โครงการ “นักสร้างการเปลี่ยนแปลง : เยาวชนและสื่อเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ” หรือ Agents of change เป็นโครงการใหม่ที่ UNDP สนับสนุนวาระธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน เคารพสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีเยาวชนและสื่อมวลชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
ธาริณี สุรวรนนท์ ผู้จัดการโครงการด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน UNDP ประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของ UNDP มีการขับเคลื่อนใน 40 ประเทศในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก หัวใจสำคัญคือการขับเคลื่อนหลักการของสหประชาชาติที่เรียกว่า “หลักการชี้แนะที่ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” หรือ UN Guiding Principle on Business and Human Rights หรือ UNGPs ซึ่งบ่งบอกหน้าที่ความรับผิดชอบของภาครัฐและธุรกิจในด้านสิทธิมนุษยชน สำหรับประเทศไทย มีการดำเนินการโครงการดังกล่าวมาเป็นปีที่ 5 โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากสหภาพยุโรป และสิ้นสุดเฟสแรกไปแล้ว โดยมีการขับเคลื่อนในด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างเด่นชัดต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษชน หรือ National Action Plan on Business and Human Rights: NAP ซึ่งปัจจุบันขับเคลื่อนอยู่ในขั้นที่สอง
โครงการดังกล่าวของ UNDP เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยยอมรับหลักการชี้แนะฯ หรือ UNGPs จนกระทั่งประเทศไทยมีการนำหลักการดังกล่าวมาพัฒนาเป็นนโยบาย โดยมีแผนปฎิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ NAP เพื่อขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม อย่างเข้มข้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2019-2024) มีการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น กิจกรรมกระตุ้นการรับรู้ กระบวนการรายงานผลสำหรับภาคธุรกิจ รวมทั้ง การสร้างเสริมศักยภาพให้กับภาคธุรกิจผ่านการอบรมกระบวนการ Human Rights Due Diligence ซึ่งเป็นกระบวนการติดตามตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านให้กับภาคธุรกิจที่ดำเนินการในประเทศไทย เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
อีกเรื่องที่ UNDP ประเทศไทยดำเนินการต่อเนื่องคือ “การขับเคลื่อนวาระธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในระดับท้องถิ่น” โดยมีการดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคต่างๆ เช่น การอบรมเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจในระดับท้องถิ่น ซึ่งปีที่ผ่านมาเน้นไปที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ UNDP มีการสนับสนุนให้พันธมิตรในประเทศไทยมี Learning Hub ต่างๆ เช่น BHR Academy ก่อตั้งโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คร่วมกับพันธมิตรต่างๆ เช่น กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการด้านงานวิจัยเพื่อให้ความรู้กับภาคส่วนต่างๆ โดยปีที่ผ่านมา ได้นำเสนองานวิจัย 2 เรื่อง เกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือ Human Rights Defender รวมถึง รูปแบบการถูกคุกคามโดยเน้นไปที่การฟ้องคดีปิดปาก
สำหรับเฟสสอง เริ่มขึ้นกลางปีนี้ คือโครงการสนับสนุนนักสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยใช้การขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบน หรือ bottom up เพื่อส่งเสริมเยาวชนและสื่อมวลชนให้สามารถขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โครงการนี้ดำเนินการในกรอบเวลา 3 ปีเช่นเดียวกับในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มองโกเลีย และมาเลเซีย มุ่งเน้นกลุ่มเยาวชนและสื่อมวลชน โดยในประเทศไทย มีการวางกลยุทธ์เพื่อมองหาโอกาสและคำนึงถึงความท้าทายในการขับเคลื่อนโครงการ จึงพบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนเยาวชนอยู่ที่ 17%ของประชากรทั้งหมด และเห็นพลังขับเคลื่อนที่ชัดเจนจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเป็นทั้งอินฟลูเอนเซอร์และนักเคลื่อนไหวในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาทางสังคม เช่น ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นสิทธิมนุษยชน ขณะที่ สื่อมวลชนซึ่งเป็นกระบอกเสียงของสังคมในการตีแผ่เรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการทำลายสิ่งแวดล้อมที่กระทำโดยภาคธุรกิจ ทำให้สาธารณชนมีความสนใจในวระธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนั้น บทบาทของทั้งสองกลุ่มจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง
๐ 3 เครือข่ายร่วมมือย้ำสิทธิมนุษยชน
เครื่องมือสำคัญแก้ปัญหาโลกวันนี้
ตามรายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เรื่อง “กฎหมายและมาตรการในการจัดการกับการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ (SLAPPs) ในบริบทของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย พบว่าในประเทศไทย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังตกเป็นเป้าหมายการละเมิดโดยภาคธุรกิจ นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวและผู้นำชุมชน ซึ่งรวมถึงกลุ่มเยาวชนยังเผชิญความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องในลักษณะ SLAPPs ดังนั้น โครงการ Agents of Change จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเยาวชนและสื่อมวลชน เพื่อผลักดันให้องค์กรธุรกิจมีความรับผิดชอบ และสนับสนุนรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้นักสร้างการเปลี่ยนแปลง
นีฟ คอลิเออร์ สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของการเสริมสร้างพลังให้เยาวชนและสื่อมวลชนในการเป็นแรงผลักดันให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยย้ำว่า “เยาวชนเป็นทั้งกระบอกเสียง ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ในวันนี้และอนาคต ขณะที่สื่อมวลชนเป็นฐานันดรที่สี่ของสังคม บ่อยครั้งที่ทั้งสองกลุ่มยังไม่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ในการมีบทสนทนากับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจำกัดโอกาสของพวกเขาในการร่วมกำหนดแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจที่ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมถึงการลงทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
อย่างไรก็ตาม สิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อแก้ปัญหาที่โลกเรากำลังเผชิญในปัจจุบัน เมื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการเคารพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ได้รับการปกป้อง และจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โครงการ Agents of Change ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสหภาพยุโรป เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมและขยายเสียงของเยาวชนและสื่อมวลชน ทั้งยังนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการนี้นอกจากสนับสนุนวาระธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ยังย้ำถึงความเชื่อมั่นของประเทศไทยต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่12 การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน และเป้าหมายที่ 16 สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
ลอร์ บราเชต์ หัวหน้าฝ่ายการเมือง สื่อ และข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในระดับสากลว่า “สหภาพยุโรปยินดีที่ได้สนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้พัฒนาข้อกำหนดทางกฎหมายด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ข้อบังคับว่าด้วยการตรวจสอบความยั่งยืนของภาคธุรกิจ หรือ CS3D ของสหภาพยุโรป นับเป็นก้าวสำคัญล่าสุดในความพยายามร่วมมือกันที่จะพัฒนาพันธะกรณีทางกฎหมายสำหรับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรป ในการดำเนินการตรวจสอบรอบด้านในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
ดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึงความพยายามของประเทศไทยในการเสริมสร้างความรับผิดชอบของภาคธุรกิจและการสร้างวัฒนธรรมที่เคารพสิทธิมนุษยชนว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การได้ร่วมมือกับ UNDP สหภาพยุโรป และภาคีภาคประชาสังคมในการผลักดันวาระนี้เป็นการเสริมพลังเยาวชนและสื่อมวลชนในฐานะผู้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในประเทศไทย
ทั้งนี้ โครงการ Agents of Change เป็นการสานต่อจาก “โครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย : การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนผ่านกรอบการปกป้อง และการเยียวยา” ซึ่ง UNDP ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ก้าวต่อไป UNDP ยังคงเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อทำให้มั่นใจว่ากิจกรรมภายใต้โครงการ Agents of Change มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมวาระธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อภายในปี 2030