xs
xsm
sm
md
lg

FAO เปิด 3 ตัวแปรป่วนโลก เร่งวิกฤต ! “ความไม่มั่นคงทางอาหาร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ฉบับปี 2567 (Global Report on Food Crises : GRFC 2024) เปิดเผยว่าประชากรเกือบ 282 ล้านคนใน 59 ประเทศและเขตแดน กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร เผชิญกับความหิวโหยเฉียบพลันในระดับที่สูง

ตัวเลขผู้คนได้รับผลกระทบทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 24 ล้านคน เป็นผลมาจากเหตุการณ์ 1.ภาวะสงคราม-ความขัดแย้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ฉนวนกาซา และสงครามยูเครน-รัสเซีย 2.สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่ทวีความรุนแรง และ 3.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

รายงานประจำปีของ GRFC 2024 จัดทำ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) โครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) และสหภาพยุโรป ได้วิเคราะห์ว่าเด็กและผู้หญิง ถือเป็นด่านแรกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตความหิวโหย ซึ่งพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวนกว่า 36 ล้านคน ขาดสารอาหารอย่างรุนแรงใน 32 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงภาวะทุพโภชนาการที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2566 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติ

โดยในปี 2566 พบว่าผู้คนกว่า 705,000 คน ประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุด และมีความเสี่ยงต่อความอดอยากในระดับภัยพิบัติ (IPC/CH Phase 5) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2559 และถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการรายงานมา

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน พื้นที่ฉนวนกาซา คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ที่เผชิญกับปัญหาความอดอยาก เช่นเดียวกับในพื้นที่ซูดานใต้ บูร์กินาฟาโซ โซมาเลีย และมาลี ขณะเดียวกันรายงานได้คาดว่าในอนาคต ผู้คนประมาณ 1.1 ล้านคนในฉนวนกาซา และ 79,000 คนในซูดานใต้ ประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุดในระดับภัยพิบัติ (IPC/CH Phase 5) ภายในเดือนกรกฎาคม 2567


3 ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านอาหาร

ปัญหาสงคราม-ความขัดแย้ง เป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้ผู้คน 135 ล้านคน ใน 20 ประเทศและเขตแดน ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลัน ขณะที่ซูดาน ประสบกับความเสื่อมถอยครั้งใหญ่ที่สุด เหตุจากความขัดแย้ง โดยมีผู้คนถึง 8.6 ล้านคนเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูง เมื่อเทียบกับปี 2566

เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้ผู้คนกว่า 77 ล้านคน ใน 18 ประเทศและเขตแดน เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูง เพิ่มขึ้นกว่าในปี 2565 จาก 57 ล้านคน ใน 12 ประเทศและเขตแดน ขณะที่ ปี 2566 โลกเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง พายุ ความแห้งแล้ง ไฟป่า โรคและการระบาดศัตรูพืช

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลกระทบให้ผู้คนกว่า 75 ล้านคน ใน 21 ประเทศต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างเฉียบพลันในระดับสูง เนื่องจากการพึ่งพาอาหารนำเข้าและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในระดับสูง อีกทั้งความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีอยู่ เช่น ปัญหาค่าเงินอ่อนค่า สินค้ามีราคาสูง และภาวะหนี้สูง

อย่างไรก็ดี จากวิกฤตทั้งสามที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การจัดการวิกฤตการณ์ด้านอาหาร จำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างเร่งด่วนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาและรับมือกับความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่เปราะบางและส่งเสริมการพัฒนาทางการเกษตร เช่น การผลิตอาหารของเกษตรกรรายย่อย เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวและขยายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มคน


ย้อนมองไทย ความมั่นคงทางอาหารมากน้อย
ผศ.ชล บุนนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) อธิบายถึงความมั่นคงทางอาหารว่า องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) นิยามความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) แบ่งเป็น 4 เสา คือ 1.อาหารพอกินหรือไม่ 2.เข้าถึงอาหารได้หรือไม่ 3.มีอาหารกินแล้วดีต่อสุขภาพหรือไม่ และ 4.ความมีเสถียรภาพว่ามีวิกฤตแล้วยังเข้าถึงอาหารหรือไม่ ซึ่งอาหารมีอยู่เพียงพอแน่นอน แต่เรื่องการเข้าถึงอาหาร สถิติในฐานข้อมูลช่วงโควิด คนที่มีความมั่นคงทางอาหารปานกลางหรือรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 7% ของประชากร ทั้งที่เราเป็นประเทศผลิตอาหาร ปัญหาภาวะโภชนาการก็เพิ่มขึ้น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีภาวะแคระแกร็นมีประมาณ 13% เราจะมองแค่ตัวอาหารอย่างเดียวไม่พอ เพราะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ และระบบอาหารด้วย


อาหารกระทบ SDGs ทุกข้อ

เรื่องอาหารถ้าเรายังทำแบบเดิมๆ เกิดปัญหา ก็จะสร้างผลกระทบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ทุกข้อ ทั้งสุขภาพ ความมั่นคงอาหาร น้ำ พลังงาน ทะเล ป่า ประเด็นสำคัญคือ เรื่องอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของคน แต่กระทบความยั่งยืนในทุกมิติ จึงควรมองเรื่อง Food Security ให้กว้างกว่าตัวอาหาร แต่มองให้เห็นถึงระบบอาหารที่ไม่ยั่งยืนและเป็นปัญหาสำคัญของไทย

เราต้องตระหนักว่าอาหารกำลังเป็นปัญหา รัฐต้องเป็นช่างเชื่อม ระดมทุกภาคส่วน และมีงบประมาณสนับสนุน ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและงานวิจัยอย่างเป็นระบบมาทำงานแก้ปัญหาตอนนี้มีงานวิจัยเยอะมากที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืน แต่กระจายตัวในทุกพื้นที่ ไม่เกิดนัยทางปฏิบัติที่เวิร์ก

“ถ้าไม่ทำอะไรเลย คนยากจน คนสุขภาพเสียเยอะขึ้น รายจ่ายด้านสุขภาพเยอะขึ้นแน่นอน อากาศไม่มีหายใจ น้ำไม่มีใช้ ทะเลไม่มีไปเที่ยว ป่าทะเลหมอกไม่มี อาหารไม่ยั่งยืนกระทบสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ปัญหาจะมาครบทุกเรื่อง "

ระบบอาหารที่ยั่งยืน ความท้าทายเป้า SDGs ไทย

ผศ.ชล กล่าวว่า SDG เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย หรือ Zero Hunger ของยูเอ็นมีประเด็นที่ครอบคลุมในหลายมิติมากกว่าเพียงแค่เรื่องของอาหาร

ความเข้าใจของคนมักคิดว่าประเทศไทยป็นผู้ส่งออกอาหาร น่าจะมีสถานะในเรื่องนี้ที่ดี แต่ความเป็นจริง จากการประเมินโดยหลายแหล่งกลับชี้ให้เห็นตรงกันว่า ระบบอาหาร กลับเป็นประเด็นความท้าทายที่สำคัญในเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทย

“ตัวชี้วัดตามเป้าหมายที่ 2 ของ SDGs ไทยไม่พัฒนาขึ้นและยังมีแนวโน้มถดถอยลงด้วย สะท้อนว่าเรายังมีระบบอาหารที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งต้องมองภาพที่กว้างกว่าแค่เรื่องของอาหาร เพราะยังมีความเกี่ยวข้องกับมิติอื่นๆ”


ไทยยังเป็นประเทศที่มีความไม่มั่นคงทางอาหาร
ด้าน ศ.ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร และศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย Queen’s University Belfast กล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ แม้ว่าประเทศไทยจะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีผลผลิตทางการเกษตรมากมาย แต่ที่จริงแล้วไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความไม่มั่นคงทางอาหาร เพราะความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่แค่มีอาหารเพียงพอ แต่ต้องเป็นอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย อีกทั้งประเทศไทยยังตั้งเป้าที่จะเป็นครัวของโลก ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เพื่อให้ผลิตได้เพียงพอ ด้วยวิธีที่ปลอดภัยและยั่งยืน

“ต่างชาติชื่นชมและชื่นชอบอาหารไทยมาก เราใช้อาหารไทยเป็นทูต เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ชวนให้เขาอยากมาเที่ยวเมืองไทย ทำไมเขาถึงเลือกรับประทานอาหารไทย เพราะนอกจากอาหารไทยอร่อยแล้ว เขายังมั่นใจในคุณภาพด้วย หรือเมื่อไปซูเปอร์มาร์เก็ตเขาก็จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศไทยเพราะเขามั่นใจในคุณภาพแม้ว่าจะราคาสูงกว่าที่มาจากประเทศอื่น อย่างเช่น กุ้ง กุ้งไทยเป็นกุ้งที่อร่อยและมีคุณภาพดีกว่ากุ้งของที่อื่น เพราะเราเลี้ยงด้วยอาหารที่มีคุณภาพแตกต่างจากคนอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ทั่วโลกมั่นใจเพิ่มขึ้นอีกว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ตั้งแต่เป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรจนไปถึงเป็นอาหาร มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างที่ทุกคนต้องการ โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วย”

ศ.ดร.นิศรา ยกตัวอย่างเทคโนโลยีและงานวิจัยที่พัฒนาโดยนักวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารหลายเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ (biocontrol technology) ชีวภัณฑ์สำหรับควบคุมโรคพืชรวมทั้งย่อยสลายสารเคมีตกค้างในดินทางการเกษตร เทคโนโลยี MycoSMART ชุดตรวจสารพิษจากเชื้อราในอาหารหรือวัตถุดิบการเกษตรด้วยเทคนิคไมโครอะเรย์ที่ตรวจสารพิษจากราได้หลายชนิดพร้อมกัน และเทคโนโลยี Agri-Mycotoxin binder วัสดุลดสารพิษจากราในอาหารสัตว์ เช่น อะฟลาท็อกซิน บี1 (Aflatoxin B1) ซีราลีโนน (Zearalenone) โอคราท๊อกซิน เอ (Ochratoxin A) ฟูโมนิซิน บี1 (Fumonisin B1) และดีอ็อกซีนิวาลีนอล (Deoxynivalenol)


กำลังโหลดความคิดเห็น