เทคโนโลยี ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน หมายถึง วิทยาการที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ เช่น ใช้ในอุตสาหกรรม
ในบริบทความยั่งยืนระดับองค์กร เทคโนโลยีมีบทบาทที่เป็นได้ทั้งปัจจัยความยั่งยืนโดยตัวเอง และเป็นปัจจัยที่สร้างให้เกิดความยั่งยืนของกิจการ จึงเรียกว่าเป็นปัจจัยคู่ของความยั่งยืน หรือ Twin Factor of Sustainability
เทคโนโลยีในฐานะที่เป็นปัจจัยความยั่งยืนในตัวเอง หมายถึง การได้มาและมีอยู่ของเทคโนโลยี จะมีผลกระทบทางตรงต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม ที่สามารถคำนวณเป็นฟุตพรินต์ปริมาณก๊าซเรือนกระจก ฟุตพรินต์ปริมาณการใช้น้ำ หรือฟุตพรินต์ปริมาณการใช้พลาสติก ฯลฯ โดยองค์กรสามารถใช้ประเมินและจัดระดับว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความยั่งยืน (Technology as Sustainability) มากน้อยเพียงใด
ข้อมูลตัวอย่างจากกระทรวงพลังงานสหรัฐ ระบุว่า ศูนย์ข้อมูล (Data Center) มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากถึง 10-50 เท่าของการใช้ไฟฟ้าต่อพื้นที่ใช้สอยเมื่อเทียบกับอาคารพาณิชย์ทั่วไป ขณะที่การใช้น้ำในการระบายความร้อนของศูนย์ข้อมูล พบว่า ปริมาณการใช้น้ำสำหรับศูนย์ข้อมูลของกูเกิล ที่เปิดเผยเมื่อปลายปี ค.ศ. 2022 มีปริมาณสูงถึง 1.7 ล้านลิตรต่อวัน เป็นต้น
ตามข้อเสนอแนะในภาคการกำหนดมาตรฐานโทรคมนาคมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU-T L.1480) นิยามให้ฟุตพรินต์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการได้มาและมีอยู่ของเทคโนโลยี คือ ผลอันดับแรก (First Order Effect) ที่จัดเป็นผลกระทบทางตรง
สำหรับเทคโนโลยีในฐานะปัจจัยที่สร้างให้เกิดความยั่งยืนของกิจการ หมายถึง การใช้งานเทคโนโลยีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมในองค์กร ในทางที่เกิดเป็นผลกระทบเชิงบวกหรือผลกระทบเชิงลบ อันส่งผลต่อความยั่งยืนของกิจการโดยรวม โดยองค์กรสามารถใช้ตัดสินใจว่าเป็นเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Technology for Sustainability) มากน้อยเพียงใด
การเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลอันเกิดจากการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว อาจก่อให้เกิดการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (จากกิจกรรมเดิมที่ยุติหรือลดลง) หรือไปเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก (จากกิจกรรมใหม่ที่เพิ่มขึ้น หรือจากกิจกรรมเดิมที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยพิจารณาผลที่เกิดขึ้นจริง หรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งคือ ผลอันดับสอง (Second Order Effect) ที่จัดเป็นผลกระทบทางอ้อม
ตัวอย่างการใช้งานอีคอมเมิร์ซโซลูชัน จะก่อให้เกิดผลอันดับสองที่เป็นบวกจากปริมาณการเดินทางที่ลดลงของลูกค้ามายังร้านค้า แต่ก็ไปเพิ่มผลอันดับสองที่เป็นลบจากปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้นเพื่อส่งมอบสินค้าไปยังลูกค้า รวมถึงไปเพิ่มภาระด้านบรรจุภัณฑ์และการบำบัดของเสีย เป็นต้น
นอกเหนือจากต้นทุนทางเทคโนโลยีที่องค์กรต้องคำนึงถึงและส่งผลต่อบรรทัดสุดท้ายที่เป็นกำไรสุทธิ (Net Profit) แล้ว การพิจารณาถึงผลรวมของ First Order และ Second Order Effect จะช่วยให้องค์กรหยั่งรู้ถึงมูลค่าเชิงบวกสุทธิ (Net Positive) ซึ่งเป็นมูลค่าแฝงเพิ่มเติมจากกำไรสุทธิ ที่นำไปใช้ประเมินความคุ้มค่าของการตัดสินใจลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าวได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
ตัวอย่างโครงการเทคโนโลยีที่หากบริษัทมีการลงทุน จะมียอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน First Order Effect เพิ่มขึ้น 41 tCO2e ขณะที่ยอดการลดก๊าซเรือนกระจกใน Second Order Effect จากกิจกรรมที่ลดลง มีจำนวน 426 tCO2e คิดเป็นผลรวมของ First Order และ Second Order Effect สุทธิที่ลดลงได้ 385 tCO2e เมื่อใช้ราคาคาร์บอนอ้างอิงของตลาดคาร์บอนภาคบังคับในสหภาพยุโรปที่ 66 ยูโร/ tCO2e หรือคิดเป็น 2,600 บาท/ tCO2e กิจการจะมีมูลค่าเชิงบวกสุทธิเพิ่มจากกำไรสุทธิอีก 1 ล้านบาท
นอกจากนี้ หากมีการพิจารณา ผลอันดับขั้นสูง (Higher Order Effect) ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมระยะยาวของผลอันดับสอง ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภค รูปแบบการดำเนินชีวิต และระบบค่านิยมร่วมด้วย เช่น ความนิยมในการบริโภคสินค้าสีเขียวเพิ่มขึ้น จะเปิดโอกาสให้องค์กรเติบโตจากอุปสงค์หรือขนาดตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยคำนวณเป็นตัวเลขมูลค่าศักย์เชิงบวกสุทธิ (Net Positive Potential) ที่ชี้ได้ว่าโครงการเทคโนโลยีดังกล่าวควรค่าแก่การลงทุนจริงมากน้อยเพียงใด
ตัวอย่างร้านอาหารเก่าแก่ที่หันมาใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารออนไลน์และระบบเดลิเวอรี ก่อให้เกิดผลซึ่งไม่เพียงช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางของลูกค้าแต่ละรายมายังร้านอาหาร (Second Order Effect) แล้ว ยังส่งผลให้สามารถขยายตลาดและรับลูกค้าในระบบเดลิเวอรีได้เพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมสั่งอาหารออนไลน์เติบโตขึ้น (Higher Order Effect) ทำให้ร้านมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องขยายหน้าร้านหรือเสียค่าเช่าพื้นที่เพิ่มจากเดิม
จะเห็นว่า การพิจารณาผลกระทบทางตรงที่เป็น First Order Effect โดยมุ่งลดฟุตพรินต์ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการได้มาและมีอยู่ของเทคโนโลยี มิใช่คำตอบสุดท้ายของเรื่องความยั่งยืน แต่เป็นการใช้ข้อมูล Second Order และ Higher Order Effect จากการใช้งานเทคโนโลยีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมในองค์กรและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในทางที่เกิดเป็นผลบวกสุทธิ (Net Positive) ต่างหาก ที่จะตอบโจทย์ความยั่งยืนได้อย่างครบถ้วน
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์