xs
xsm
sm
md
lg

UNDP เปิดรายงานล่าสุด ชี้การพัฒนามนุษย์ทั่วโลกโตต่ำสุดในรอบ 35 ปี !! ไทยอยู่อันดับ 76 จาก 193 ประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนามนุษย์กำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของการพัฒนามนุษย์ทั่วโลกที่คาดการณ์ไว้สำหรับปี พ.ศ. 2568 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการวัดผลในปี พ.ศ. 2533


เมื่อเผชิญกับการพัฒนามนุษย์ที่เติบโตต่ำที่สุดในรอบ 35 ปี รายงานการพัฒนามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2568 (Human Development Report 2025) ของ UNDP จึงสนับสนุนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้วยแนวทางใหม่ๆ รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งผลการสำรวจเกี่ยวกับ AI ทั่วโลกครั้งใหม่ในรายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนยังคงมองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก AI ตามความเป็นจริง แต่ในขณะเดียวกันก็มองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างมีความหวัง โดยร้อยละ 60 ของผู้คนทั่วโลกมอง AI ในแง่ดีว่าจะสร้างโอกาสในการทำงานให้กับมนุษย์ได้

รายงานการพัฒนามนุษย์ประจำปีพ.ศ. 2568 ของ UNDP ภายใต้หัวข้อ "ทางเลือกที่สำคัญ: ผู้คนและความเป็นไปได้ในยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI)" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอายุขัยเฉลี่ย จำนวนปีการศึกษา และรายได้ประชาชาติ (Gross National Income: GNI) ของแต่ละประเทศทั่วโลก เพื่อพัฒนาดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ซึ่งเป็นมาตรวัดการพัฒนาของมนุษย์ที่ครอบคลุมกว่าการวัดด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 76 จาก 193 ประเทศ ทำให้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี ‘การพัฒนามนุษย์สูง’ (High Human Development) ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่สูงเป็นอันดับสองจากการจัดกลุ่มทั้งหมด โดยดัชนีการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยลดลงมาเล็กน้อยจากปีที่แล้วที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘การพัฒนามนุษย์สูงมาก’ (Very High Human Development) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลอายุขัยเฉลี่ยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีการพัฒนามนุษย์ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่าง บรูไน จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์

ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์อย่างรวดเร็วที่สุดในโลกในช่วงปีพ.ศ. 2533 ถึงปี พ.ศ. 2566 โดยดัชนีการพัฒนามนุษย์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึงเอเชียใต้ ต่างเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามดัชนีการพัฒนามนุษย์ล่าสุดสะท้อนภาพรวมของโลกที่น่าเป็นห่วง อย่างความก้าวหน้าของทุกภูมิภาคทั่วโลกที่ชะลอตัวลง และความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนที่ขยายกว้างมากขึ้น โดยช่องว่างระหว่างประเทศที่มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำกับประเทศที่มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงมากขยายกว้างมากขึ้นเป็นระยะเวลาสี่ปีติดต่อกัน

อาคิม สไตเนอร์ (Achim Steiner) ผู้อำนวยการใหญ่ประจำ UNDP กล่าวว่า “หลายทศวรรษที่ผ่านมา เราถือว่าอยู่ในกรอบเวลาที่จะบรรลุเป้าหมายที่โลกมีการพัฒนามนุษย์สูงภายในปี พ.ศ. 2573 แต่การชะลอตัวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ส่งสัญญาณแห่งภัยคุกคามที่แท้จริงต่อความก้าวหน้าของการพัฒนามนุษย์ระดับโลก หากความก้าวหน้าที่ล่าช้าในปีพ.ศ. 2567 กลายเป็น 'บรรทัดฐานใหม่' ของประเทศต่างๆ เป้าหมายสำคัญที่เราอยากให้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2573 จะล่าช้าไปอีกหลายทศวรรษ ซึ่งจะทำให้โลกของเรามีความปลอดภัยน้อยลง แตกแยกมากขึ้น และเสี่ยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศมากขึ้น

ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของ UNDP ได้เพิ่มชั้นข้อมูลในการการวิเคราะห์การพัฒนามนุษย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่าอะไรเป็นตัว ‘ขับเคลื่อน’และ ‘ทำลาย’ ความก้าวหน้าของการพัฒนาในแต่ละประเทศ สำหรับดัชนีการพัฒนาของมนุษย์ที่ถูกวิเคราะห์เพิ่มเติมคู่กับข้อมูลด้านความเหลื่อมล้ำ (Inequality-adjusted HDI: IHDI) พบว่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยลดลง ขณะที่ดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่ถูกวิเคราะห์เพิ่มเติมคู่กับข้อมูลด้านความเท่าเทียมทางเพศ ประเทศไทยกลับมีผลการดำเนินงานที่ดี เช่นเดียวกับสิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่ความก้าวหน้าในด้านสุขภาพ การศึกษา และรายได้ของชายและหญิงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

ประเทศไทยและมองโกเลียยังเป็นเพียงสองประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย โดยค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 0.802 ซึ่งสูงกว่าค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ของของผู้ชายไทยเล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ 0.795

สำหรับการพัฒนามนุษย์ของไทยที่ถูกวิเคราะห์ในสมการว่าการพัฒนามนุษย์มีต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อโลกมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และรอยเท้าทางวัตถุ พบว่า คะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยลดลงเล็กน้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Planetary pressures–adjusted HDI: PHDI) ที่อยู่ที่ 0.726 ซึ่งยังถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่เป็นบวกต่อธรรมชาติ

เมื่อการพัฒนามนุษย์ทั่วโลกชะลอตัว รายงานฉบับนี้จึงเน้นถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ด้วยการนำเสนอผลการสำรวจทั่วโลกเกี่ยวกับ AI ครั้งใหม่ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนมองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก AI ตามความเป็นจริง แต่ก็มีความหวังว่า AI จะสามารถนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่การพัฒนามนุษย์ได้ โดยผู้ตอบแบบสำรวจครึ่งหนึ่งจากทั่วโลกคิดว่างานของตนอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี แต่ 6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่า ยังคาดหวังว่า AI จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการจ้างงาน รวมถึงสร้างโอกาสในการทำงานที่อาจยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน

มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่กลัวว่า AI อาจนำไปสู่การสูญเสียงาน ในทางตรงกันข้าม ในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำและปานกลางพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดหวังว่า AI จะช่วยเพิ่มผลผลิต และผู้ตอบแบบสำรวจ 2 ใน 3 คาดว่าจะใช้ AI ในด้านการศึกษา สุขภาพ หรือการทำงานภายในปีหน้า

ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 1 ใน 5 รายงานว่า พวกเขาใช้ AI อยู่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำ AI มาใช้จริงอย่างทั่วถึง และผู้ตอบแบบสำรวจ 2 ใน 3 ในประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำคาดว่าจะใช้ AI ในการศึกษา สุขภาพ หรือการทำงานภายในปีหน้า ซึ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต

นีฟ มารี คอลิเออร์-สมิธ (Niamh Collier-Smith) ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "เราหวังว่าข้อมูลการพัฒนามนุษย์ในปีนี้จะส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่น่าเสียดายที่สิ่งที่เราเห็นคือการชะลอตัวของการพัฒนาของมนุษย์ทั่วโลก ถึงอย่างนั้น ยังมีหลายวิธีที่จะปรับเปลี่ยนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งรวมถึงการนำ AI เข้ามาช่วย เพราะผลสำรวจทั่วโลกของ UNDP แสดงให้เห็นว่าผู้คนมองว่า AI เป็นโอกาสเพียงหนึ่งครั้งในรอบชั่วอายุคน ที่จะถูกนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูการพัฒนามนุษย์ นับเป็นการส่งข้อความให้กับประเทศไทยและแต่ละประเทศในการคว้าโอกาสนี้ไว้ตอนนี้”

รายงานการพัฒนามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2568 อธิบาย 3 ขั้นตอนที่แต่ละประเทศสามารถดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์จาก AI ในการพัฒนาของมนุษย์

1. สร้างเศรษฐกิจที่ผู้คนสามารถทำงานร่วมกับ AI แทนที่จะแข่งขันกับ AI

2. ผนวกตัวแทนของมนุษย์ไว้ในวงจรชีวิตของ AI ทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการใช้งาน

3. ใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาและสุขภาพให้ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการในศตวรรษที่ 21

อ่านรายงานการพัฒนามนุษย์ปี 2568 ฉบับเต็มได้ที่ : https://hdr.undp.org/content/human-development-report-2025


กำลังโหลดความคิดเห็น