ค่าฝุ่นพิษ PM2.5 เกินมาตรฐาน แถบภาคเหนือ-อีสาน ปี 2568 ยังไม่แผ่ว เมื่อถึงฤดูกาลเผาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเตรียมแปลงปลูกใหม่ ชี้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส อาจเป็นเสือกระดาษซ้ำรอยแก้ปัญหา “ฝุ่นข้ามแดน” นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม-กรีนพีซ ย้ำต้องแก้ที่ต้นตอ ออกกฎระเบียบ กีดกันสินค้าที่มาจากการเผา บังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ
• ย้อนรอย กว่าสามทศวรรษที่แก้ไม่ตก
ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนที่เกิดขึ้นทุกปีในประเทศไทย สปป.ลาว และเมียนมา ทั้ง 3 ประเทศได้มีการดำเนินงานร่วมกันต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี ส่วนการริเริ่มยุทธศาสตร์ฟ้าใส (Clear Sky Strategy) เมื่อเดือนเมษายน 2566 เป็นข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ในการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน พ.ศ. 2567-2573
ประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อน การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟไหม้ป่า (fire risk map) การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพต่อประชาชน การส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และการจัดตั้งสายด่วน (hotline) เพื่อประสานงานระหว่างทั้งสามประเทศ
โดยคาดหวังยกระดับความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคผ่านการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการร่วมฯ และเป็นการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในวงกว้างถึงผลกระทบของมลพิษทางอากาศข้ามแดน เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นภูมิภาคปลอดหมอกควันอย่างแท้จริง
ทว่าเมื่อต้นปี 2568 รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ประกาศให้เรื่องฝุ่น เป็นวาระอาเซียน ตอกย้ำความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างไทย สปป.ลาว และเมียนมา ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฟ้าใส โดยมีเป้าหมายลดจุดความร้อนบ่งบอกว่า สถานการณ์ฝุ่นควันข้ามแดนในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ยังไม่ดีขึ้น
ข้อมูลเมื่อ 31 มีนาคม 2568 กระทรวง อว. โดย GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ระบบ VIIRS และจากข้อมูลดาวเทียมดวงอื่นๆ พบว่าประเทศไทยมีจุดความร้อนรวม 1,272 จุด ทั้งนี้ ข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 691 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 441 จุด พื้นที่เกษตร 54 จุด พื้นที่เขต สปก. 52 จุด พื้นที่ชุมชนและพื้นที่อื่นๆ 31 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด
ขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านพบมากที่สุดที่เมียนมา 10,402 จุด สปป.ลาว 1,376 จุด กัมพูชา 165 จุด เวียดนาม 33 จุด และมาเลเซีย 7 จุด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนจากเมียนมา และ สปป.ลาว ยังไม่แผ่ว
• เผาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นตอก่อฝุ่นพิษ
ปัจจัยหลักที่ก่อหมอกควันพิษข้ามแดน ต้นตอของ PM2.5 ในภาคเหนือและอีสาน คือการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะจาก “พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ได้ปล่อยควันและฝุ่นละอองจำนวนมากสู่อากาศเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวและมีการเผาตอซัง วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (ช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม) เพื่อเตรียมแปลงใหม่ ซึ่งตรวจพบจากปริมาณจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ผลการวิเคราะห์ภาพจากดาวเทียมช่วงปี 2567 ของกรีนพีซพบว่า : ในปี 2567 พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวมทั้งหมด 15,328,533.50 ไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือตอนบนของไทย 2.9 ล้านไร่ รัฐฉานของเมียนมา 6.6 ล้านไร่ และตอนบนของสปป.ลาว 5.8 ล้านไร่ โดยพบร่องรอยเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีทั้งหมด 3,762,728.63 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.85 ของร่องรอยเผาไหม้ทั้งหมดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในปี 2567
ตามรายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี 2567 โดย IQAir ยังพบว่าในปี 2567 เดือนมีนาคม – เมษายน เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยจังหวัดเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายเดือนเรียงตามลำดับอยู่ที่ 71.6 และ 76.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินมาตรฐานค่าแนะนำของ WHO มากกว่า 10 เท่า และหมายถึงระดับมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ
• แนะออกกฎระเบียบ กีดกันสินค้าที่มาจากการเผา
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ ‘ข้อตกลง’ ในอาเซียน 10 ประเทศ หรือที่เรียกว่า MOU ซึ่งไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ทำให้ไม่มีการเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา
“เช่น เราได้รับหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือ สิ่งที่ตามมาคือว่า เราจะต้องใช้วิธีการแจ้งไปที่เลขาธิการอาเซียน แล้วเลขาธิการอาเซียนก็ไปบอกกับประเทศที่ก่อกำเนิดให้จัดการแก้ไข ซึ่งมันเป็นเพียงข้อตกลงเขาเลือกจะไม่ทำก็ได้”
ประเทศไทยมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 8 ล้านตันต่อปี แต่สามารถปลูกภายในประเทศได้เพียงปีละประมาณ 4.8 ถึง 5 ล้านตัน ทำให้จำเป็นต้องมีการนำเข้า จากต่างประเทศ อย่าง สปป.ลาว เมียนมา และ กัมพูชา โดยเมื่อปี 2566 นำเข้า ประมาณ 1.33 ล้านตัน ปี 2567 นำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตัน และภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) ที่เป็นพันธสัญญาร่วมกัน โดยผู้ที่นำเข้าไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
“สมมติว่าเราไปซื้อข้าวโพดจากเมียนมา เอาเข้ามาประเทศไทย ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ทำให้สินค้าของเราราคาถูก ราคาถูกเหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ที่ว่าได้เปรียบคู่แข่ง แล้วขนส่งก็ง่าย พอไม่เสียภาษีการกดดันก็ยาก และสิ่งที่สำคัญในปี 2568 ยังคงมีข้อตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ภาษี 0% อยู่”
มีนายทุนจากประเทศไทย ไปลงทุนให้เกษตรกรปลูกอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปลูกอยู่ประมาณ 2 ล้านไร่ อย่างที่เมียนมา จะอยู่ที่รัฐฉานจำนวนมาก แต่เมื่อซื้อข้าวโพดกลับมา นำกลับมาเพียงแค่เมล็ด แต่ทิ้ง “ตอซัง” ไว้ เกษตรกรผู้ปลูกก็ต้องทำการเผา ซึ่งจะเริ่มช่วงกุมภาพันธ์ของทุกปี และประมาณต้นเดือนมีนาคม จะเกิด ‘สภาพอากาศปิด’ ที่ทำให้เหมือนมีฝาชีครอบ ทำให้ควันจากการเผาของเกษตรกร ลอยมาปกคลุมอยู่ที่ภาคเหนือของไทย เนื่องจากลมพัดมาที่ประเทศไทยพอดี
“ผมมีข้อเสนอเพื่อควบคุมการเผาที่เกิดขึ้นจากการรับซื้อข้าวโพดด้วย ‘ประกาศกระทรวง’ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ของไทย ออกประกาศกระทรวงเพิ่มเงื่อนไข เรื่องการเผาในพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่ป่า พูดง่าย ๆ ก็คือ กีดกันไม่รับซื้อสินค้าที่พิสูจน์ได้ว่ามาจากการเผา ไปออกประกาศเลย เพราะสามารถพิสูจน์ได้จากดาวเทียม ถ้ามองเห็นว่าพื้นที่ตรงไหนมีการเผาจากเพื่อนบ้าน พื้นที่นั้นจะไม่ถูกรับซื้อ”
• บังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ
นายสมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอ้อผญา (องค์กรสาธารณประโยชน์) และอดีตผู้ประสานงานแม่แจ่มโมเดลพลัส มองการแก้ปัญหาฝุ่นพิษและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งเขามองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้จากโครงสร้าง ทั้งระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ และนโยบาย คือ
-แก้ระเบียบกฎหมายให้บังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชผลเกษตรอื่นอย่างจริงจัง เช่นมาตรฐาน gap, gnp เป็นต้น
-บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ เข้าหากันในการตรวจสอบย้อนกลับ ทั้งเกษตรอำเภอ กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ฯ กระทรวงทรัพย์ฯ และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง
-ใช้เทคโนโลยีกำกับติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงระบบการตรวจสอบและฐานข้อมูลที่ทันสมัย
-บังคับใช้กฎหมายให้คุณและโทษอย่างจริงจังมากขึ้นในห่วงโซอุปทาน
-รัฐต้องมีมาตรการที่ส่งเสริมพัฒนาและยกระดับเกษตรกรมากขึ้นในด้านทักษะต่าง ๆ ไม่ใช่แค่กำกับติดตามลงโทษ ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเร่งด่วน เช่น ปัญหาหนี้สินเกษตรกรปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับการลดต้นทุนด้วยการเผา จะทำให้เกษตรกรไทยไปรอดมากขึ้น
-การนำเข้าและส่งออกต้องสมดุล เช่น ราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศกับในไทยต้องไม่แตกต่างกันมากนัก เพื่อลดปัญหาราคาข้าวโพดในประเทศตกต่ำ และนำเข้าเฉพาะที่ขาดหายไป จะได้ช่วยเกษตรกรพอมีรายได้นำไปใช้ในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่ใช่การเผา
เขาเสริมว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความรับผิดชอบของบริษัทอุตสาหกรรม “บริษัทเอง ในส่วนห่วงโซ่อุปทานก็ต้องลงมารับผิดชอบ โดยใช้เครื่องมือ กลไกของรัฐ หรือถ้าเห็นว่ารัฐทำงานช้าคุณก็สามารถดำเนินการไปในกรอบนี้ได้เลย ตรวจสอบย้อนกลับให้ได้อย่างจริงจังตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างเข้มงวด ไล่ลงมาทีละขั้นตอน และเปิดเผยข้อมูล”
ด้านกรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการต่อบริษัทอุตสาหกรรมให้ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสและเปิดเผยต่อประชาชน อันจะเป็นกลไกสำคัญที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือที่ต้นเหตุ ซึ่งสำหรับบริษัทเองจะเป็นมาตรฐานที่ดีในการแสดงถึงภาระรับผิด และความจริงใจถึงการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดน การทำลายป่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม
ข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรจะเป็นความลับทางการค้า แต่จะต้องเป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคและคนทั่วไปมีสิทธิที่จะรับรู้เพื่อได้รับข้อมูลครบถ้วน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการก้าวไปสู่รายงานความยั่งยืนที่โปร่งใสของบริษัท และนโยบายต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่สร้างบนพื้นฐานความเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่เช่นนั้นแล้วการระบุหาผู้ผิดภายใต้ฝุ่นพิษของรัฐบาลจะหนีไม่พ้นวังวนของการเอาผิดประชาชนตัวเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเกษตร ชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ และผู้คนทั่วไปที่ทำเกษตรและอาศัยพึ่งพิงอยู่กับป่าว่าเป็นผู้ก่อฝุ่นพิษระดับภูมิภาค ขณะที่ละเลยอุตสาหกรรมผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง