xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซ ฟันธง “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” แก้ฝุ่นพิษไม่จบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 68 ครม.เห็นชอบ "ยุทธศาสตร์ฟ้าใส" แก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ลาว-เมียนมา-ไทย ด้วยการร่วมมือระหว่างประเทศผ่านการควบคุมระดับไฟจากการเผาในที่โล่ง การจัดการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การบังคับใช้กฎหมายและการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม

ทว่า เอ็นจีโอ กรีนพีซ ประเทศไทย กลับเห็นว่า ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรมของรัฐบาลไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งไม่ตรงจุดและไร้ความกล้าหาญ โดยไม่ระบุถึงบทบาทและภาระรับผิดของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

“หากไม่มีระบบตรวจสอบย้อนบริษัทเกษตรและเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ไม่ละเลยภาระรับผิดต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนตลอดห่วงโซ่อุปทานก็คงยากต่อการบริหารจัดการให้บรรลุตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ฟ้าใส”


ปัจจุบันการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นผลจากยุทธศาสตร์ความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMEC) เมื่อปี 2546 และอภิสิทธิทางภาษีอากรนำเข้า 0% เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นโดยที่เน้นการส่งออกเนื้อไก่เป็นอันดับต้นของโลก

ดังนั้น กลไกสำคัญในการต่อกรกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่ต้นเหตุจึงต้องมีมาตรการส่งเสริมและบังคับใช้การเปิดเผยข้อมูลของห่วงโซ่อุปทานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดให้สาธารณะชนเข้าถึงข้อมูลของบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจข้ามแดน นโยบายบังคับใช้การตรวจสอบย้อนกลับนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ไม่ละเลยภาระรับผิดต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

รัฐบาลไทยต้องกล้าแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนที่เกี่ยวโยงกับบริษัทอุตสาหกรรมของไทย เพราะนี่คือหัวใจสำคัญที่ขาดหายไปจากแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ฟ้าใส แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจากการแก้ไขปัญหาฝุ่นข้ามแดนที่คุกคามลมหายใจของเราอย่างเป็นรูปธรรม


5 ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้ยุทธศาสตร์ฟ้าใสมีประสิทธิภาพจริง

1. กำหนดให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างเคร่งครัดและโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานในประเทศและข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ โดยที่สาธารณะและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งระบบนี้จะต้องสอดคล้องกับความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากฝุ่นควันข้ามแดนปี 2545 ที่รับรองถึงความเป็นธรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดให้มีกรอบทางกฎหมายที่ครอบคลุมโดยรัฐบาลแต่ละประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่เชื่อมโยงกับกฎหมายระดับภูมิภาคเพื่อทำให้บริษัทอุตสาหกรรมมีภาระรับผิดต่อการก่อมลพิษทางอากาศข้ามแดนโครงสร้างทางกฎหมายนี้จะเป็นกรอบให้บริษัทอุตสาหกรรมปฏิบัติตามมาตรการตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงยังส่งเสริมการร่วมมือที่เคร่งครัดขึ้นระหว่างสมาชิกประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ครอบคลุมทั้งในประเทศและพันธกรณีนอกอาณาเขตที่ส่งผลกระทบข้ามแดน รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (corn traceability) ของบริษัทเกษตรอุตสาหกรรม

2. กำหนดให้มีการเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหากในห่วงโซ่อุปทานของตนเชื่อมโยงกับการก่อมลพิษทางอากาศ ทั้งภายในประเทศและรวมถึงธุรกิจข้ามแดนที่ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและส่งผลกลับมายังประเทศไทย ซึ่งมาตรการเอาผิดผู้ก่อมลพิษนั้นไม่ควรจำกัดที่เกษตรกร หรือชุมชนผู้พึ่งพิงป่าผู้ใช้ไฟ แต่ควรเป็นการเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต้นทางวัตถุดิบในพื้นที่แปลงเกษตรระดับอุตสาหกรรม เช่น บริษัทปลายทางผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรใดที่เกี่ยวข้องกับการก่อมลพิษและการเผาเศษวัตถุดิบทางเกษตร ว่าเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าและก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดนหรือไม่ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันและเลี่ยงความเสี่ยงการก่อฝุ่นพิษตั้งแต่ต้นทาง

3. กำหนดมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางวิถีชีวิต สุขภาพกายและสุขภาพจิตจากฝุ่นพิษที่มีที่มาจากการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและธุรกิจข้ามแดน โดยบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการก่อฝุ่นพิษจำเป็นจะต้องเป็นผู้ชดใช้และเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

4. ลดพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ เพราะนอกจากผลตอบแทนจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัวแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นวงกว้าง โดยที่ผู้ได้ประโยชน์จากระบบการผลิตเหล่านี้กลับไม่ใช่เกษตรกรรายย่อย แต่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่

5. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภูมิภาคภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกษตรกรรมยั่งยืน โดยให้ความสําคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ประกอบการ




กำลังโหลดความคิดเห็น