xs
xsm
sm
md
lg

ถุงวิบวับแปลงร่าง! ประโยชน์สองต่อ ลดขยะกำพร้า - ช่วยเหลือเด็กนักเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อต้นเดือนมี.ค.นี้ Green Road ใช้ถุงวิบวับมากถึง “850,000 ถุง” นำไปสร้างห้องเรียนให้กับเด็ก ๆ โรงเรียนบ้านป่าก้าง หลังจากที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว เมื่อปี 2566 ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างของแนวทางเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ตอบโจทย์ ESG ทั้งช่วยสิ่งแวดล้อม โดยการลดขยะกำพร้า-ขยะพลาสติก และยังได้ช่วยสังคมเมื่อนำไปสร้างห้องเรียนให้เด็กๆ

โครงการนี้ ชื่อว่า “โครงการขยะแลกบุญ” โดยทีมงานองค์กรเอ็นจีโอ Green Road ที่มี ดร.เป้า - ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ เป็นผู้นำดำเนินการรีไซเคิลถุงวิบวับให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์แผ่นปูพื้นรีไซเคิล ห้องเรียนเอนกประสงค์ โรงเรียนบ้านป่าก้าง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจุฬาเฮิร์บ หรือ Jula's Herb Thailand

ถุงวิบวับหรือซองบรรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า MLP (Multi-Layer Plastic) เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นถุงขนม ถุงน้ำยาทำความสะอาด ซองกาแฟ ถุงอาหารหมาแมว เป็นต้น ประกอบขึ้นจากพลาสติก 2- 3 ชนิด ทับซ้อนกันหลายชั้น บางประเภทอาจมีส่วนผสมของอลูมิเนียมฟอยล์ หรือกระดาษเป็นส่วนประกอบด้วย มีคุณสมบัติเหนียวแน่น แต่ยืดออกได้ยาก MLP อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่นำไปออกแบบการใช้งานได้หลากหลาย แต่มักจะถูกทิ้งในถังขยะทั่วไปและโดนนำไปฝังกลบ หรือเผา ปัจจุบันมีนวัตกรรมรีไซเคิลขยะถุงวิบวับไปเป็นน้ำเชื้อเพลิงและอะลูมิเนียม เกิดการใช้ต่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

หลายคนอาจสงสัยว่า ถุงวิบวับ ทำไมมักถูกทิ้ง และถูกเมินจนไม่ถูกคัดแยก จนทำให้ถูกมัดรวมเป็นขยะกำพร้า (Orphan waste)ซึ่งหมายถึง ขยะที่ย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ได้ รีไซเคิลก็ไม่ได้ หรือรีไซเคิลได้ แต่ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย (ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่าไม่รับ) ดังนั้นจุดจบสุดท้ายจึงมักไปหลุมฝังกลบ หรือไม่ก็ถูกเผา

แนวทางการรีไซเคิลถุงวิบวับ ของ Green Road ถึงแม้จะเป็นการลดคุณภาพพลาสติกลงก็จริง แต่ต้องถือว่าเป็นการยืดอายุของพลาสติกให้สามารถใช้ประโยชน์ได้นานขึ้น เนื่องจากโลกใบนี้ยังไม่มีทางออกที่ดีได้แบบ 100% นอกจากจะหยุดผลิต หรือหยุดใช้ตั้งแต่ต้นทาง

ดังนั้นการนำถุงวิบวับกลับมาใช้ประโยชน์ไม่เพียงแต่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากร และแก้ปัญหาปริมาณขยะในหลุมฝังกลบ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ และเป็นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)

ดร.เป้า Green Road
ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดร.เป้า Green Road บอกถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ อธิบายขั้นตอนเปลี่ยนขยะเป็นวัสดุทดแทน “โดยการนำถุงพลาสติก ถุงก๊อบแก๊บ ถุงยืด และถุงเย็น (LDPE) มาย่อยให้ละเอียด จากนั้นนำเข้าสู่เครื่องหลอมด้วยความร้อน ถุงพลาสติกเหล่านี้ ปกติไม่สามารถขายเป็นเงินได้ แต่มีข้อดีที่ความบางเบาและจุดหลอมเหลวต่ำ ประมาณ 130-140 องศา จากนั้นขึ้นรูปเป็นบล็อกปูถนน เฟอร์นิเจอร์ หรือผลิตภัณฑ์รูปทรงใด ๆ ก็ได้”

