"ภาคการเกษตรจะปรับตัวอย่างไร เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป" ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายเพิ่มขึ้นต่อความมั่นคงทางอาหารและภาคการเกษตรไทย ล่าสุด กรมลดโลกร้อน จับมือ จิสด้า และ 4 หน่วยงานภาคการเกษตร กระชับความร่วมมือในการใช้ “ข้อมูลดาวเทียม” รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
• ชี้เหตุโลกรวน ทวีความรุนแรง
เนื่องจากเป็นภาคส่วนผลิตอาหารเลี้ยงประชากรและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคส่วนนี้ แต่ความมั่นคงของภาคการเกษตรไทย ส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่เหมาะสม เนื่องจากระบบเกษตรไทยส่วนใหญ่ยังเป็นระบบเกษตรที่อาศัยดินฟ้าอากาศ ในประเด็นนี้ ฝนมากไป ฝนน้อยไป ฝนทิ้งช่วง หรือตกไม่ตรงตามฤดูกาล ตลอดจนอุณหภูมิและความชื้นอากาศในแต่ละฤดู ย่อมส่งผลโดยตรงกับผลผลิต
เมื่อเกิดสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและระบบเกษตรไทย โดยเฉพาะความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใต้ดิน ความเข้มของแสง และอัตราการระเหยน้ำผิวดินในปีที่มีอากาศร้อนจัด เป็นต้น
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลโดยตรงต่อสภาพอุทกวิทยาของลุ่มน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไปจากเดิมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและปริมาณน้ำฝนบริเวณต้นน้ำ ย่อมส่งผลต่อปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงสู่พื้นที่เก็บน้ำ อาจส่งผลให้การปฏิบัติการชลประทานไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่เคยดำเนินการ ขณะเดียวกันความต้องการน้ำเพื่อกิจกรรมด้านการเกษตร มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้น้ำเพื่อชลประทานที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ
ความแปรปรวนของสภาพอากาศ หรือสภาวะโลกรวนเป็นสิ่งที่พบเห็นเสมอในปัจจุบัน จึงเป็นเงื่อนไขให้ภาคการเกษตรไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตจะส่งผลให้รูปแบบของสภาพอากาศแต่ละฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป และเกิดความผันผวน แปรปรวนในรอบปีต่อปีที่มีความรุนแรงมากขึ้น
นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ(MOU) ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมา
• ข้อมูลดาวเทียม เพิ่มความแม่นยำรับมือความเสี่ยง
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือฯ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาชุดข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนหลักในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ตลอดจนกลไก มาตรการที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ที่สอดคล้องกับความต้องการในภาคเกษตร
“ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมาย ไปสู่การปฏิบัติ และเสริมสร้างการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นให้กับเกษตรกรให้พร้อมกับการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในอนาคต ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”
• ข้อมูลดาวเทียม ทำให้การวางแผนบริหารจัดการและรับมือภาวะโลกรวนอย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีอวกาศมาสนับสนุนการพยากรณ์ความเสี่ยงและผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการบริหารจัดการภาคเกษตรและทรัพยากรน้ำอย่างแม่นยำ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเกษตรกรรม การจัดการทรัพยากรน้ำ และการวางแผนนโยบายเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยเน้นการใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ความร่วมมือนี้จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถกำหนดนโยบายเชิงรุก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติในระยะยาว เช่น การติดตามแนวโน้มภัยแล้งและน้ำท่วม เพื่อปรับแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยจะเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมสำหรับการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในด้านการแก้ปัญหาเชิงรุกอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างดี
เขาย้ำว่าทั้ง 6 หน่วยงานจากข้อตกลงความร่วมมือ จะร่วมกันผลักดันการใช้เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการภาคเกษตรและทรัพยากรน้ำของประเทศไทยให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวและลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของภาคการเกษตร
การนำข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีการตรวจวัดอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อมูลดาวเทียมจากแหล่งต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาศึกษาวิจัยด้านภูมิอากาศวิทยา เพื่อวิเคราะห์ติดตามการเปลี่ยนแปลง ทั้งบริเวณผิวพื้นและในชั้นบรรยากาศ จะช่วยให้เข้าใจและเห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในด้านต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และเกษตรกร นำไปใช้ในการวางแผนบริหารจัดการและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของแต่ละภาคส่วนเพื่อเตรียมพร้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ
ประโยชน์หลายด้านจากข้อมูลดาวเทียม THEOS-2
THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำหน้าที่เก็บภาพรายละเอียดสูง ถึง 50 เซนติเมตรต่อพิกเซล ซึ่งถือเป็นดาวเทียมสำรวจโลกรายละเอียดสูง (Very High Resolution) ที่ดีที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เทียบชั้นได้กับดาวเทียมรายละเอียดสูงในกลุ่มผู้นำโลก สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลมาที่สถานีภาคพื้นดินได้ ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และถูกวางโครงสร้างให้มีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี
ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่
1. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ปริมาณพื้นที่ป่าที่เคยมีและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าที่เกิดขึ้นว่ามีการลดลงหรือเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ในพื้นที่ไหนบ้าง และประเทศไทยควรมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2. ด้านการจัดการภัยพิบัติ
ส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังภัยพิบัติต่างๆ อาทิ ไฟป่า น้ำท่วม น้ำแล้ง และ PM 2.5 สามารถวางแผนความช่วยเหลือต่างๆ ได้อย่างเท่าทันต่อสถานการณ์และทันท่วงที
3. ด้านการจัดการเกษตร
ติดตามและคาดการณ์การปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและราคาพืชผล รวมถึงการวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของพืช เพื่อการใส่ปุ๋ยที่แม่นยำ หรือการแก้ปัญหาการระบาดของแมลงและโรคพืช เป็นต้น
4. ด้านการแบ่งปันข้อมูล
ประเทศไทยเป็นเจ้าของข้อมูล ที่แบ่งปันกันได้ทั้งในแวดวงวิชาการ แวดวงธุรกิจ และความมั่นคง ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่ภาครัฐเท่านั้นแต่ยังรวมถึงภาคเอกชนและผู้ประกอบการเทคโนโลยีอวกาศทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
5. ด้านการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย
สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยที่สนใจในด้านวิทยาศาสตร์และอยากทำงานสายวิทยาศาสตร์ โดย GISDA ได้วางแผนระยะยาว เรื่องการส่งเสริมบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต