โครงการ GREEN BANGKOK 2030 ตามประกาศเจตนารมณ์เริ่มต้นโครงการเมื่อธันวาคม 2562 ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตารางเมตร (ตร.ม.)/คน ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) รวมถึงเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเดินถึงได้ในระยะการ 400 เมตร และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ในเมือง (Urban Tree Canopy) จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 17% ให้เป็น 30%
โครงการ GREEN BANGKOK 2030 “กรุงเทพฯ มหานครสีเขียว” เริ่มในยุคผู้ว่าฯ กทม.คนก่อน พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง จนถึงคนปัจจุบัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร (กทม.) คือ 7.49 ตร.ม. /คน พร้อมคาดว่าจะก้าวไปถึง 9 ตร.ม./คน ภายในปี 2030 ตามตัวเลขเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ภายหลังจากผู้ว่าฯ กทม.มีนโยบาย "กรุงเทพสีเขียว ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น" และ “สวน 15 นาที” สร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กทั่วกรุงเทพให้ประชาชนเดินทางถึงภายใน 15 นาที ซึ่งเป็นสานต่อโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ให้เหมือนนานาอารยประเทศ
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกทม.คนแรก กล่าวถึงความคืบหน้าว่า “สวน 15 นาที” เป็นนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายใน 10-15 นาที หรือ 800 เมตรโดยประมาณ ซึ่งอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยพัฒนาพื้นที่เดิมควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ใหม่
กล่าวคือ พัฒนาลานกีฬาทั้ง 1,034 แห่งที่มีอยู่แล้ว ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เนื่องด้วยเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการกระจายตัวมากที่สุด นอกจากนี้ยังเพิ่มมิติด้านสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่เดิมเช่นลานกีฬา ด้วยการเพิ่มไม้พุ่ม ไม้ประดับ หรือสวนแนวตั้ง เพื่อเพิ่มมิติการใช้งาน และสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น ส่วนการเพิ่มพื้นที่ใหม่ คือการหาพื้นที่พัฒนา Pocket Park ขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่ โดยศึกษาพื้นที่ของทั้ง ราชการ และเอกชน อาทิ สถานที่ราชการ แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้างซึ่งติดขัดข้อกฎหมาย พื้นที่จุดบอดต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะ ถอยร่น พื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงอาศัยกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม.พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี
“ใน 1 ปี 11 เดือน (20 พ.ค.67) ที่ท่านผู้ว่าฯ อยู่ในตำแหน่ง เราได้เพิ่มสวน 15 นาทีใกล้บ้านไปแล้วมากถึง 117 สวน รวมพื้นที่ 149 ไร่ 1 งาน 59.77 ตารางวา และยังมีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีกเกิน 100 แห่ง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเราเน้นปริมาณเป็นหลักเนื่องจากเราอยากจะรีบเร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ประชาชนใช้งานได้ และเพิ่มความง่ายและสะดวกต่อการเข้าถึง แต่พอทำมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ตอนนี้เราหันมาดูคุณภาพและมาตรฐานของสวนที่เราทำมาด้วย ไม่ใช่ทำเพื่อทำยอดอย่างเดียวแต่ต้อง make sure ว่าประชาชนได้ใช้งานจริง ใช้ประโยชน์จริง”
ที่ผ่านมาเราได้ทำเกณฑ์มาแล้ว และได้มีคำสั่งให้แต่ละสำนักงานเขตได้ประเมินสวนที่ตัวเองทำ และคู่ขนานกันเราได้ยังแต่งตั้งคณะทำงานกลุ่มเขตที่จะมาตรวจสอบอีกทางด้วย
เนื้อหาของเกณฑ์ประกอบด้วย 1) เกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การเข้าถึงพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก กิจกรรมการใช้งาน การออกแบบ และความปลอดภัย 2) เกณฑ์ด้านความมีส่วนร่วม ได้แก่ การร่วมสนับสนุน การร่วมบริหารจัดการ 3) เกณฑ์ด้านสุขภาวะ และ 4) เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ระบบนิเวศ, ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้าโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ล่าสุด (วันที่ 7 มิ.ย.2567) ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 953,845 ต้น แบ่งเป็นไม้ยืนต้น 324,830 ต้น ไม้พุ่ม 453,152 ต้น ไม้เลื้อย/เถา 175,863 ต้น โดยมียอดจองปลูกรวม 1,641,310 ต้น
ทั้งนี้เป้าหมายการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง สร้างร่มเงา ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแบ่งยุทธศาสตร์การปลูกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของพื้นที่ ดังนี้
พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เป้าหมายเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5%
พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะมาก เช่น เขตประเวศ เขตจตุจักร เป้าหมายเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5%
พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป้าหมายเพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง ให้ร่มเงา ปลูกไม้ยืนต้น 40% พุ่มกลาง 50% เถา 10%
พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะมาก เช่น เขตพระนคร เขตดุสิต เป้าหมายเพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกไม้ยืนต้น 30% ไม้พุ่มกลางไม่เกิน 70%
โดยมีการตั้งเป้าการปลูกในส่วนราชการอื่น ๆ 10,000 ต้น ภาคประชาชน 50,000 ต้น สำนักสิ่งแวดล้อม 200,000 ต้น บริษัทเอกชน 240,000 ต้น และสำนักงานเขต 500,000 ต้น โดยชุมชนในพื้นที่ กทม. ร่วมกันเพาะกล้าไม้ ช่วยสร้างการจ้างงานเพิ่มในชุมชน
“ผมชอบเมืองที่มีการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ง่าย ส่วนตัวผมไม่ชอบสวนใหญ่ๆ แต่ชอบเน้นเรื่องปริมาณ ซึ่งอันนี้ตอบโจทย์เรื่องสวน 15 นาทีอยู่แล้ว ผมอยากให้เดินออกไปไม่ไกลก็เข้าถึงสวนได้ และสวนตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน เป็นที่ที่อยากนัดเพื่อนไปเจอกัน ไม่ใช่ทุกคนต้องไปห้างสรรพสินค้า ผมว่าเป็นความสำคัญเรื่องสุขภาพด้วย ถ้าคุณเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ ไม่ว่าคุณจะมีปัญหาเรื่องความเครียด เรื่องการหายใจ สวนช่วยตอบโจทย์ได้จริงๆ” นายพรพรหมกล่าวทิ้งท้าย
ทำความเข้าใจ ‘พื้นที่สีเขียว’ ที่เรียกว่าเขียว นับตรงไหนบ้าง
ข้อมูลของ Rocket Media Lab ซึ่งได้รวบรวมข้อมูล งานวิจัย รวมถึงบทสัมภาษณ์ไว้ได้อย่างน่าสนใจในประเด็นเกี่ยวกับ ‘พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะในกรุงเทพ ระบุว่า
กทม. แบ่งสวนออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สวนเฉพาะทาง, สวนชุมชน, สวนถนน, สวนระดับเมือง, สวนระดับย่าน, สวนหมู่บ้าน และสวนหย่อมขนาดเล็ก แต่ความหมายของคำว่าสวน หรือ ‘สวนสาธารณะ’ ที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าไปใช้งานพื้นที่ได้ จะอยู่ในบางประเภทเท่านั้น เช่น สวนชุมชน, สวนหมู่บ้าน, สวนระดับย่าน และสวนระดับเขต
การแบ่งสวนออกเป็น 7 ประเภทของ กทม. นั้นก็เพื่อจะนำมานับคำนวณ ‘พื้นที่สีเขียว’ ทั้งหมดของ กทม. โดยรวมเอา ‘ทุกพื้นที่ที่มีสีเขียว’ มาจัดประเภทให้เป็นสวนประเภทต่างๆ เช่น สวนถนนอาจหมายถึงเกาะกลางหรือริมถนนที่ปลูกต้นไม้ หรือการปลูกไม้ประดับไม้เลื้อยเป็นสวนแนวตั้งบนกำแพงรั้ว สวนหย่อมขนาดเล็กอาจหมายถึงสวนหน้าบ้านของใครสักคน สวนเฉพาะทางก็อาจหมายถึงพื้นที่สวนบนโรงแรมหรือคอนโด หรือแม้กระทั่งสวนหมู่บ้านก็อาจหมายถึงสนามฟุตบอลในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง
ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกนำมานับรวมจนได้พื้นที่สีเขียวในอัตราส่วน 7.49 ตร.ม./คน ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่กำลังจะเข้าใกล้ 9 ตร.ม./คน ตามเกณฑ์แนะนำของ WHO
แต่ถึงอย่างนั้นในรายละเอียดของการรวบรวม ‘พื้นที่ที่มีสีเขียว’ โดยแบ่งเป็นสวน 7 ประเภทของ กทม. ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ทั้งการนับรวมแบบเหมาพื้นที่ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่ไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่สีเขียว เช่น โรงเรียนบางแห่งที่นับรวมพื้นที่ทั้งโรงเรียนว่าเป็น ‘พื้นที่สีเขียว’ ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ นั้นสูงกว่าความเป็นจริง เช่นเดียวกันกับการนับรวมพื้นที่เอกชนซึ่งเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ที่ทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ที่จริงๆ แล้วอาจจะต้องกล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลงานของผู้ว่าฯ กทม. ทั้งหมด
มากไปกว่านั้นคือการนำเอาตัวเลขจำนวนรวมของสวนตามที่ กทม. นำเสนอ มาใช้รายงาน โดยไม่ได้พิจารณาถึงรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงส่วนอื่นประกอบ ซึ่งอาจจะทำให้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้องได้ เช่น เมื่อกล่าวถึงเขตที่มีจำนวนสวนมากที่สุด
หากยึดตามข้อมูลของ กทม. ก็คือเขตพระโขนง แต่ในความเป็นจริงแล้วพระโขนงไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในเชิงการใช้พื้นที่เลยแม้แต่สวนเดียว โดยสวนในเขตพระโขนงที่ถูกนับจำนวนโดยสำนักงานสวนสาธารณะ กทม. จนทำให้เขตพระโขนงเป็นเขตที่มี ‘จำนวนสวน’ มากที่สุดนั่นก็คือสวนหย่อมหน้าบ้าน
จำนวนสวนที่สำนักการสวนสาธารณะรายงานจึงเป็นเพียงการแบ่งประเภทพื้นที่ที่จะนำมารวมกันเป็นพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ไม่ได้พิจารณาว่าสวนหรือพื้นที่สีเขียวในแต่ละจุดที่ถูกนำมานับนั้นเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ในเชิงการใช้พื้นที่แบบสวนสาธารณะหรือไม่