อย่างบล็อกปูถนน 1 ตัว ประกอบไปด้วยถุงพลาสติก 1 ส่วน อลูมิเนียมฟอยล์ 2 ส่วน เศษแก้วเศษทรายอีก 1 ส่วน ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดที่โปรเจกต์ Green Road ผลิต ล้วนมีสัดส่วนขยะและวัสดุอื่น ๆ แตกต่างกันไป

“ปัจจุบัน มีขยะพลาสติกหลากหลายถูกส่งมาให้ อย่างถุงวิบวับหรือถุงอลูมิเนียมฟอยล์ เราเอามาใช้ทดแทนทราย” ทั้งนี้ถุงวิบวับเป็นหนึ่งในวัสดุที่ประกาศรับบริจาคไปตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 2564

ก่อนหน้านี้ ขยะพลาสติกจำนวนหนึ่งมาจากการบริจาคของคนทั่วประเทศ เมื่อรับขยะมาแล้ว Green Road ต้องเป็นผู้คัดแยกเอง แต่ปัจจุบันผู้คนรับรู้และเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ขยะส่วนใหญ่ที่ส่งมาได้รับการแยกประเภทเรียบร้อยมาตั้งแต่ต้นทาง

ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่ง ได้รับบริจาคจากโรงงานพลาสติก ที่ยินดีส่งบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตแล้วไม่ได้มาตรฐานมาให้ Green Road นำไปรีไซเคิลสร้างประโยชน์ แทนที่จะทิ้งพวกมันไป เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดร.เป้า และทีมนักศึกษา รีไซเคิลขยะเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ บริจาคแก่โรงเรียน วัด อุทยานแห่งชาติ นำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะบล็อกปูถนนที่เป็นภาพจำของโปรเจกต์ Green Road พร้อมกับคำคมเชิญชวนที่ว่า “รับบริจาคถุงพลาสติก ขวดพลาสติก ถุงวิบวับจนกว่าจะหมดโลก”

เขาทิ้งท้ายว่า “ยังมีอีกหลายสถานที่ ๆ ต้องการวัสดุเหล่านี้ไปสร้างประโยชน์ ในอนาคต Green Road มีแผนจะนำผลิตภัณฑ์มาวางขายเพื่อสร้างทางเลือกที่กว้างขึ้นให้ผู้บริโภคในการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล”



ห้องเรียนเอนกประสงค์ รร.บ้านป่าก้าง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่  สร้างจากผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ได้จากการรีไซเคิลถุงวิบวับ


ขยะพลาสติกที่ Green Road รับบริจาคจนกว่าจะหมดโลก


อันดับ 1 ฝาขวดพลาสติก PE หรือ PP เอาไปทำโต๊ะเก้าอี้ให้โรงเรียนที่ประสบอุทกภัย ซึ่งต้องการมากที่สุด

อันดับ 2 ถุงพลาสติกยืดได้ทั่วไป ได้แก่ ถุงหูหิ้วแบบ PE / PP, ถุงแกงร้อน/เย็นที่ล้างสะอาด, ถุงนมโรงเรียน, ถุงน้ำตาลทราย, ถุงผักผลไม้, ถุงขนมปัง และถุงน้ำแข็ง เอาไปทำถนนสีเขียวเข้าอุทยานแห่งชาติ

อันดับ 3 ขวดพลาสติก PET, แก้วกาแฟแบบ PE / PP, หลอดดูด และขวดนมพลาสติก เอาไปทำบล็อกปูพื้นในวัด และโรงเรียน

อันดับ 4 ถุงวิบวับ ซองกาแฟ 3 in 1 ถุงอาหารหมาแมว เอาไปทำบล็อกปูพื้น โต๊ะเก้าอี้สนาม ในสวนสาธารณะ

ทั้งนี้บุคคลทั่วไปสามารถร่วมส่งบริจาคได้ตามที่อยู่ในเพจเฟซบุ๊ค Green Road และขอสงวนสิทธิ์บริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานเอกชน โปรดติดต่อทาง Inbox ก่อนส่งร่วมบริจาค


กำลังโหลดความคิดเห็น