xs
xsm
sm
md
lg

ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) “หมอวิรุฬ” ขยาย 3 ประเด็น "สิทธิที่ประชาชนควรรู้"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท แพทย์และนักมานุษยวิทยาการแพทย์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลความรู้ เรื่องค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) โดยโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค Thailand
Can เครือข่ายอากาศสะอาด


เรื่องดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันสื่อสารให้สังคมเข้าใจ เพราะเกี่ยวข้องกับการปกป้องสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

เครดิตภาพ https://www.thepeople.co/social/look-up/51864
ผมเห็นข่าวนี้แล้วอดไม่ได้ที่ต้องออกมาแสดงความคิดเห็น ด้วยความเคารพท่านอาจารย์ผู้ให้ข่าว ด้วยมีโอกาสได้ร่วมในคณะอนุกรรมาธิการของสภาในเรื่องฝุ่น PM2.5 และเรื่องปัญหาขยะ ท่านมีประสบการณ์มีความรู้ลึกซึ้งและมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

ผมคิดว่าท่านอาจารย์ออกมาให้ข่าวนี้ด้วยความเป็นห่วงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก กับที่ค่า AQI ของไทยติดอันดับอากาศแย่ที่สุดในโลก... แต่ไม่แน่ใจว่าด้วยมีเวลาจำกัด จึงให้ข้อมูลไม่ครบ โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นสำคัญ

1. การดูเฉพาะ PM2.5 - แม้ว่าในอากาศจะมีมลพิษหลายชนิด แต่การที่ในปัจจุบันมีการมุ่งเน้นดูกันที่ PM2.5 เนื่องจากเป็นมลพิษที่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก

ดังนั้น การใช้ค่า PM2.5 มาใช้ในการติดตามสถานการณ์เป็นหลักก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในแง่ของการแจ้งเตือนระดับผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เข่น การทำแผนที่ AQLI ของสหรัฐอเมริกาที่เลือกใช้ PM2.5 อย่างเดียวในการทำแผนที่ประเทศที่ประชาชนอายุสั้นเพราะมลพิษอากาศมากที่สุด

2. ค่า 24 ชั่วโมง กับค่า real time - เรื่องนี้เป็น debate กันมายาวนาน ว่าการแจ้งเตือนสุขภาพควรใช้ค่าที่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ซึ่งค่า 24 ชั่วโมงถือว่าช้าเกินไป ดังนั้นแหล่งข้อมูลการแจ้งเตือนจึงมีการใช้ค่าที่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เช่น USEPA ใช้ค่า 12 ชั่วโมง (Now Cast), AQICN ใช้ค่า 3 ชั่วโมง (Instant Cast) ส่วน IQAir ไม่แน่ใจว่าใช้ค่าเท่าไหร่ ส่วนที่หลาย ๆ แหล่งข้อมูลในเมืองไทยตอนนี้ก็นิยมใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง...

ดังนั้นการที่จะบอกว่าค่าที่ใช้นั้นเป็นค่าที่เป็นเพียงไม่กี่นาที อาจต้องบอกว่าเป็นจากแหล่งไหน มากกว่าจะบอกว่าไม่น่าเชื่อถือ

3. ค่ามาตรฐานของ WHO - ค่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดที่ 24 ชั่วโมงนั้น เป็นเรื่องของค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ ไม่ได้กำหนดเรื่องดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งเป็นการแปลงจากค่ามาตรฐานอีกที เพื่อการแจ้งเตือนเพื่อการปกป้องสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกามีการกำหนดค่ามาตรฐานไว้ 2 ค่า คือ มาตรฐานเพื่อสุขภาพ (health based) และ เพื่อสวัสดิภาพ (wellfare based) เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนได้สอดคล้องกับข้อมูลผลกระทบสุขภาพ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับ PM2.5 ที่เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตท่านอาจารย์มาให้ข้อมูลเพิ่ม เพื่อเสริมจากสิ่งที่อาจารย์ได้เตือนไว้ว่า อย่าตระหนกกันเกินไป

ขอให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันตระหนัก และแก้ปัญหาเรื่องนี้กันอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การแก้ที่แหล่งกำเนิด จนถึงการติดตามสถานการณ์และการแจ้งเตือนเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน

"เรื่องค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศและดัชนีคุณภาพอากาศ เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิที่จะรู้ (Right to Know) ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของ สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด ที่ภาคประชาชนและหลายฝ่ายกำลังร่วมกันผลักดันให้บรรจุอยู่ในกฎหมายอากาศสะอาดที่กำลังอยู่ในสภา ขอให้ทุกท่านร่วมกันติดตามเรื่องนี้ต่อไปนะครับ"


คลิกอ่านเพิ่มเติม ค่า“ดัชนีคุณภาพอากาศ” (Air Quality Index : AQI) และ PM2.5 แตกต่างกันอย่างไร?
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=5746&lang=TH


กำลังโหลดความคิดเห็น