xs
xsm
sm
md
lg

"โรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล" อีกต้นตอ PM 2.5 ในกรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรีนพีซ เผยค่า PM2.5 จากรายงานคุณภาพอากาศ ณ จุดที่ตั้งของโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล พระนครเหนือ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี และพระนครใต้ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ในวันที่ค่าฝุ่นอยู่ระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพว่าเป็นอีกแหล่งกำเนิดฝุ่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แถมยังเป็นอุปสรรคขัดขวางการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด

การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของโรงไฟฟ้าทั้งสองคือหนึ่งในแหล่งกำเนิดหลักของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx), ฝุ่นละออง (PM), คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ปรอท (Hg) และมลพิษอื่น ๆ

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 จากปลายปล่อง แต่มีประกาศโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเรื่องกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไปกลับไม่ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้เลย มิหนำซ้ำการปล่อยมลพิษเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงโดยโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลหรือที่อุตสาหกรรมฟอสซิลเรียกว่า “ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas)” กำลังปล่อยมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายรวมถึงก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์

แม้ว่าโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลจะถูกมองว่าปล่อยมลพิษทางอากาศน้อยกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ของออกไซด์ของไนโตรเจน(NOx) ซึ่งส่งผลให้เกิดโอโซนภาคพื้นดิน (ground-level ozone) และหมอกควัน (smog) ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น ฝุ่นพิษPM 2.5 ที่ประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้


มลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล กับเป้าหมายที่ล้มเหลว

ข้อมูลจากรายงาน EIA ระบุว่า โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 1,930 เมกะวัตต์ และมีแผนจะขยายเพิ่มรวมทั้งสิ้นเป็น 4,519.4 เมกะวัตต์ในปี 2569-2570 ซึ่งเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะปล่อยฝุ่นละอองสู่บรรยากาศวันละกว่า 4.6 ตัน และปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) มากกว่า 6.4 ตันต่อวัน

ออกไซด์ของไนโตรเจน(NOx) ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดอย่างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลนั้นมีศักยภาพสูงในการก่อตัวของมลพิษขั้นทุติยภูมิ (secondary pollutants) รวมถึงฝุ่นพิษ PM2.5 ในบรรยากาศของกรุงเทพฯ และปริมณฑล การติดตามตรวจสอบและลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์จึงมีความสำคัญ นอกเหนือจากการที่สาธารณชนต้องเข้าถึงรายงานการวัดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปลายปล่องแล้ว มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการทำให้มาตรฐานการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์เข้มงวดมากขึ้น

การโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิลเพื่อฟอกเขียวที่ว่า “โรงไฟฟ้าก๊าซเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดและมั่นคง” กำลังเป็นผลกระทบในเชิงกว้างต่อสิ่งแวดล้อมเพราะความต้องการสร้างความมั่งคั่งทางผลกำไรและอ้างความมั่นคงทางพลังงานจึงกลายเป็นความต้องการสร้างเป้าหมายที่จะพึ่งพาก๊าซฟอสซิลมากขึ้นจึงนำไปสู่แผนการพัฒนาด้านพลังงานที่ถึงแม้ระบบโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าก๊าซจะถูกออกแบบมาอย่างดี และพบว่านอกเหนือจากการเป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ ที่มีการปลดปล่อยของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล ยังมีโอกาสเกิดการรั่วไหลของก๊าซมีเทน การศึกษาหนึ่งในโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล 3 แห่งพบว่า อัตราการรั่วไหลอยู่ระหว่าง 0.1% ถึง 0.42% ซึ่งมากกว่าที่โรงงานประเมินไว้ถึง 21 ถึง 120 เท่า

นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ขั้นตอนการรีสตาร์ทโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล จะทำให้ก๊าซมีเทนที่หลงเหลือถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม อีกทั้งมีเทนยังรั่วไหลสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมากระหว่างกระบวนการผลิตและการขนส่ง ซึ่งส่งผลให้กระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกไม่ต่างจากถ่านหิน นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีเทนรั่วไหลสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าที่รายงานอย่างเป็นทางการ ข้อมูลจากดาวเทียมเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซมีเทนแสดงให้เห็นถึงปริมาณก๊าซมีเทนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในชั้นบรรยากาศจากแหล่งก๊าซฟอสซิลและน้ำมันรวมไปถึงเหมืองถ่านหิน

การวิเคราะห์พบว่ากำลังการผลิตก๊าซฟอสซิลที่กำลังก่อสร้างทั่วโลกควบคู่กับแผนการขยายกำลังการผลิต จะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เพิ่มขึ้นในระดับที่นำเราเข้าใกล้หายนะทางสภาพภูมิอากาศ และในงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า การใช้ก๊าซฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้า มีส่วนทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรใน 96 เมืองทั่วโลกในปี 2020 เกือบเท่ากับพลังงานจากถ่านหิน


ตัวการขัดขวางพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม

การลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล LNG ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ขัดขวางการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด แต่ยังส่งเสริมการขุดเจาะก๊าซฟอสซิล การสร้างระบบเครือข่ายท่อขนส่ง และก่อให้เกิดการรั่วไหลของก๊าซมีเทนที่เกี่ยวข้องกับก๊าซฟอสซิล

