xs
xsm
sm
md
lg

"ภาษีคาร์บอน + Thai CBAM" รับมือโลกการค้ายุคคาร์บอนต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคาะแล้ว! การขับเคลื่อนของประเทศไทยรับมือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู (CBAM) เริ่มจาก ภาษีคาร์บอนเพื่อให้ทันการบังคับใช้ CBAM ระยะถาวรในปีหน้า ตามด้วย บรรจุกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ Thai CBAM ไว้ในหมวด 9 ของร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ....

ถึงตอนนี้การปรับตัวของธุรกิจไทยไปสู่กระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากมาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น ยังช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในระยะยาว

ปัจจุบันมาตรการ CBAM ของอียู มีผลบังคับใช้แล้ว โดยอยู่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าต้องรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า แต่ยังไม่ต้องซื้อใบรับรอง CBAM Certificate โดยกลุ่มสินค้าที่เข้าข่าย CBAM ในปัจจุบันมี 6 กลุ่ม ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน

จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2026 เป็นต้นไป หรืออีกไม่ถึง 1 ปีข้างหน้า ผู้นำเข้าสินค้าต้องรายงานปริมาณสินค้าที่นำเข้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าเป็นรายปี และซื้อ CBAM Certificate หรือเอกสารรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากสินค้านั้นมี Embedded emissions สูงในกระบวนการผลิตเมื่อเทียบกับค่ากลางความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Benchmark value) ที่กำหนดโดย EU ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนและราคาของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงและเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สินค้ามีราคาที่แข่งขันในตลาด EU ได้

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แสดงให้เห็นว่า ในปี ค.ศ. 2023 การส่งออกสินค้าที่มาตรการ CBAM ครอบคลุม จากไทยไปยัง EU มีมูลค่า 364.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.69% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด โดยมีมูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า มากถึง 288.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ อะลูมิเนียม 75.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปุ๋ย 0.0176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนกลุ่มซีเมนต์ ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ไทยยังไม่มีการส่งออกสินค้าดังกล่าวไป EU ทั้งนี้ในช่วง Transitional Period มีเพียงผู้ผลิตไทยในกลุ่มอะลูมิเนียมเท่านั้นที่มีความพร้อมและมีการนำส่งข้อมูลค่า Embedded emissions ไปยังผู้นำเข้าสินค้า

ถึงแม้ว่าในภาพรวมการส่งออกไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการบังคับใช้มาตรการ CBAM ในระยะแรก แต่การบังคับใช้มาตรการ CBAM อาจนำไปสู่การเลียนแบบจากประเทศคู่ค้ารายอื่น ๆ เช่น สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินค้าส่งออกของไทย ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ลดลงได้


ก้าวใหม่ของภาษีคาร์บอนไทย
มาตรการ CBAM ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรปทั่วโลกต้องปรับตัวและปฏิบัติตาม รวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ประกอบการจำนวนมากส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป กรมสรรพสามิตไทยจึงเตรียมใช้ “ภาษีคาร์บอน” เป็นกลไกภาคบังคับเพื่อตามคลื่นความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศโลกและหวังให้ผู้ส่งออกนำอัตราภาษีคาร์บอนนี้ไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม CBAM รูปแบบของการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนจะนําปริมาณคาร์บอนส่วนเกินมาคํานวณกับอัตราภาษีคาร์บอน ซึ่งแต่ละประเทศจะมีฐานภาษีที่แตกต่างกันไป และส่วนใหญ่จะแบ่งประเภทของภาษีออกเป็น 2 ประเภท คือ

ภาษีคาร์บอนทางตรง เก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการ ‘ผลิต’ สินค้าโดยตรง ซึ่งมักจะมีอัตราภาษีที่สูงกว่า

ภาษีคาร์บอนทางอ้อม คือ เก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามการ ‘บริโภค’ แต่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง

