xs
xsm
sm
md
lg

พพ.เดินหน้าพลังงานสะอาดมากขึ้น ชูเป้าใช้พลังงานทดแทน 36%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พพ.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567 – 2580 (AEDP2024) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2567 - 2580 (EEP2024) 

ทั้งนี้ พพ.ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 36% และลดความเข้มการใช้พลังงาน 36% ภายในปี พ.ศ.2580 ซึ่งหมุนตามทิศทางโลกที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ชี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญนำประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality



วานก่อน (วันที่ 18 มิ.ย.67) นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567 – 2580 (AEDP2024) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2567 - 2580 (EEP2024) โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้ที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์ โดยร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 เป็นไปตามนโยบายแผนพลังงานชาติ ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อธิบดี พพ. กล่าวถึงแผน AEDP 2024 นั้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกตามศักยภาพที่มีอยู่ในประเทศด้วยเทคโนโลยีและราคาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพิจารณาถึงความสอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งใช้พลังงานสะอาด และการบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ โดย AEDP ฉบับนี้ กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกร้อยละ 36 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ณ ปี พ.ศ. 2580 โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน อาทิ ส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยมาตรการทางภาษี ส่งเสริมการบริหารจัดการ จัดเก็บ และรวบรวมเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการแปรรูปเชื้อเพลิงทดแทนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักหรือเชื้อเพลิงร่วม ส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว เป็นต้น

สำหรับร่างแผน EEP2024 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน EEP2018 โดยปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานลดความเข้มการใช้พลังงาน Energy Intensity เป็น 36% ในปี พ.ศ.2580 โดยได้กำหนดมาตรการที่สำคัญไว้อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกภาคส่วน ได้แก่ การกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงาน/อาคารควบคุม เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code) การส่งเสริมมาตรฐานอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและฉลากเบอร์ 5 การส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรม Smart Farming และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคขนส่ง พร้อมทั้งมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตไฟฟ้า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น


ซึ่งหลังจากนี้ พพ. จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อจัดทำร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 ที่สมบูรณ์และทุกภาคส่วนให้การยอมรับ และสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทาง QR code ลงทะเบียนและช่องทางออนไลน์ของ พพ. ได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567

หมายเหตุ :
แผน AEDP คือ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan)
แผน EEP คือ แผนอนุรักษ์พลังงาน ( Energy Efficiency Plan )

อ้างอิง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทาง QR code ลงทะเบียนและช่องทางออนไลน์ของ พพ. ได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567
https://docs.google.com/.../1FAIpQLSdCDlxQP.../viewform


กำลังโหลดความคิดเห็น