xs
xsm
sm
md
lg

พระเสียดายแดด ชูโมเดล “โครงการปันแสง” ตอบโจทย์ SDGs ทั้งระดับชุมชนและประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระปัญญาวชิรโมลี นพพร เจ้าอาวาสวัดป่าแสงธรรม สมยานาม “พระเสียดายแดด” (Solar Monk) กล่าวถึงโมเดลโครงการปันแสง ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานและการเกษตร อยู่ในพื้นที่ โคกอีโด่ยวัลเล่ย์ วัดป่าแสงธรรม บ้านดงดิบ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ว่าเป็นตัวอย่างของการบูรณาการเทคโนโลยีพลังงานและการเกษตรที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs (Sustainable Development Goals) ได้แก่ น้ำ พลังงาน และอาหาร

โมเดลนี้ใช้พลังงานสะอาดและทำการเกษตรมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างไร?

เจ้าอาวาสวัดป่าแสงธรรม เผยว่า โครงการปันแสง วางโจทย์แต่แรกเพื่อให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาพลังงานทดแทน การเกษตร และการพึ่งพาตนเองในชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (BESS) และ Agrivoltaics ซึ่งนำพื้นที่ใต้แผงโซลาร์เซลล์มาใช้ในการปลูกพืชเศรษฐกิจ โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด แต่ยังตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจและความยั่งยืนในระดับชุมชนและประเทศ

เมื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานและการเกษตร หลังได้ติดตั้ง ระบบโซลาร์เซลล์โปร่งแสง ขนาด 90 kWp ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ลิเธียมขนาด 500 kWh ก็เริ่มมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้แผงโซลาร์เซลล์โดยการปลูกพืชแบบ Smart Intensive Farming เช่น พืชเศรษฐกิจ สมุนไพร และไม้ดอกกินได้

ทั้งนี้ระบบ BESS (Battery Energy Storage System) คอยทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินในช่วงเวลาที่การใช้ไฟฟ้าต่ำ และปล่อยพลังงานมาใช้ในช่วงที่มีความต้องการสูง ช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานไฟฟ้า



มุมบน : ระบบโซลาร์เซลล์โปร่งแสง ขนาด 90 kWp ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ลิเธียมขนาด 500 kWh
ประโยชน์ของโครงการปันแสง 4 ด้าน

1. การผสมผสานพลังงานสะอาดและการเกษตร (Agrivoltaics)
• ใช้พื้นที่ใต้แผงโซลาร์เซลล์ในการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น สมุนไพร พืชผัก และพืชที่ต้องการแสงแดดบางส่วน
• แผงโซลาร์เซลล์ช่วยบังแดดและลดการสูญเสียน้ำ ทำให้พืชเติบโตได้ดีขึ้น
• ลดต้นทุนด้านพลังงานและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

2. ระบบกักเก็บพลังงาน BESS
• ช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์
• ลดต้นทุนไฟฟ้าสำหรับชุมชน โรงงาน และภาคธุรกิจ ด้วยการชาร์จแบตเตอรี่ในช่วง Off Peak แล้วนำมาใช้ในช่วง On Peak
• สนับสนุนการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนและตอบสนองนโยบาย RE100

3. การสนับสนุนเศรษฐกิจและชุมชน
• ติดตั้งเครื่องแปรรูปผลผลิตเกษตร ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์
• สนับสนุนการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานในวัด โรงเรียน และชุมชน
• เปิดโอกาสให้ชุมชนเป็น Prosumer ที่สามารถผลิตพลังงานใช้เองและขายพลังงานส่วนเกินได้

4. การตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ BCG Economy
• Bio Economy: การปลูกพืชสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพ
• Circular Economy: การใช้ทรัพยากรพื้นที่อย่างคุ้มค่า
• Green Economy: การผลิตพลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์
• Tourism: พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว




“โคกอีโด่ยวัลเล่ย์ วันนี้จึงเป็นอีกตัวอย่างของการบูรณาการเทคโนโลยีพลังงานและการเกษตรที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs (Sustainable Development Goals) ได้แก่ น้ำ พลังงาน และอาหาร ซึ่งตอบโจทย์ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่นี่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน การเกษตร และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะการมีระบบธนาคารน้ำใต้ดินที่ช่วยให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ทั้งที่ในพื้นที่แห่งนี้แต่เดิมค่อนข้างแห้งแล้ง ผืนดินเต็มไปด้วยทรายและหิน” เจ้าอาวาสวัดป่าแสงธรรม กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิง พระปัญญาวชิรโมลี
นพพร



กำลังโหลดความคิดเห็น