียดนาม”
เขากล่าวต่อไปอีกว่า เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนาไล่ๆ กับประเทศไทย ปัจจุบันสินค้าที่ผลิตในเวียดนามมีขายทุกหนทุกแห่งในโลก ไม่ใช่แค่ในตลาดกัมพูชาเท่านั้น จึงไม่น่ามีความจำที่เวียดนามต้องนำเข้ารองเท้าแตะ เหมือนกับที่กัมพูชาภายใต้สมเด็จฯ ฮุนเซน ต้องนำเข้า
“มันสมเหตุสมผลหรือไม่ที่จะตั้งข้อสงสัยว่ารองเท้าแตะอื้อฉาวนี้มีต้นทางไปจากประเทศไทย?” คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ภาษาเขมร ที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านตั้งคำถามตอกย้ำ
อย่างไรก็ตาม มุนาเสกขา ออกตัวว่า ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้หมายความกำลังปกป้องประเทศไทย แต่ต้องการหาข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้ผลิตรองเท้าแตะดังกล่าว เพราะการกล่าวหาลอยๆ จะทำให้ผู้กระทำความผิดตัวจริงหัวเราะเยาะ และอาจจะทำให้เกิดปัญหากับอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับเรื่องนี้
“หลายคนอาจจะยังจำได้ว่า เมื่อพวกเราเดินขบวนต่อต้านไทยบุกเข้ารื้อค้น และเผาสถานทูตไทยนั้น มีข่าวเล่าลือกันว่ามีพวกสายลับเวียดนามเข้าร่วมด้วย เพื่อตอกลิ่มความสัมพันธ์กัมพูชากับไทย เพื่อที่จะได้ส่งสินค้าจากเวียดนามเข้าไปจำหน่ายตลาดกัมพูชาได้อย่างสะดวก” บทความเขียนกล่าว
ก็เลยยิ่งทำให้ชวนสงสัยอีกว่า.. เพราะเหตุใดในเหตุการณ์ครั้งนั้น รัฐบาลฮุนเซนจึงไม่ตั้งข้อสงสัยว่า การเผาสถานทูตไทยเมื่อต้นปี 2546 อาจจะมีพวกเวียดนามอยู่ข้างหลังบ้าง เช่นเดียวกันที่กำลังสงสัยว่าไทยอาจจะอยู่ข้างหลังกรณีรองเท้าแตะอื้อฉาวนี้ บทเขียนตั้งข้อสังเกต
"ไม่น่าแปลกใจหรอก.. เพราะว่ารองเท้าแตะปริศนานั้นทำในเวียดนาม ดังนั้น ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ทางการฮุนเซนก็จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องเวียดนาม.."
“ทุกอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน รองเท้าแตะตรานครวัด ซึ่งถือเป็นการย่ำยีหัวใจชาวกัมพูชานั้น วางขายในดินแดนเวียดนาม ผู้พบเห็นต่างก็เชื่อว่าเป็นสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทในเวียดนาม แต่ทางการฮุนเซนกลับเฉไฉทำให้เห็นเป็นอย่างอื่น เพื่อปกป้องเจ้านายของพวกเขา”
ถ้าหากทำจากประเทศไทย รองเท้าพวกนั้นก็คงจะไม่วางขายในเวียดนามเพียงแห่งเดียว มันคงจะมีจำหน่ายในประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าพวกนั้นควรจะต้องมาถึงกัมพูชาก่อนจะไปถึงเวียดนาม ที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย
“การออกข่าวตั้งข้อสงสัย (ประเทศไทย) อย่างไร้ข้อเท็จจริงนี้ เป็นการพิสูจน์ว่าระบอบฮุนเซนไม่ได้แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของนครวัด และศักดิ์ศรีของประเทศ ทั้งๆ ที่รองเท้าแตะอันเป็นการดูหมิ่นดูแคลนชาวกัมพูชาทั้งปวงนั้น พบวางขายในเวียดนาม เพราะเหตุใดจึงไม่ตั้งข้อสงสัยว่ามันอาจจะผลิตในเวียดนาม?”
“สิ่งนี้แสดงให้เห็นธาตุแท้การเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม” บทเขียนตบท้ายอย่างเผ็ดร้อน