ประเทศไทยในปี 2025 จะมีแผนการนำเข้า LNG เพิ่มเติมจำนวน 5 ล้านตัน (ประมาณ 70 ลำเรือ) เพื่อวัตถุประสงค์สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าของโครงการ GSRC, GPD, และ HKP จากการผลิตไฟฟ้าของไทย พบล้นในระบบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 และปัจจุบันกำลังสำรองไฟฟ้าอยู่ที่กว่าร้อยละ 50 และกำลังผลิตไฟฟ้ายังล้นทะลุเกินกว่า 10,000 เมกะวัตต์ แต่การนำเข้า LNG เพื่ออ้างมาใช้ในการผลิตไฟฟ้านั้นก็ยังคงเกิดขึ้นตลอดและพบอยู่คู่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศมาหลายทศวรรษ ประชาชนก็จำต้องเป็นผู้จ่ายภาระการนำเข้า LNG ที่ใช้กับโรงไฟฟ้าก๊าซเพื่อเข้าระบบแม้จะไม่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าที่เต็มกำลังก็ตาม เพราะราคานำเข้า LNG ที่นำมาใช้กับโรงไฟฟ้าก๊าซจะถูกคำนวณรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าของประชาชนภายใต้สัญญาที่มีค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment)’ หรือ ภายใต้เงื่อนไขแบบ “Take or pay “ ที่แม้โรงไฟฟ้าเหล่านั้นจะไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบก็ตาม

แทนที่จะเป็นการเดินหน้าไปสู่การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของก๊าซฟอสซิลและก๊าซฟอสซิลเหลว (LNG) ทำให้ประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย มีความเสี่ยงที่จะติดอยู่ในวงจรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเวลานาน ตลอดจนอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลและท่าเรือรับส่ง LNG เพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซสามารถใช้งานได้นานมากกว่า 30 ปี

หมายความว่านับจากนี้จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 3 ทศวรรษ นั่นจะทำให้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เป็นไปไม่ได้เลยหากอุตสาหกรรมฟอสซิลยังคงมุ่งมั่นสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลเพิ่ม พร้อมสร้างวาทกรรมว่าก๊าซเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด


ภาคประชาสังคมแนะรัฐต้องจัดการ
“ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่”


ภาคประชาสังคมนำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) Thai Climate Justice for All (TCJA) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) เปิดเวทีสาธารณะนำเสนอข้อมูลและบทเรียนจากเมืองใหญ่ในไทยและต่างประเทศ ผลสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศขนาดใหญ่จากอุตสาหกรรมที่ถูกละเลย และข้อเสนอทางออกจากวิกฤต เมื่อปีที่แล้ว

นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) กล่าวว่าเมื่อเกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เรามักจะพุ่งเป้าไปที่รถยนต์เป็นหลัก แต่แหล่งกำเนิดของฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่แค่นั้น พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแหล่งกำเนิดฝุ่นและคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ คือโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล โรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังผลิตสูงมาก ซึ่งปล่อยฝุ่นมากกว่ารถยนต์หลายเท่า การต่อกรกับวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ได้จริงจะต้องจัดการกับผู้ก่อมลพิษรายใหญ่

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่าไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดอย่างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลนั้นมีศักยภาพสูงในการก่อตัวของมลพิษขั้นทุติยภูมิ(secondary pollutants) รวมถึงฝุ่นพิษ PM2.5 ในบรรยากาศของกรุงเทพฯ และปริมณฑล การติดตามตรวจสอบและลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์จึงมีความสำคัญ นอกเหนือจากการที่สาธารณชนต้องเข้าถึงรายงานการวัดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปลายปล่องแล้ว มีความจำเป็นเร่งด่วนในการทำให้มาตรฐานการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์เข้มงวดมากขึ้น

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่าการศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศในจังหวัดสมุทรสาครเมื่อปี 2564 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นพิษ PM2.5 เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งกำเนิดจากภาคการจราจรและขนส่ง การเผาขยะมูลฝอย และการเผาในที่โล่ง โดยพื้นที่วิกฤตที่มีการปลดปล่อยสูงสุดคือ อ.เมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหนาแน่นและเป็นหนึ่งในปริมณฑลสำคัญของกรุงเทพฯ

มูลนิธิฯ ยังได้มีการรวบรวมข้อมูลจำนวนโรงงานในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยอ้างอิงข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อปี 2560 พบว่า มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 13,272 แห่งที่เป็นแหล่งก่อมลพิษทางอากาศ

การศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศยังได้เจาะลึกถึงสารโลหะหนัก (Heavy metal) และสารมลพิษตกค้างยาวนาน (สาร POPs) ในองค์ประกอบของฝุ่น PM2.5 พบว่า การปนเปื้อนของสารมลพิษอันตรายทั้งโลหะหนักและสารมลพิษตกค้างยาวนานนั้นเกินค่าที่ปลอดภัยที่ต่างประเทศกำหนดไว้ถึงกว่า 20 เท่า อีกทั้งยังสูงกว่าผลการวิเคราะห์ปริมาณสารไดออกซินในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2555 มากกว่า 4-5 เท่า ซึ่งสารทั้งสองกลุ่มนี้มีอันตรายต่อสุขภาพสูง


กำลังโหลดความคิดเห็น