จากการคาดการณ์ ภาษีคาร์บอนของไทยจะสามารถบังคับใช้ได้เร็วที่สุดภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หรือ ค.ศ. 2025 เพื่อให้ทันการบังคับใช้ CBAM ระยะถาวรในปีหน้า (ค.ศ. 2026)

ปัจจุบันอัตราภาษีคาร์บอนของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันสำหรับประเทศไทยคาดว่าในระยะแรกจะกำหนดราคากลางที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตาม ราคากลางนี้เป็นระดับที่ IMF มองว่าต่ำเกินไปที่จะช่วยลดการปล่อยมลพิษลงได้ เมื่อเทียบกับราคาคาร์บอนของสหภาพยุโรป (EU ETS) ที่มีอัตราประมาณ 2,700 บาท ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์

ในระยะแรกการเก็บภาษีคาร์บอนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากเป็นการแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เก็บอยู่แล้วให้ไปผูกติดกับภาษีคาร์บอน โดยปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีจากน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 6.44 บาทต่อลิตร และเก็บภาษีจากน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 6.50 บาทต่อลิตร โดยตัวเลขการปล่อยคาร์บอนของน้ำมันดีเซล 1 ลิตร อยู่ที่ 0.0026987 ตันคาร์บอน ขณะที่น้ำมันเบนซิน 1 ลิตร ปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 0.0021816 ตันคาร์บอน

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าการเดินหน้าของประเทศไทยในระยะแรกนี้นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการปรับใช้ภาษีคาร์บอนโดยใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการผูกกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่แล้ว เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน ซึ่งไม่สร้างภาระทางภาษีเพิ่มแก่ประชาชน และสามารถให้ผู้ส่งออกใช้ประโยชน์ในระหว่างรอกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ภาคบังคับจาก พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นตามมา

โดย พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของไทยที่จะเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับในรูปแบบระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme หรือ ETS) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะบังคับใช้ได้ในปี พ.ศ. 2572 หรือ ค.ศ. 2029


ตอบโต้ด้วย มาตรการ Thai CBAM
การรับมือกับกลไกการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ระบบภาษี หรือ Non-Tariff Trade Barrier เพื่อเก็บส่วนต่างจากคาร์บอนในอนาคต ประเทศไทย จึงได้กำหนดกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ Thai CBAM ไว้ในหมวด 9 ของร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ....

โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้ามีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า พร้อมทั้งชำระราคาใบรับรองการปรับราคาคาร์บอนตามจำนวนเท่ากับ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า โดยพิจารณาจากราคาเฉลี่ยของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยซึ่งจะเป็นภาคบังคับในอนาคต และอาจขอลดหย่อนราคาใบรับรองการปรับราคาคาร์บอนได้ หากสินค้านั้นมีการชำระราคาคาร์บอนไปแล้วในประเทศผู้ผลิตสินค้า ส่วนสินค้านำเข้าประเภทใดบ้างที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการ Thai CBAM จะมีการกำหนดในกฎกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองต่อไป

ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระยะเปลี่ยนผ่าน (พ.ศ. 2566-2568) แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศได้เร่งจัดทำฐานข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนตลอดกระบวนการผลิต หรือ LCA เพื่อให้เมื่อถึงปีหน้า ( พ.ศ. 2569) ผู้ประกอบการไทยจะมีข้อมูลพร้อมแสดงต่อ EU ทำให้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีอุปสรรคมาทำให้การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยข้อมูลที่ละเอียดและชัดเจนจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย

ส่วนการนำฐานข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนของแต่ละอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ของแต่ละภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อน ‘ภาครัฐ’ สามารถนำไปใช้วางนโยบายและกฎเกณฑ์สีเขียวสำหรับสินค้าส่งออกและนำเข้า ‘ภาคเอกชน’ ใช้วางแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ ‘ภาคการวิจัยและภาคการศึกษา’ ใช้พัฒนาเทคโนโลยีให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น